ทรูพลิกโฉมประเทศด้วยการศึกษา รับมือความท้าทายในยุคดิจิทัล

14 พฤศจิกายน 2566


ด้วยความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าได้ หัวใจสำคัญคือการพัฒนาคน วันนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าคุณค่าของความเชื่อมั่นนั้นเดินหน้าก้าวข้ามทุกขีดจำกัด บ่มเพาะ และปลูกเมล็ดพันธุ์ทางการศึกษาไปในทุกพื้นที่ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่การศึกษาไทยมาตลอด 16 ปี

ชีวิตที่ยังคงเหลื่อมล้ำ

สองข้างทางรายล้อมด้วยทุ่งข้าว ไร่นา สลับกับอาคารสีเทาขนาดมหึมา ขณะที่พาหนะบนถนนคราคร่ำไปด้วยรถบรรทุก 18 ล้อ แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานจากขอบเมืองเชียงใหม่ เราเริ่มเห็นความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์ เจดีย์พุทธศิลป์แบบล้านนาเฉิดฉายตั้งตระหง่านตระการตา รอบข้างเต็มไปด้วยผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กน้อยที่พิงกายอยู่ข้างต้นลำไย

 

ที่นี่ คือ บ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

 

ลำพูน ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีสัดส่วนนักเรียนด้อยโอกาสต่อนักเรียนทั้งหมด อยู่ในอันดับที่ 59 อัตราพึ่งพิงอยู่ที่อันดับ 68 ของประเทศ และอัตราการจดทะเบียนหย่าอยู่ที่อันดับ 65 ของประเทศ ขณะที่ตัวชี้วัดอัตราเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวอยู่ที่อันดับ 65 ของประเทศ ซึ่งในแผนพัฒนาจังหวัดลำพูนระบุด้วยว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นทางสังคมที่มีความละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกับปัญหาอื่น ๆ

 

สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ จิราภรณ์ จันทร์ดี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองเงือก จ.ลำพูน โดยเธออธิบายถึงสภาพความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนบางส่วนว่า “ตอนที่ไปเยี่ยมบ้านนักเรียน เด็กบางคนยังอาศัยอยู่ใต้เพิงไว้บังแดดบังฝนเท่านั้น ไม่มีกำแพง ไม่รั้วรอบขอบชิด บางบ้านก็ไม่ได้สุขอนามัย”

 

แม้ลำพูนจะเป็นจังหวัดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 82,588 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประชาชาติต่อหัว 209,668 บาท ต่อคน ต่อปี สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือและอันดับที่ 16 ของประเทศ แต่ในปี 2565 ลำพูนมีประชาชนขึ้นทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งหมายถึงผู้มีรายได้น้อยหรือคนจนยากลำบากตามนิยามของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) จำนวนมากถึง 104,761 ราย คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งจังหวัด

“เด็กที่โรงเรียนมีพื้นเพที่หลากหลาย บ้างมีพื้นฐานครอบครัวดี แต่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ บ้างพ่อแม่ทิ้งให้อยู่กับปู่ย่า เพื่อไปหางานต่างถิ่น บ้างพ่อแม่แยกทางกัน บ้างพ่อแม่หนีไปมีครอบครัวใหม่ และหลายครั้งที่เด็กถูกทำร้ายร่างกายมาจากที่บ้าน บางคนไม่ได้รับประทานข้าวเช้ามา เพราะไม่มีจะกินจริงๆ” จิราภรณ์กล่าวเพิ่มเติม ตอกย้ำปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ

 

หนึ่งในพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นว่าตลอดกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจสังคม และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้อัตราความยากจนนั้นลดลงจาก 58% ของจำนวนประชากร ในปี 2533 มาอยู่ที่ 6.8% ในปี 2563 อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยจากรายงานของธนาคารโลกพบว่า กว่า 79% ของประชากรไทยในกลุ่ม ‘ยากจน’ นั้นอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เพราะการศึกษาไทยไม่เท่าเทียม

นอกจากปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้ว ประเทศไทยยังประสบกับความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย หรือปัญหาด้านการศึกษาและศักยภาพบุคลากรในตลาดแรงงาน ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยท่ามกลางการแข่งขันในยุคดิจิทัล

 

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย คุณภาพการศึกษาถือเป็นจุดอ่อนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ จากรายงานของธนาคารโลกชี้ว่านักเรียนไทยใช้เวลาในระบบการศึกษาเฉลี่ยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้ระบบการศึกษาของประเทศไทยแซงหน้านานาประเทศในแง่ ‘ปริมาณ’ แต่ตามหลังในแง่ ‘คุณภาพ’ การศึกษา สะท้อนจากการสอบวัดผลระดับประเทศ และผลสอบโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ในปี 2561 ซึ่งวัดผลนักเรียนกว่า 600,000 คนจาก 79 ประเทศ ในการสอบดังกล่าว ประเทศไทยได้อันดับที่ 56 ในด้านคณิตศาสตร์ อันดับที่ 66 ในด้านการอ่าน และอันดับที่ 52 ในด้านวิทยาศาสตร์

รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า การศึกษาก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลายด้าน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและสังคม การศึกษาช่วยเพิ่มผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญ การศึกษายังช่วยพัฒนา ‘คน’ ซึ่งเป็นหัวใจของนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืน และช่วยให้ประเทศสามารถรับมือกับสารพัดความท้าทายในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้การยกระดับการศึกษาไทย เพื่อลดช่องว่างระหว่าง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ กลายเป็นวาระเร่งด่วน

 

เกษม ใจกระเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเงือก จ.ลำพูน ฉายภาพผลกระทบความเหลื่อมล้ำต่อระบบการศึกษาว่า เมื่อ 16 ปีก่อนที่เขามารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนในเวลานั้น พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีฐานะดีในระดับหนึ่งมักส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในตัวอำเภอ อันเป็นค่านิยมหนึ่งของสังคม ทำให้จำนวนเด็กนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองเงือกลดน้อยลงจาก 200 คนเหลือเพียง 120 คน จนเกือบถูกลดระดับจาก ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ (โรงเรียนที่เปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น) สู่ ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ส่งผลต่องบประมาณและต้นทุนในการจัดการเรียนการสอนที่สูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ซ้ำเติมสถานการณ์คุณภาพการศึกษา

“ทรูปลูกปัญญา” จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

ทรู ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีนั้นตระหนักถึงปัญหาของประเทศ จึงได้ริเริ่มโครงการ ‘ทรูปลูกปัญญา’ ในปี 2550 ด้วยแนวคิด ‘ปลูกความรู้ ปลูกความดี ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม’ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งมอบองค์ความรู้ที่ได้มาตรฐานจากทั้งในและต่างประเทศให้เข้าถึงเด็กที่ขาดโอกาส โดยใช้ศักยภาพของทรู ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นแรงขับเคลื่อน โดยระยะแรก เป็นการส่งมอบองค์ความรู้ระดับโลกผ่าน ‘ตู้แดง’ ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการขยายโอกาสให้เข้าถึงความรู้ผ่านบริการทรูวิชั่นส์แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารกว่า 6,000 แห่ง

ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าไปได้ต้องเริ่มที่การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์นั้นพื้นฐานที่สำคัญก็คือการศึกษา ซึ่งนี่คือฐานคิดของโครงการทรูปลูกปัญญา” ดร. เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าว

เส้นทาง ‘ปลูกปัญญา’ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในปีถัดมาด้วยการ “ปลูกความรู้” ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพิ่มขีดความสามารถดึงศักยภาพด้านแพลตฟอร์ม จนเกิดเป็นแอปพลิเคชัน TruePlookpunya และเว็บไซต์ ‘www.trueplookpanya.com’ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจนติดอันดับเว็บไซต์อันดับ 1 ด้านการศึกษาถึง 5 ปีซ้อน  และไม่เพียงออนไลน์เท่านั้น ภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังส่งตรงในรูปแบบ ‘On-Air’ ผ่านโทรทัศน์ช่องทรูปลูกปัญญา และในรูปแบบกิจกรรม ‘On-Ground’ ส่งตรงถึงโรงเรียนในทุกพื้นที่ทั่วไทย

เทคโนโลยีอะไรก็ตามที่ทำให้องค์ความรู้เข้าถึงเด็ก ๆ เราขอเป็นผู้บุกเบิก (first mover) เพื่อให้เด็กไทยทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาและเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพทุกที่ทุกเวลา” ดร. เนตรชนก เผยถึงกลยุทธ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม

ไม่เพียงแค่นั้น ทรูปลูกปัญญา ยังได้จับมือกับทีมนักวิชาการ-นักการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาคอนเทนต์วิชาการ การศึกษาและองค์ความรู้ ทั้งตามหลักสูตรพื้นฐานของไทยและความรู้นอกหลักสูตร ทั้งหมดถูกรวบรวมไว้บน www.trueplookpanya.com ในรูปแบบของคลังความรู้และคลังข้อสอบ ครอบคลุม 8 กลุ่มสาระวิชาทุกระดับชั้น ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา, คลิปติวที่สอนโดยติวเตอร์ชั้นนำของไทย, แผนการสอนสำหรับครู, คู่มือผู้ปกครอง, ระบบพัฒนาตนเอง เช่น Upskill, Plook Explorer เป็นต้น จนกลายเป็นแหล่งคลังความรู้และคลังข้อสอบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนไทยทุกช่วงวัย ได้เข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

“คอนเทนต์คือหัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษา คอนเทนต์ของทรูปลูกปัญญาจึงมุ่งเน้นความสนุกและการฝึกกระบวนการคิด โดยมีการบูรณาการเรื่องจริยธรรมเข้าไปด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่ต้องการสร้างบุคลากรที่ดี มีความสามารถ” ดร. เนตรชนก กล่าว

 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของโครงการทรูปลูกปัญญาในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อ ‘สร้างมาตรฐาน’ (standardize) ให้กับการศึกษาไทย ช่วยให้นักเรียนทั่วประเทศ แม้กระทั่งในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงคอนเทนต์การศึกษาที่มีคุณภาพ สอนโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเนื้อหามีความสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

จุดเปลี่ยนอนาคตการศึกษาไทย

ดร.เนตรชนก กล่าวอีกว่า ด้วยแนวโน้มเทคโนโลยีทางการศึกษาที่กำลังเคลื่อนไปสู่ดิจิทัล นอกจากแพลตฟอร์มจะเป็นเรื่องที่สำคัญแล้ว ‘เครื่องมือ (tools)’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจากรายงานสำรวจอุปกรณ์การเรียนการสอนของนักเรียน โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) ในสังกัด สพฐ. พบว่า เด็กไทยราว 1.4 ล้านคน[1]  ยังไม่มีอุปกรณ์เทคโนโลยีใช้ในโรงเรียน ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีการศึกษาดังกล่าว จึงนับเป็นเรื่องที่ท้าทายค่อนข้างมาก

 

ในปี 2559 ภาครัฐได้ริเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ อันเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม (Public-Private Partnership – PPP) ในการนี้ ทรู รับหน้าที่ในการขับเคลื่อนด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจับมือกับองค์กรเอกชนยักษ์ใหญ่อีก 12 แห่ง นำศักยภาพของเอกชนมาร่วมยกระดับการศึกษาและพัฒนาผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (School Partner) ซึ่งเป็นพนักงานจิตอาสาขององค์กรเอกชนมาลงพื้นที่ร่วมมือจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนอย่างยั่งยืนร่วมกับโรงเรียนและชุมชน

 

ต่อมาในปี 2563 ได้ปรับเปลี่ยนการบริหารงานสู่รูปแบบมูลนิธิ ภายใต้ชื่อมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) ซึ่งการปรับรูปแบบการบริหารนี้ ช่วยปลดล็อกความท้าทายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย โดย ทรู และภาคีเครือข่ายองค์กรเอกชนได้ร่วมมือกันพัฒนา ‘พิมพ์เขียวการศึกษา’ ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในระดับประเทศ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

 

  1. การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะ (Transparency) สถานศึกษาจำเป็นต้องมีระบบฐานข้อมูลและการบริหารจัดการสถานศึกษา (School Management System) เพื่อเป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนพัฒนาโรงเรียนได้ตรงจุดและโปร่งใส ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ข้อมูลพื้นฐานโรงเรียน, ตัวชี้วัดโรงเรียน, ระดับคุณภาพโรงเรียน, การนำเสนอแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียน และการแสดงผลการเมินคุณภาพโรงเรียนในรูปแบบ report card
  2. กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms) เพื่อให้เด็กสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ร่วมกับบริบทท้องถิ่น และเพิ่มโอกาสให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมในการพัฒนาการศึกษา
  3. การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals and Teachers) เพื่อเพิ่มพูนทักษะการบริหารและการสอนที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21
  4. เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric and Curriculum) เพื่อให้เด็กรู้จักการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ อภิปรายด้วยเหตุผล และสามารถปรับปรุงและพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของเด็กที่มีคุณภาพ
  5. การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี สื่อ และองค์ความรู้คุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองและเด็กชนบท

 

เชื่อมโยงพลังชุมชน เพิ่มคุณภาพชีวิต

ในปี 2560 โรงเรียนบ้านหนองเงือก ได้จับมือกับเทศบาลบ้านหนองเงือกและกำหนดเป้าหมายให้ “ทุกคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” โดยใช้โมเดล ‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน’ (Learning Center) เป็นแกนกลางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามแนวคิดการพัฒนาที่ ทรู ผลักดันร่วมกับมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสังคม และการสร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanism) เชื่อมโยงให้โรงเรียน ชุมชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาโรงเรียนและชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

 

ดังนั้น การสร้างให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการศึกษาในท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้นั้น คุณภาพการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญ

 

“การพัฒนาโรงเรียนต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขอย่างเป็นเอกเทศได้” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองเงือกกล่าว ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีการฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนเด็กนักเรียนบ้านหนองเงือกนั้น จะต้องบูรณาการการแก้ไขปัญหาในโรงเรียนและชุมชนไปพร้อม ๆ กัน โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการแก้ไข และเริ่มต้นจากการยกระดับหลักสูตรการศึกษา เมื่อคุณภาพการศึกษาดี ผู้ปกครองจึงจะทยอยนำเด็กกลับมาเรียนยังโรงเรียนในพื้นที่

 

ในกรณีของบ้านหนองเงือก ได้มีการนำเอา 5 กระบวนการการเรียนรู้โดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง (Child Centric Learning) มาเป็นแกนกลางในการฝึกกระบวนการคิด ได้แก่ การตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำ อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงและพัฒนา โดยอาศัยกรอบคิดที่เรียกว่า 3 วงกลมสู่ความยั่งยืน ได้แก่

 

  1. ด้านสังคม นำเอาความรักในถิ่นกำเนิดมาสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมและการมีหลักธรรมาภิบาล
  2. ด้านเศรษฐกิจ พัฒนาความเป็นผู้นำและการมีศักยภาพ สามารถประกอบการได้ภายในชุมชน สร้างความมั่นคง
  3. ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างแรงบันดาลใจและความฝันผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์

 

จากกรอบแนวคิดกลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม รวมถึงนโยบายเด็กและเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทำให้เกิดการจัดการเรียนรู้และการวัดผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างในแต่ละช่วงชั้น

 

ระดับปฐมวัย – เด็กรู้จักฝ้าย การใช้กล้ามเนื้อ และการสร้างภาพปะติดจากฝ้าย

ระดับประถมศึกษาตอนต้น – ศึกษาชีวิตฝ้าย รู้จักอาชีพและประเภทของวัสดุและอุปกรณ์ในชุมชน

ระดับประถมศึกษาตอนปลาย – เด็กรู้จักการย้อมฝ้ายจากสีธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น – เด็กรู้จักการทอผ้า ออกแบบลายปักผ้า รวมทั้งการออกแบบลายย้อม

 

โดยผลสัมฤทธิ์ที่ได้ พบว่า นักเรียนเกิดความสนุก รักการเรียนรู้ พร้อมค้นหาคำตอบจากโลกกว้างด้วยตัวเอง ทั้งยังพัฒนาทักษะทางสังคมอื่นๆ (soft skills) ที่นอกเหนือจากความรู้ในห้องเรียน เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการถ่ายทอดความคิด ขณะที่ชุมชนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพ เช่น ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทุกวันนี้ โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย นักเรียนได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ฝึกการคิดวิเคราะห์และกล้าแสดงออกมากขึ้น การที่โรงเรียนเพิ่มหลักสูตรการทอผ้าฝ้ายเข้ามาทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสินค้าในชุมชน ได้เรียนรู้ทุกกระบวนการทอผ้าจากผู้รู้ในชุมชนและยังได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเพิมมูลค่า ด้วยการนำความรู้ทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อีกด้วย

ด.ญ.ฐิตาภัสร์ ชุมภูชนะภัย นักเรียนโรงเรียนบ้านหนองเงือก กล่าว

จิราภรณ์ จันทร์ดี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านหนองเงือก กล่าวเสริมว่า นอกจากโมเดลศูนย์การเรียนรู้ ทางโรงเรียนยังได้นำหลักสูตรของทรูปลูกปัญญาเข้ามาเสริมกับหลักสูตรแกนกลาง อย่างไรก็ดี เธอยอมรับว่าในช่วงแรกมีความท้าทายค่อนข้างมาก

 

“เดิมทีบุคลากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ซึ่งอาจมีความกังวลและไม่คุ้นชินกับการใช้งานเทคโนโลยี และบางส่วนอาจมีมุมมองว่าอะไรที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนในหลักสูตรแกนกลางนั้นถือว่าไปเพิ่มภาระงานให้พวกเขา” จิราภรณ์เผย

เปลี่ยนผ่านการศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล

ทรู และมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ร่วมมือกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาผ่านโครงการคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา (Notebook for Education) ซึ่งเป็นการระดมทุนให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยีทั่วประเทศ นำไปจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและส่งเสริมกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ นำไปสู่การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน 

 

อย่างไรก็ตาม ‘การเข้าถึง’ นั้นต้องมาควบคู่กับ ‘ทักษะ’ ในการใช้งานเครื่องมือเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงได้ริเริ่มโครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ‘ICT Talent’ ซึ่งเปรียบเสมือนครูผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีทำหน้าที่ให้คำแนะนำครูและนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของคอนเน็กซ์อีดีกว่า 5,600 แห่งทั่วประเทศ

 

“จะเห็นได้ว่า การยกระดับการศึกษาในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ มีงานให้แก้ไขและปลดล็อกอยู่ตลอด และที่สำคัญยังต้องเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง” ดร. เนตรชนก อธิบาย

 

เช่นเดียวกับประเด็นด้านการใช้อุปกรณ์ (digital adoption) ซึ่ง กุลวัชร เรือนโขง ICT Talent ประจำโรงเรียนบ้านหนองเงือก จ.ลำพูน กล่าวถึงความท้าทายของการแปลงกลยุทธ์สู่ภาคปฏิบัติว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่เธอลงสนามปฏิบัติงานที่โรงเรียนบ้านหนองเงือก พบว่าการเปลี่ยนผ่านการศึกษาสู่ดิจิทัลเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะครูซึ่งอยู่ในวัยใกล้เกษียณบางส่วนมีความกังวลต่อการเปิดรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษ

 

ทั้งนี้ เหล่า ICT Talent มีหน้าที่ 3 อย่าง ได้แก่ 1. ประสาน ข้อมูลของมูลนิธิกับบุคลากรของโรงเรียน 2. ซ่อมแซม อุปกรณ์ทางการศึกษาที่ CONNEXT ED จัดหาให้ในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทางด้านการเรียนการสอน และ 3. เสริมสร้าง เพิ่มพูนทักษะ จัดอบรม เพิ่มศักยภาพให้ครูและนักเรียน โดย ICT Talent กว่า 200 คนทั่วประเทศ จะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความรู้และเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้นำและพัฒนาทักษะไอซีทีด้านต่าง ๆ จากส่วนกลาง เช่น AI, Coding, Network System, Communication, Management เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะมีการจัดเป็นประจำทุกไตรมาส

ในมุมมอง (กึ่ง) คนนอก ผู้ทำหน้าที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนบ้านหนองเงือกมากว่า 8 ปี ให้ความเห็นว่า กว่าจะเป็นวันนี้ที่โรงเรียนมีความเข้มแข็ง จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการแก้ปัญหาแบบองค์รวม ผ่านความร่วมมือร่วมใจระหว่าง 3 ภาคีสำคัญ ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนในฐานะผู้นำ บุคลากรครูในฐานะผู้นำนโยบายไปปรับใช้ และคณะกรรมการสถานศึกษาในฐานะผู้ผลักดัน-สนับสนุน

 

จากผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าในโรงเรียนที่มี ICT Talent ดูแลนั้น นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี (ICT Literacy) สูงขึ้น ครูใช้เทคโนโลยีช่วยในการสอนมากขึ้นถึง 76% และครูมีความมั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการสอนถึง 88%

โรงเรียนดีมีคุณภาพ นักเรียนดีมีความสามารถ

นับจากวันแรกของทรูปลูกปัญญา จนถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 16 ปีที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคี ในการปิดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองและเด็กต่างจังหวัด ผ่านการใช้ศักยภาพของทรูด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร

 

ดร. เนตรชนก กล่าวว่า ทรูปลูกปัญญาสามารถทำให้นักเรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ของประเทศไทยเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการเรียนรู้ได้แล้ว 5.9 ล้านคน (จำนวนเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ปี 2550-2565) และจากประสบการณ์ 16 ปีเต็มกับภารกิจปลูกปัญญาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้โรงเรียนทั่วประเทศเข้าถึงสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้รวมแล้วกว่า 11,000 แห่ง

“ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาของทรูปลูกปัญญา เราได้พิชิตเป้าหมาย 3 ข้อ ซึ่งถือเป็นชัยชนะของทรูปลูกปัญญา หนึ่ง ผู้เรียนมีศักยภาพสูงขึ้น สอง โรงเรียนอยู่ได้ ผู้ปกครองเชื่อถือ และสาม องค์กรอยู่ได้” ดร. เนตรชนกกล่าว

เกษม มองย้อนเส้นทาง 16 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่า “จากความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่น วันนี้สัมฤทธิ์ผลแล้ว จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและรักษาสถานะโรงเรียนขยายโอกาสไว้ได้ ซึ่งผมขอยืนยันว่า โรงเรียนที่ดีที่สุดควรเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน เพื่อให้เด็กมีเวลาไปทำกิจกรรม เรียนรู้นอกห้องเรียน”

 

จิราภรณ์ กล่าวเสริมว่า จากการนำแนวทาง Child Centric Learning มาใช้กับเด็กนักเรียน เธอพบการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เด็กมีแนวโน้มต่อการมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จากเดิมที่ค่อนข้างเป็นการสื่อสารทางเดียว มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม และนำทักษะเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับวิชาอื่น

 

“บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่นิ่งเงียบ ปัจจุบันมีการโต้ตอบ สนุกสนาน เช่นเดียวกับครูต้องเปลี่ยนวิธีคิดวางแผนการสอน เปลี่ยนแนวทางการตั้งคำถามจากปลายปิดเป็นปลายเปิด เปลี่ยนการตั้งคำถามโดยยึดจากเนื้อหาในหนังสือมาเป็นการยึดโยงกับบริบทของท้องถิ่น ซึ่งนี่คือพื้นฐานของการศึกษาที่มุ่งเน้นให้เด็กคิดเป็น” จิราภรณ์เปิดใจ

ท่ามกลางการพลวัตของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดร. เนตรชนกทิ้งท้ายเรื่องมุมมองการยกระดับการศึกษาไทยว่า

 

“การศึกษาไทยจะมีคุณภาพและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงบริบทโลกได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันและขับเคลื่อน แปลงหนังสือเรียนให้มาโลดแล่นในยุคดิจิทัล ทำให้ตัวหนังสือมีชีวิต ที่สำคัญ เมื่อองค์ความรู้เปลี่ยนเร็ว เนื้อหาก็จำต้องเปลี่ยนตามให้ทัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเนื้อหาจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหน การส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น สามารถประยุกต์องค์ความรู้มาปรับใช้จริงในชีวิตจริงที่บริบทโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นแก่นสำคัญของการศึกษาที่แท้จริง และนี่คือโจทย์ของการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21”

 

 

[1] รายงานผลสำรวจอุปกรณ์การเรียนการสอนของนักเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)