วัดชีพจรตลาดแรงงาน 2567: การจ้างงาน ทักษะแห่งอนาคต สิทธิแรงงานในยุค AI ครองเมือง

30 เมษายน 2567


ปัจจุบัน โลกกำลังเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีล้ำสมัย โดย “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ถูกจับตามองว่าจะเป็นพระเอกในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ

 

องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มมีการประยุกต์ใช้พลังแห่ง AI ในมิติต่างๆ ซึ่งรวมถึงปัจจัยด้าน “บุคลากร” โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) ผลิตภาพ (Productivity) และคุณภาพ (Quality) ของงาน ขณะเดียวกัน การมาของ Generative AI ก็ได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ

 

เนื่องในโอกาสวันแรงงาน 2567 นี้ True Blog มีโอกาสพูดคุยกับ สุขวัฒน์ เพ็ญโภไคย Head of People Capability and Transformation และ อัญชลี จำนงค์ซื่อ Head of Learning & Growth ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ตลาดแรงงาน ทักษะแห่งอนาคต และสิทธิแรงงานในยุค AI

ผ่าตลาดแรงงานในยุค AI

สุขวัฒน์ เพ็ญโภไคย ฉายภาพคลื่นใต้น้ำในตลาดแรงงานที่กำลังเกิดขึ้นให้ฟังว่า AI ถือเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยมี “ดาต้า” เป็นฐานสำคัญ เพื่อช่วยมนุษย์ทำงานได้อย่างมี efficiency และ productivity ดังนั้น AI จึงเข้ามาส่งผลกระทบตลาดแรงงานในประเด็น “หน้าที่ความรับผิดชอบ” (Tasks) เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ (New Jobs) พร้อมกับส่งผลให้บางตำแหน่งงานล้าสมัย (Obsolete Jobs) ที่มาพร้อมกับความต้องการ “ทักษะ” ใหม่ๆ ขององค์กร เพื่อให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แข่งขันอย่างดุเดือด พร้อมที่จะถูกดิสรัปต์ได้ตลอดเวลา ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่า Job Reinvention

 

ปรากฏการณ์ Job Reinvention มีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงาน 3 ประการ ได้แก่

 

  1. Quality over Quantity เนื่องด้วย AI เข้ามาช่วยยกระดับขีดความสามารถการทำงานของพนักงาน ทำให้พนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น ความต้องการจำนวนพนักงานในองค์กรหนึ่งๆ จะ “ลดลง” ขณะเดียวกัน ทักษะพื้นฐาน ​(Basic Skills) ที่เป็นต้องการของตลาดแรงงานก็จะ “สูงขึ้น” โดยมีทักษะความรู้ความเข้าใจด้านดาต้าและเทคโนโลยี (Data and Technology Literacy) เพิ่มเติมเข้ามา

 

  1. Repetitive Tasks หน้าที่ความรับผิดชอบที่มีลักษณะเป็น “กิจวัตร” (Routine) ทำซ้ำไปมาในทุกๆ วัน โดยไม่สร้างคุณค่าเพิ่ม (Value Creation) จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีออโตเมชัน (Automation) ทำให้หน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานหนึ่งๆ มีทั้งเปลี่ยนรูปแบบและหายไป

 

  1. Multidisciplinary Roles กิจกรรมที่สร้างคุณค่า (Valued Activities) จะถูกให้ความสำคัญ และเป็นเป้าหมายขององค์กร ด้วยเหตุนี้ ตลาดแรงงานจึงต้องการคนที่ “รู้กว้าง” มากขึ้น เข้าใจทั้งการใช้ข้อมูลและประเด็นทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ตลาดก็ยังคงต้องการผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางอย่างมากในบางสายงาน โดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เช่น นักคณิตศาสตร์ประกันภัย ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งมีสัดส่วนราว 10-20% ขององค์กรโดยเฉลี่ย

 

“ทุกวันนี้ AI ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรต่างๆ เพื่อพิชิตเป้าหมายองค์กรสมรรถนะสูง ดาต้าเป็นพื้นฐานของทุกองค์กร คนในองค์กรจึงควรพูดภาษาดาต้าได้อย่างเข้าใจกัน รู้คอนเซ็ปต์ รู้วิธีการทำงาน ใช้งานได้ในระดับหนึ่ง เหมือนที่เมื่อก่อนทักษะคอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลายเช่นปัจจุบัน” สุขวัฒน์ กล่าว

ทักษะแห่งอนาคต

อัญชลี ให้ข้อสังเกตว่า จากภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดแรงงาน จะเห็นได้ว่า งานบางตำแหน่งหรือประเภทอาจหายไป แต่ “ทักษะ” จะยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ทักษะเป็นตัวกำหนดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน (Career Growth) โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มทักษะที่ตลาดแรงงานมีความต้องการในอีก 1-5 ปีข้างหน้า ดังนี้

 

  1. Digital Literacy and Technical Skills ความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะการใช้งานเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับ “ดาต้า” ตัวอย่างเช่น ความสามารถในการใช้ดาต้าในการตัดสินใจ (Data Acumen)

 

  1. Thinking and Cognitive Skills หรือทักษะการคิด เพื่อปิดช่องว่างทางศักยภาพที่ AI ยังไม่สามารถทำได้ เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงระบบ การคิดแบบมีโครงสร้าง การแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

 

  1. Power Skills พราะการทำงานต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจ ทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน ความเป็นผู้นำ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางความหลากหลายของบุคลากรในองค์กร ส่งเสริมการทำงานแบบ cross-functional

 

“Skills คือ Currency of Work ยิ่งรวยทักษะ ยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน” อัญชลี อธิบาย

 

ทั้งนี้ ทรูจึงได้กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของพนักงาน “ทุกคน” จะต้อง “ทักษะพื้นฐานทางดิจิทัลเบื้องต้น” ครอบคลุมตั้งแต่ Introduction to AI and Data, Digital Marketing, Customer Centricity และ Agile Way of Work เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนในองค์กรพูดภาษาเดียวกัน มีความรู้ความเข้าใจเชิงเทคนิคมากขึ้น

 

ในแง่การพัฒนาขีดความสามารถเฉพาะด้าน ทรูยังให้ความสำคัญกับการ Reskill/Upskill หลากหลายฟังก์ชันงานทั้งทีมหน้าบ้าน หลังบ้าน ผ่านการเรียนรู้บทเรียนที่บริษัทจะเตรียมให้สม่ำเสมอ เช่น Product Development, Project Management

 

นอกจากนี้ ทรูยังจัดเตรียมคอร์สพัฒนาทักษะแบบเข้มข้น 6 หลักสูตร เพื่อสร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ครอบคลุมทุกมิติของการทำ Digital Transformation ขององค์กร ประกอบด้วย Data Analytics, Agile Way of Work, Digital Marketing, Customer Centricity – UX/UI, Simplification และ Software Engineering

 

“เพราะเราต้องการขับเคลื่อนองค์กร เปลี่ยนผ่านสู่ Telco-Tech Company อย่างรวดเร็ว เราจึงต้องสร้าง Pool Resources ทั้ง 6 กลุ่ม เพื่อทำหน้าที่ ‘โค้ช’ คอยช่วยเหลือทีมงานหลังจากก่อตั้งโปรเจกต์แล้ว และนี่คือ Game Plan ของทรู” สุขวัฒน์ เผย

 

ที่ผ่านมา ปัญหาเชิงบริหารทรัพยากรบุคคลที่ทุกองค์กรเผชิญคือ Cultural Mismatch หรือความแตกต่างทางคุณค่า/วัฒนธรรมระหว่างแคนดิเดทและองค์กร ซึ่งปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งความเสียหายทางทุนทรัพย์และเวลาอย่างมาก นั่นทำให้ การเพิ่มขีดความสามารถผ่านการ Reskill/Upskill ของพนักงานภายในคือ วาระสำคัญอันดับต้นๆ ของทรู

สิทธิแรงงานในยุค AI

แม้การมาของ AI จะนำมาซึ่งประโยชน์มหาศาล โดย Goldman Sachs Research ประมาณการณ์ว่า AI จะกลายเป็นเครื่องจักรกลสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของโลกได้ถึง 7% ในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ในทางกลับกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ก็ได้ทำให้งานบางประเภทอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคง และอาจส่งผลกระทบต่อ “สิทธิแรงงาน” ในยุค AI

 

ทั้งนี้ สิทธิในการทำงานถือเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ (The Right to Work is a Fundamental Human Right) การปรับใช้ AI ในภาคธุรกิจทำให้เกิดข้อถกเถียงด้านการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงานเป็นวงกว้าง เช่น การเลิกจ้างงาน (Job Replacement) และการเลือกปฏิบัติจากตัวเทคโนโลยีเอง (Discrimination in AI systems) เป็นต้น

 

“AI ไม่สามารถทดแทนแรงงานคนได้ แต่ AI เป็นเครื่องมือเพิ่มผลิตภาพให้แก่มนุษย์เรา” สุขวัฒน์ ย้ำ

 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ทรู เราเปิดโอกาสให้พนักงานได้ Reskill/Upskill ผ่านแพลทฟอร์มคลังความรู้ออนไลน์ มีกระบวนการให้พวกเขาได้ยกระดับศักยภาพของตัวเอง พร้อมด้วยเส้นทางให้เติบโตอย่างโปร่งใส-ชัดเจน สะท้อนถึง “หน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กร” ต่อการพัฒนา-สร้างความก้าวหน้าด้านสิทธิแรงงาน

 

อัญชลี กล่าวเสริมว่า ทรูยังได้นำ AI เข้ามาอัพเกรดระบบ Career Goal and Preference เพื่อช่วยพนักงานวางเป้าหมายอาชีพ รวมถึงความถนัดของตัวเอง ทำให้เห็น “ช่องวาง” ทักษะของตนเองและความต้องการของตลาดผ่านการประเมินของตัวเอง ซึ่งระบบดังกล่าวจะให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกันนี้ ยังมีแผนนำ AI มาช่วยเสริมประสิทธิภาพของระบบ People Development โดยระบบช่วยพนักงานแนะนำเข้ามาหลักสูตรทั้ง Online และ Classroom ที่อยู่ใน Library ตาม Competency Gap ของแต่ละคน

 

“จากโครงการต่างๆ ที่ทรูเปิดโอกาสให้พนักงานพัฒนาตัวเองผ่าน Learning Program ต่างๆ บ่มเพาะทักษะแห่งอนาคต พร้อมกับ Career Mobility ที่เปิดโอกาสให้คนในก่อน ล้วนสะท้่อนถึงเจตจำนงค์ของทรูต่อความรับผิดชอบและส่งเสริมสิทธิแรงงานให้ก้าวหน้าในยุคแห่ง AI นี้” สุขวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

4 ทักษะต้องมี เพื่อการเติบโตในยุค AI

  1. Data Capabilities ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับดาต้าและการประยุกต์ใช้
  2. Life-Long Learning ทักษะแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
  3. Power Skills ทักษะการปฏิสัมพันธ์กับสังคม การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน เปิดรับความเห็น
  4. Growth Mindset ทัศนคติที่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง มุ่งมั่นพยายามพิชิตเป้าหมายโดยไม่ย่อท้อ

Related Content