รีวิวค่าย YSLC ซีซันที่ 5 ส่องเทคนิคแฮกกาธอนและ 3 ไอเดียผู้ชนะออกแบบบริการสาธารณะ #ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา

30 พฤษภาคม 2566


จาก รายงานในปี 2565 ของ Disrupting Harm in Thailand โดย UNICEF, ECPAT และ INTERPOL พบว่า ในช่วงโควิด มีเด็กไทยจำนวนกว่า 400,000 คนตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การส่งต่อรูปอนาจาร การแบล็กเมล และการใช้เด็กเพื่อกิจกรรมทางเพศโดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินสดหรือของขวัญ ซึ่งในจำนวนนี้ มีเด็กและเยาวชนผู้ตกเป็นเหยื่อเพียง 1-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ตัดสินใจเข้าแจ้งความกับตำรวจ

ด้วยตระหนักถึงภัยความเสี่ยงดังกล่าวต่อเด็กและเยาวชนในยคุดิจิทัล ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้ผนึก 5 พันธมิตรเปิดแคมป์ผู้นำเยาวชน Young Safe Internet Leader Hybrid Camp ปีที่ 5  ปีที่ 5 โดยในปีนี้ มีผู้เข้าสมัครจากทั่วประเทศทั้งสิ้นกว่า 150 ทีมที่มาร่วมประลองไอเดีย ชิงไหวชิงพริบ ภายใต้โจทย์การออกแบบ ‘บริการสาธารณะ’ แก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์เพื่อ #ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา True Blog จึงขอเชิญชวนผู้อ่านไปติดตามเบื้องหลังไอเดียของ 3 ทีมผู้ชนะจากค่าย YSLC ในปีนี้

บริการสาธารณะบนโลกแห่งความท้าทาย

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธุ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะวิทยากรหลักของค่าย อธิบายคำว่า ‘บริการสาธารณะ’ ว่า บริการที่รัฐจัดหาให้ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน การศึกษา การรักษาพยาบาล แต่ในภาพกว้าง บริการเพื่อสาธารณะหมายถึงกิจกรรม วิธีการ และกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในสังคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คน ตลอดจนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งในความหมายอย่างกว้างนั้น การออกแบบบริการสาธารณะจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ซึ่งมีวิธีคิดโครงการหลากหลายรูปแบบ เช่น  โครงการคลองเตยดีจัง กิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้กระบวนการด้านดนตรีและศิลปะในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการออกแบบวิชาเรียนตามความต้องการของคนในชุมชน Local Alike ออนไลน์แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงคนสองกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดคุณค่าร่วม ขณะที่แคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา จัดเป็นบริการสาธารณะที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ร่วมออกแบบข้อปฏิบัติหยุดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Jam Ideation

เปิดกระบวนการ ‘แฮก’

ทั้งนี้ การออกแบบบริการสาธารณะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ประเด็นปัญหา แนวคิดและวิธีแก้ปัญหา และกลไกการดำเนินการ ขณะเดียวกัน เพื่อให้กระบวนการคิดเป็นระบบและ ‘แฮก’ โจทย์ได้แม่นยำขึ้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

  1. Persona เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลพื้นฐาน ลักษณะนิสัย พฤติกรรม pain points และความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์ในการออกแบบและวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งผ่านการสืบค้นข้อมูลออนไลน์และสัมภาษณ์
  2. Journey map เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลที่ช่วยทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและรากของปัญหาของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงของเหตุการณ์ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ
  3. Solution ideas เป็น template สำหรับการนำเสนอไอเดียแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวโยงกับ Persona และ Journey map ผ่านกระบวนการ ideation ซึ่งมุ่งเน้นการคิดไอเดียในการแก้ปัญหาให้ออกมาได้เยอะมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วคัดเลือกตามความเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวข้องเป็นสำคัญ

ส่อง 3 ไอเดียปราบภัยทางเพศออนไลน์

สำหรับแฮกที่ 3 จะถูกคัดเลือกเหลือเพียง 15 ทีมสุดท้าย โดยทั้ง 15 ทีม จะได้รับคำแนะนำจากเหล่าเมนทอร์ ระดมความเห็นและเหลาคมความคิดกับสมาชิกในทีมเป็นเวลาทั้งสิ้น 2 วัน 1 คืน โดยได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่จากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJแห่งใหม่ บนถนนแจ้งวัฒนะ

สำหรับผล Hackathon ออกแบบบริการสาธารณะ YSLC ซีซันที่ 5 ผู้ชนะ ได้แก่ ทีม Thymee (ไทมี่) น้องๆ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ประกอบด้วยธนรัฐ เข็มทอง, ณัชชา เงาประเสริฐวงศ์, ณฐภัทร สมุทรผ่อง และสุภิชญาณ์ ปรีสงค์

โดยผู้เข้าแข่งขัน ‘แฮก’ มาจาก pain point ของงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อเลือกที่จะไม่บอกประสบการณ์การล่วงละเมิดกับผู้อื่น ขาดคนเป็นที่ปรึกษา ทำให้แม้จะเป็นประสบการณ์ในวัยเด็ก แต่ก็ทำให้เกิดความทรงจำฝังใจ นอกจากนี้ 80% ของเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ในวัยเด็ก พบว่าประสบปัญหาพยายามในการฆ่าตัวตาย มีปัญหาทางจิต และกลายเป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศเสียเองเมื่อโตขึ้น ทำให้ปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนโลกออนไลน์กลายเป็นวงจรที่ไม่จบไม่สิ้น

พวกเขาจึงได้ออกแบบ Thymee (ไทมี่) เป็นคอมมูนิตี้สำหรับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความรู้และคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหา รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและการเยียวยา และสร้างคอมมูนิตี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ คอมมูนิตี้จะมีการแบ่งบทบาทผู้ใช้งานออกเป็น ‘ลูกไก่’ และ ‘แม่ไก่’  โดยลูกไก่คือผู้ใช้งานที่คิดหรือรู้ว่าตนเองกำลังตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ และต้องการคำปรึกษา การเยียวยาทางจิตใจ ส่วนแม่ไก่คือผู้ใช้งานที่สนใจและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา หรืออยากช่วยให้กำลังใจผู้ที่พบเจอปัญหา ซึ่งในระดับแม่ไก่นี้จะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 2 ระดับ คือระดับ ‘แม่ไก่ student’ และ ‘แม่ไก่ expert’ โดยลูกไก่ที่ได้รับการเยียวยาจะเติบโตขึ้นเป็นแม่ไก่ student ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้เพิ่มเติมและผ่านการสัมภาษณ์ ก็จะสามารถเติบโตไปเป็นแม่ไก่ Expert ที่ให้คำปรึกษาและเยียวยาลูกไก่ตัวต่อไปได้

ตัวคอมมูนิตี้ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์สำคัญ ได้แก่

  1. Note to Tell คอมมูนิตี้ที่เปิดให้ผู้ใช้งานได้มีปฏิสัมพันธ์กัน แบ่งออกเป็น หมวดคำถามคำตอบ ให้กำลังใจ แบ่งปันประสบการณ์ และให้คำแนะนำ ซึ่งจะมี AI อยู่หลังบ้าน สามารถแนะนำหมวดการใช้งานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งาน
  2. Private consult ผู้ใช้งานจะสามารถเข้ามาปรึกษากับแม่ไก่ Expert ได้โดยตรง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแบบส่วนตัวได้
  3. Group session เป็นฟีเจอร์เพื่อพัฒนาคอมมูนิตี้ เปรียบเสมือนคลับที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาคุยกันได้เป็นกลุ่มเพื่อปรึกษาปัญหา แบ่งปันประสบการณ์ และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และฟีเจอร์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นทีเด็ดเพื่อทำให้เหยื่อไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และช่วยให้พวกเขาก้าวผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายไปได้อย่างมั่นคง

เพิ่มแม่ไก่ ลดลูกไก่ คือผลลัพธ์ที่คาดหวัง เราเชื่อว่าปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจะลดลงไปได้เมื่อมีการเพิ่มจำนวนผู้ให้คำปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ และการทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่พูดกันได้อย่างทั่วไปในสังคม – สุภิชญาณ์กล่าว

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของทีม ‘Amethyst’ จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ประกอบด้วย ดลรวี อังศุชวลิต, ธนกฤต บุญญาวรกุล, ปวริศา ทองเจือ, กฤติน อัมลึก และภัทรกร สตานิคม ‘แฮก’ ว่า ปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์ เกิดจากความไม่รู้ของทั้งเหยื่อและผู้กระทำความผิด ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้เพื่อลดจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้กระทำความผิดจึงมีความสำคัญ พวกเขาจึงได้ออกไอเดีย Social Network Personality Test (SNPT) บริการสาธารณะที่คอยปกป้อง ช่วยเหลือสังคมผ่านการเผยแพร่ความตระหนักรู้ต่อปัญหาแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ SNPT จะช่วยประเมินบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยการใช้อินเทอร์เน็ต และสร้างประสบการณ์จากการทบทวนตัวเองจากการทำแบบประเมิน นอกจากนี้ ยังประเมินความเสี่ยงในการเกิดและก่ออาชญากรรม พร้อมให้ความรู้และข้อแนะนำผ่านการสอดแทรกความรู้ ทั้งยังเป็นช่องทางให้ความช่วยเหลือที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องผ่านปุ่ม ‘Help’ อีกด้วย

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ตกเป็นของทีม Safe Zone จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ได้แก่ สิรีธร ปิ่นทอง, รุจีรัตน์ ศรีสวัสดิ์, นวินวรรษ นวลเนตร, ชนารัตน์ อื้อเฮง และวิริทธิ์พล ยอดศรีเมือง โดยพวกเขา ‘แฮก’ ว่า pain point สำคัญคือ การเข้าถึงหน่วยงานรัฐและการให้คำปรึกษา โดย Safe Zone เป็นไอเดียเพื่อพัฒนาเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงหน่วยงานที่รับผิดชอบกับผู้เสียหาย ซึ่งตัวเว็บไซต์มีความเป็นมิตร บริการครบครันในเว็บเดียว ได้ประโยชน์ทั้งผู้ให้คำปรึกษาและผู้ช่วยเหลือ

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่ายผู้นำเยาวชน YSLC ซีซัน 5 ติดตามบรรยากาศค่ายเพิ่มเติมได้ ที่นี่