- เชื่อมต่อรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่หนุนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ. น่าน
- ร่วมมือยกระดับการแพทย์ไทยเติมช่องว่างคุณภาพชีวิตลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
น่าน, 10 มกราคม 2568 – 5G เชื่อมต่อวินาทีของชีวิตในยุคที่โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของคนไทย “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย ได้นำศักยภาพของเครือข่าย 5G มาพลิกโฉมวงการสาธารณสุขไทย ผ่านโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลด้วยแนวทาง “สาธารณสุขอัจฉริยะ” โดยร่วมกับโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. พร้อมนำร่องแล้วที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน
จากรายงานสถิติสาธารณสุขล่าสุดของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขในปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 349,126 ราย และมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 10 และทุพพลภาพถึงร้อยละ 60 โดยที่น่าวิตกคือผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี ทั้งนี้ โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายของคนไทยอันดับ 2 รองจากมะเร็ง
นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เครือข่าย 5G ของทรู คอร์ปอเรชั่นมีจุดเด่นทั้งด้านความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ความเสถียร และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจการเชื่อมต่อดิจิทัลที่สำคัญสู่ ‘Mobile Stroke Unit’ ให้สามารถดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้เสมือนอยู่ในการรักษาของแพทย์อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการส่งภาพสแกนสมองจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่มีไฟล์ขนาดใหญ่ และสัญญาณชีพของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ด้วยความละเอียดสูง ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างแม่นยำและทันเวลา พลิกวิกฤตนาทีชีวิต ก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตและทุพพลภาพของคนไทย”
ความสำคัญของ 5G การเชื่อมต่อความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ (Low Latency) สู่ “Mobile Stroke Unit”
- การสื่อสารดิจิทัลคุณภาพและความเร็วสูง: อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงช่วยให้การสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยผ่านวิดีโอคอลมีความคมชัดและไม่สะดุด ทำให้การวินิจฉัยและการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพแม่นยำโดยเฉพาะเวลาที่ทุกวินาทีมีความหมายต่อชีวิต
- การรับ–ส่งดาต้า: การส่งและรับข้อมูลทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่าย เอกซเรย์ หรือผลตรวจต่าง ๆ ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูง เพื่อให้ข้อมูลถูกส่งอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
- การขยายบริการสาธารณสุข: อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทำให้บริการทางการแพทย์ ยกระดับสู่ “สาธารณสุขอัจฉริยะ” สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลหรือชนบท ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
โครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ มีแผนที่จะนำรถ Mobile Stroke Unit จำนวน 21 คัน กระจายสู่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ 6 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 2 แห่ง ซึ่งเริ่มที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน เป็นแห่งแรก
รถ Mobile Stroke Unit นี้ได้รับการออกแบบให้เป็นเสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่ โดยจะไปหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว จากการที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยหรือญาติที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญต่อชีวิตในภาวะวิกฤตจากโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้
- รถพยาบาลเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ทำหน้าที่เสมือนโรงพยาบาลเคลื่อนที่สู่ชุมชน ช่วยลดระยะเวลารักษาและอัตราการเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ
- เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) ให้ภาพสแกนสมองภายในไม่กี่วินาที ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้รวดเร็ว ทั้งกรณีหลอดเลือดอุดตันและเลือดออกในสมอง
- ติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย ทั้งเครื่องฉีดสารทึบรังสี เครื่องตรวจเลือด พร้อมระบบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทางไกล (Teleconsultation) และสามารถให้ยาสลายลิ่มเลือดได้ทันที
- ระบบกล้องบันทึกภาพและสนทนากับผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ ช่วยให้ทีมแพทย์วางแผนการรักษาล่วงหน้าก่อนถึงโรงพยาบาล
นายประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยี 5G ที่มีความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ และความเสถียร ช่วยให้การส่งข้อมูลทางการแพทย์ขนาดใหญ่ ทั้งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย สามารถทำได้แบบเรียลไทม์อย่างแม่นยำและรวดเร็ว แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างไกลหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตร ช่วยให้การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาทำได้ทันที นับเป็นการยกระดับการเข้าถึงการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง”
ทั้งนี้ องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) เผยว่าประชากรทั่วโลก 1 ใน 4 คนเคยประสบกับโรคหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการดูแลสุขภาพและการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคร้ายนี้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสังเกตอาการ “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วยตนเอง ตามหลัก B.E.F.A.S.T. เบื้องต้น ได้แก่
- Balance: เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
- Eye: ตามัว มองเห็นภาพซ้อนฉับพลัน
- Face: ปากเบี้ยว หน้าเบี้ยวเฉียบพลัน
- Arm: แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
- Speech: พูดไม่ชัด เสียงเปลี่ยน ลิ้นแข็ง พูดไม่รู้เรื่อง
- Time: ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke จะต้องให้ยาสลายลิ่มเลือดภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งทุกๆ 1 นาทีที่เสียไปนั้น สมองและเซลล์ประสาทจะตาย 1.9 ล้านตัว หากพบแพทย์ล่าช้า อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจจะเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กลายเป็นบุคคลทุพพลภาพถาวร ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ กล่าวคือ หากผู้ป่วยหรือญาติมีอาการเดินเซ มองเห็นภาพซ้อน หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง หรือพูดไม่ชัด ให้รีบโทร 1669 ทันที หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวทางโรงพยาบาลจะส่งรถฉุกเฉินไปรับผู้ป่วย พร้อมกับแจ้งทีมปฏิบัติการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ออกปฏิบัติการเพื่อออกรับผู้ป่วย เมื่อถึงจุดนัดพบ จะย้ายผู้ป่วยเข้ารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เพื่อเริ่มการรักษาทันที
สำหรับความร่วมมือดังกล่าวในโครงการนี้ นับเป็นการต่อยอดความสำเร็จที่ทางทรู คอร์ปอเรชั่นได้ร่วมมือกับศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2563 โดยเป็นโครงการที่ร่วมพัฒนาหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถมาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561
“ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำอันดับ 1 ของไทย มีความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนไทยในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม” นายประเทศ กล่าวในที่สุด
บรรยายภาพ
True_CTO1: นายประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดูความพร้อมการนำ 5G เชื่อมต่ออุปกรณ์ในรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงสำหรับผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล
True_NBTC1: นายประเทศ ตันกุรานันท์ (ที่ 3 จากซ้าย) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีและความปลอดภัยระบบสารสนเทศ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร (ที่ 5 จากซ้าย) หัวหน้าสายงานรัฐกิจสัมพันธ์และกำกับดูแล ร่วมกับ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ที่ 4 จากซ้าย) ประธานกรรมการ กสทช. พร้อมด้วยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล (ที่ 2 จากซ้าย) รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. และนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน (ซ้ายสุด) รองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม ดูความพร้อมในการนำเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G พลิกวิกฤตชีวิตเชื่อมต่อรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit)
True_MSU4,5,6: ภาพอุปกรณ์ประจำรถ Mobile Stroke Unit ที่เชื่อมต่อ 5G อาทิ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scanner) ให้ภาพสแกนสมองภายในไม่กี่วินาทีเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน