ทรู ชี้แจงกรณีจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 9 เป็นกระบวนการกว้านซื้อซิมจากรายย่อย และเป็นซิมที่ยังไม่มีการลงทะเบียนเปิดใช้งาน

28 ธันวาคม 2567


ตามที่มีรายงานข่าวตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และ สน.ห้วยขวาง บุกจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภายในห้องพักของคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9  พบ Sim Box 286 เครื่อง – ซิมการ์ด 3 แสนชิ้น  เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 นั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอเรียนชี้แจงดังนี้

  • ซิมการ์ดที่ปรากฏเป็นข่าวมาจาก “กระบวนการกว้านซื้อ” จากร้านค้ารายย่อยจำนวนมาก ไม่ใช่การซื้อเหมาจากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว และซิมทั้งหมดยังไม่มีหลักฐานการเปิดใช้งานแต่อย่างใด  ขณะนี้ บริษัทฯ ได้ประสานกับตำรวจ  ส่งทีมเข้าตรวจสอบสแกนซิมทั้งหมดเพื่อทราบแหล่งที่มา อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าซิมส่วนใหญ่ในกรณีนี้เป็นซิมจากต่างประเทศและไม่ได้เชื่อมโยงกับการจัดจำหน่ายหลักของทรู คอร์ปอเรชั่น
  • ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคม กลุ่มบริษัทฯ ได้ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามและได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดรวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้เท่าทันมิจฉาชีพมาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ได้ยกระดับมาตรการการลงทะเบียนซิมและเลขหมายให้มีความเข้มงวด กลุ่มบริษัทฯ ได้ริเริ่มมาตรการที่ทันสมัย เช่น การใช้ AI และการปรับปรุงระบบลงทะเบียน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากมิจฉาชีพ และมีการยกเลิกคู่ค้าที่เข้าข่ายต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้วเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยกเลิกซิมและเลขหมายที่เข้าข่ายจะถูกมิจฉาชีพนำไปใช้งาน ทั้งซิมที่ร้านค้าแจกฟรี และซิมที่รายย่อยนำไปจำหน่ายราคาถูก เป็นต้น  พร้อมจัดตั้งทีมงาน Fraud โดยเฉพาะเพื่อดำเนินการตรวจสอบและควบคุมป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ
  • บริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้ข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินงานสืบสวน สอบสวน หรือกรณีได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ปัจจุบันมีกรณีมิจฉาชีพได้นำเทคโนโลยีการโทรผ่าน Simbox โดยรีโมทจากต่างประเทศ เป็นเบอร์โทรในไทย  เพื่อใช้ในการหลอกลวงนั้น  ทันทีที่ บริษัทฯ ตรวจสอบพบว่า มีการใช้งานเน็ตเวิร์กของเรา  ได้แจ้งเบาะแสให้กับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไปทันทีรวมแล้วหลายครั้ง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังได้พัฒนาบริการ “ทรูไซเบอร์เซฟ” (True CyberSafe) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในยุคดิจิทัล โดยช่วยแจ้งเตือนลิงก์แปลกปลอม (Web/URL Protection) ให้ลูกค้ามือถือ ทรู-ดีแทค และทรูออนไลน์ สามารถใช้งานบริการนี้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติมเพื่อความสะดวกและปลอดภัยสูงสุด


Related Content