ผ่าอนาคตวงการ “สตาร์ทอัพ” ผ่านเลนส์ผู้นำ True Incube เมื่อ Startup และ Ecosystem ไทย เผชิญความท้าทายจากการแข่งขันทั้งจาก Startup และ Tech-company ต่างประเทศ

01 กุมภาพันธ์ 2567


ในทศวรรษที่ผ่านมา “สตาร์ทอัพ” ถือเป็นอีกปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น เข้ามาเขย่าภูมิทัศน์ธุรกิจ เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ตลอดจนเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม บ้างเติบโตจนกลายเป็น “ยูนิคอร์น” บ้างก็ล้มหายตายจากไป True Blog ได้นั่งคุยกับ จุฑามาศ งามวัฒนาผู้นำทัพ True Incube หน่วยงานด้านสตาร์ทอัพของ ทรู คอปอเรชั่น ถึงเส้นทางชีวิตส่วนตัว ทิศทางของ True Incube และแนวโน้มสตาร์ทอัพไทยและโลก

แรงบันดาลใจ

เธอวนเวียนอยู่กับการบริหารเงินการธนาคาร และการริเริ่มและบริหารโปรเจกต์พิเศษใหม่ๆ ตั้งแต่เข้าศึกษาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขา Banking & Finance และเริ่มเส้นทางสายอาชีพโดยการเป็นสาวแบงก์ ดูแลโปรเจกต์พิเศษต่างๆ จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานทุนในพระราชานุเคราะห์ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง ในสาขาวิทยาการจัดการและวิศวกรรม (Management Science and Engineering) หลักสูตรภาษาอังกฤษ วิชาเอกไอทีและอีคอมเมิร์ซ (IT and E-Commerce) และได้ทำ Thesis เรื่องโซเชียลคอมเมิร์ซ ในสมัยที่จีน เริ่มมี Marketplace และ E-Commerce แพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น TaoBao ซึ่งยุคนั้นโซเชียลคอมเมิร์ซในจีน ยังถือเป็นคำนิยามที่เพิ่งมีคนรู้จัก และเริ่มมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี จนกระทั่งเกิดเป็น TikTok ในปัจจุบัน

 

การได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ ให้ไปศึกษาที่จีน ในช่วงปี 2555 ถือเป็นหนึ่งจุดหักเหที่ทำให้จุฑามาศเริ่มเข้าสู่แวดวงเทคโนโลยี และนวัตกรรมฝั่งจีน จากเดิมที่มีเป้าหมายในชีวิตว่าจะไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ แม้จะใช้ชีวิตที่เมืองซีอาน (西安 ซีอาน แปลว่า ความสงบสุขทางตะวันตก)  ซึ่งไม่ใช่เมืองใหญ่อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ แต่ด้วยซีอานเป็นเมืองหลวง ของมณฑลฉ่านซี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาตร์และอารยธรรมจีน และตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม อารยธรรมดังกล่าวจึงถูกต่อยอดและทำให้ทันสมัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี จนมีการพัฒนาที่รวดเร็วและก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ จนถือได้ว่าซีอานเป็นเมืองที่เจริญและใหญ่ที่สุดในส่วนตะวันตกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 10 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มี Ecosystem เป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี จากชาติตะวันตก จากความร่วมมือของรัฐบาลและภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่าน Open Innovation จนเกิดเป็น แพลตฟอร์มระดับชาติต่างๆ ซึ่งเทียบเท่าและหรือทันสมัยกว่าต่างชาติ อาทิ WeChat เทียบกับ LINE, WhatsAPP และ Baidu เทียบกับ Google Search Engine เป็นต้น

 

เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธอตั้งใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย โดยยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ และโปรเจกต์พิเศษอาเซียน (SEA) แต่เธอก็ได้มีโอกาสได้กลับไปที่จีนหลายครั้ง ได้ตะลุยทั้งเซินเจิ้น กวางโจว ซึ่งมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และล้ำสมัยกว่าเดิมไปมาก เนื่องจากเป็นเมืองที่อยู่ในแผนพัฒนาฯ และบริษัทขนาดใหญ่ อาทิเช่น Tencent และ Huawei ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ Head Quarters ในเมืองดังกล่าว เป็นต้น

 

“เมืองจีนปลูกฝังความเป็นนวัตกรรม เทคโนโลยี และพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง กอปรกับอุปนิสัยส่วนตัวที่ชอบเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้พบเจอ และพูดคุยกับคนเก่งๆ จึงทำให้อยากกลับมาเรียนรู้งานด้าน digital transformation และเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย”

 

โชคดี เธอได้งานในตำแหน่งนักกลยุทธ์จีนที่ธนาคารแห่งหนึ่ง นอกจากดูเรื่องสาขาต่างประเทศและกลยุทธ์ในจีนแล้ว เธอได้มีโอกาสร่วมงานกับหน่วยงานด้านสตาร์ทอัพ ซึ่งเขากำลังสนใจลงทุนในจีน ทำให้จุฑามาศได้กระโดดเข้าไปสู่แวดวงสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นการเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ การลงทุนผ่านกองทุนสตาร์ทอัพ และนั่นทำให้เส้นทางอาชีพของเธอหันเหสู่วงการสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว โดยดูแลด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพให้กับองค์กร (Corporate Venture Capital: CVC) ตลอดจนความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับสตาร์ทอัพ

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์

จุฑามาศ สั่งสมประสบการณ์ในวงการสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีระดับภูมิภาค จนปัจจุบันทำหน้าที่กุมบังเหียน True Incube ซึ่งมีบทบาทเป็น ผู้ดูแลด้านการลงทุนในสตาร์ทอัพ (CVC) ให้กับ ทรู คอร์ปอเรชั่น  และได้รับการคัดเลือกเป็น 30 Standout women in Asian corporate venture จาก Global Venturing และได้รับเลือกให้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร Women Who Tech นอกจากเรื่องการลงทุนแล้ว เธอยังทำหน้าที่เฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มี “คุณค่าร่วม” ทางธุรกิจ เพื่อทำให้เกิดการ “ซินเนอร์ยี่” กับทรู และบริษัทในเครือที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มจากกระบวนการ Scout/Screen, Initiate projects/warm leads, Pilot Test หรือ Proof of Concept (PoC) เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการซินเนอร์ยี่ หากเทคโนโลยีดีจริงก็อาจเข้าสู่การทำ partnership หรืออาจลงทุนต่อในสตาร์ทอัพนั้นเลยก็ได้

 

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ True Incube ต่อจากนี้ เราวางเป้าให้ True Incube เป็น Top-of-Mind CVC in region ต่อยอดจากเป้าหมายเดิมของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ที่ต้องการให้ True Incube เป็น Leading Startup Incubator and Accelerator เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทย ปัจจุบันนี้ True Incube ก็ยังคงยึดมั่นในหลักการที่จะส่งเสริมสตาร์ทอัพ และระบบนิเวศไทย แต่เนื่องจาก ภาวะ และปัจจัยทั้งภายในและภายนอกองค์กร เช่น การขาดแคลนสตาร์ทอัพไทยที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรขนาดใหญ่ (ซึ่งมักจะมีความพร้อมด้าน R&D และเต็มไปด้วยพนักงานที่มีศักยภาพสูง เป็นต้น) การเข้ามาเจาะตลาดในไทย และ SEA ของสตาร์ทอัพ และบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ ทำให้ True Incube มีความท้าทายในการบริหารงานเพื่อช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพและระบบนิเวศในไทย และในขณะเดียวกันต้องหาบริษัทเทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่มีศักยภาพ ในต่างประเทศ ซึ่งมีความชำนาญในแต่ละเทคโนโลยีและความถนัดในเคสทางธุรกิจ (use cases) เพื่อสร้าง New business (New S-Curve), Upgrade core competencies เพื่อช่วยส่งผ่านกระบวนการการทำ digital transformation ให้ business units จนให้บริการลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์ สร้างรายได้ ลดต้นทุนและทำให้เกิดการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ประเทศชาติ, ประชาชน และองค์กร

 

โดย True Incube จะเฟ้นหาสตาร์ทอัพไทยหน้าใหม่ที่อยู่ใน Seed แต่ต้องพัฒนาสินค้าและบริการแล้ว แต่หากเป็นสตาร์ทอัพต่างชาติ จะต้องอยู่ใน Series A ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดถึงความอยู่รอดของสตาร์ทอัพนั้นๆ ในประเทศตัวเอง โดย synergistic value เป็นเกณฑ์ (criteria) สำคัญหนึ่ง (นอกจากเทคโนโลยี, ผู้บริหารสตาร์ทอัพ, monetization model เป็นต้น) ที่ True Incube จะพิจารณาคัดเลือกเพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า และหรือลงทุนโดยเทคโนโลยี

หลักๆ ที่ True Incube สนใจ ได้แก่ AI/ML Optimization, 5G/6G/Satellite, Innovative HealthTech, Drones & Robotics เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก True Incube ได้มีบทบาทในการร่วมงานแบบ cross-functional ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร เช่น หน่วยงานกลยุทธ์ หน่วยงานลงทุน และ CVC อาทิ หน่วยงานจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ทำให้ True Incube ทำหน้าที่เป็น Gate Way, Facilitator ร่วมถึง Initiator สำหรับสตาร์ทอัพ ที่มีเทคโนโลยีที่น่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรอื่นๆ ซึ่ง True Incube จะช่วยสกรีน ติดต่อ ประสานงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในภาพรวม

 

นอกจากการเฟ้นหาสตาร์ทอัพและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์แล้ว อีกขาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “การลงทุน” ซึ่งจะมีการประเมินพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน True Incube พิจารณาลงทุนอยู่ราว 24-25 ดีล โดยส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพประเภทผู้ให้บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) นอกจากนี้ True Incube ยังลงทุนผ่านกองทุนสตาร์ทอัพ เช่น 500 Startups ในสหรัฐฯ หรือ Fund of Funds เพื่อหาผลตอบแทนทางการเงิน โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านผลตอบแทน มีมูลค่ากำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Gain Valuation) จากสตาร์ทอัพที่ลงทุนไปและเริ่มมีผลตอบแทนเกิดขึ้นจริงจากการลงทุนผ่านกองทุนแล้ว เช่น กองทุน 500 Startups รวมรายได้มูลค่าเพิ่มที่เกิดจากซินเนอร์ยี่จนเป็นธุรกิจใหม่ของทรู คอร์ปอเรชั่น อาทิเช่น หมอดี (MorDee)

จับชีพจรวงการสตาร์ทอัพโลก-ไทย

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วงการสตาร์ทอัพโลกและไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในด้านบวกและด้านลบ ความท้าทายมีมากขึ้น อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้สตาร์ทอัพระดมทุนยากขึ้น ขณะที่การล้มของ Silicon Valley Bank นำมาซึ่งผลกระทบต่อสตาร์ทอัพทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง  เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลาย จนเกิดปรากฏการณ์ “ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เช่น การเติบโตของ HeathTech ในหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงในประเทศไทย ที่กำเนิดสตาร์ทอัพ ด้าน HealthTech โดย True Incube (นำโดยทีม True Digital Group) ตัดสินใจลงทุนถือหุ้นในบริษัท Chiiwii (ชีวี) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการนัดหมายแพทย์ และปรึกษาแพทย์แบบออนไลน์ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาบริการของบริษัทฯ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานใน True และบริษัทพันธมิตร อาทิเช่น True Digital Group, CP AXTRA และโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้นเพื่อให้บริการอย่างครบวงจร (Online-to-Offline health solutions) ตั้งแต่การนัดหมายแพทย์/ผู้ให้บริการ, การปรึกษาออนไลน์, ส่งยาไปจนถึงการเคลมประกัน และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หมอดี” (Mordee) ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของทรู คอร์ปอเรชั่น

 

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบตลาดสตาร์ทอัพไทยและต่างประเทศ จะพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะทิศทางตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ จีน อิสราเอล ที่มุ่งเน้นการพัฒนา Deep Tech  หรือเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมี AI และ Machine Learning เป็นแกนหลักของการพัฒนาจนกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี และบางประเทศเช่น จีน ได้ระบุเรื่องการพัฒนา AI ในแผนพัฒนาชาติ ผ่าน Open Innovation โดยการทำงานร่วมกับรัฐและภาคเอกชน (อาทิเช่น Alibaba, Huawei, Tencent, Baidu และบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอื่น (Tech Giant companies)) เพื่อให้จีนแซงสหรัฐฯ และขึ้นเป็นผู้นำโลกในด้าน AI ในปี 2030ขณะที่ตลาดเอเชียตะว้นออกเฉียงใต้ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นการพัฒนา Digital Tech ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงเท่าใดนัก ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น Market Place, E-commerce platform, SaaS ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย และสตาร์ทอัพบางรายอาจระดมทุนไม่ได้สำเร็จ จนทำให้ต้องเลิกกิจการไป

 

เมื่อพิจารณาตลาดไทย สตาร์ทอัพไทยจำต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น เพราะด้วยขนาดตลาดเล็ก (Small Market Size) เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และสมรภูมิการแข่งขันที่เป็นไปอย่างไร้พรมแดน คู่แข่งจึงไม่ใช่เป็นเพียงบริษัทในประเทศ แต่ยังรวมถึงผู้เล่นในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้น ในภาวะความท้าทายรอบด้าน สตาร์ทอัพไทยจะต้องมีทีมที่ดี ภูมิหลังที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และมีเทคโนโลยีที่ดีจริง และหากเป็นสตาร์ทอัพที่เน้นในเรื่อง Digital หากมีการพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ และบริการ ให้เป็น Universal รวมถึงมีทีมที่มีศักยภาพในการบุกตลาดต่างประเทศที่มีตลาดที่ใหญ่ จะมีโอกาสในการเติบโตสูงขึ้น ส่งผลดีต่อสตาร์ทอัพเอง

 

“จริงๆ แล้ว สตาร์ทอัพสาย Deep Tech อาทิเช่น BioTech, HealthTech  Drones & Robotics ของไทยมีคนเก่งๆ เยอะ แต่ปัญหาคือยังไม่สามารถ commercialize ได้ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการ commercialize เพื่อเพิ่มขีดศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทย และขยายไปต่างประเทศอีกด้วย” จุฑามาศ อธิบาย

 

ปัจจุบัน True Incube เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพ สาย Deep Tech ซึ่งบางบริษัทได้ก่อตั้งโดยนักวิจัย และ Spin-Off จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช (NSTDA) เช่น AI9  โดยได้เคยการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยี NLP ของ AI9  มาต่อยอดในหุ่นยนต์ (Home Robot) เพื่อควบคุมบ้าน และที่อยู่อาศัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านกับทีม  True Robotics ให้บ้านหรือที่อยู่อาศัยเป็น Smart Home

สตาร์ทอัพไทย เผชิญกับ “ความยากลำบาก และความท้าทาย”

ด้วยสภาพแวดล้อมในวงการสตาร์ทอัพไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ True Incube ซึ่งมีเป้าหมายการเป็น CVC อันดับต้นๆ ของภูมิภาค เบนทิศทางความสนใจไปที่ตลาดต่างประเทศ โดยเน้นตลาดนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากตลาดไทยอยู่ในจุดที่ “ไม่ตื่นเต้นนัก ขาดสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และสามารถตอบโจทย์องค์กรใหญ่ๆ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”

 

“ในไทย CVC และ VC ยังคงแอคทีฟอยู่หลายราย แต่อาจไม่มีข่าวเพราะไปป์ไลน์ในการเข้าไปลงทุนน้อยลง สตาร์ทอัพที่น่าสนใจก็เป็นรายเดิมๆ ที่ลงไปแล้ว ขาดผู้เล่นใหม่ๆ ที่หวือหวา ทำให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น เองจำเป็นต้องมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ True Lab เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและบ่มเพาะให้เกิดสตาร์ทอัพตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย จนเกิดการตั้งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจริง หลังจากที่จบการศึกษา” ผู้นำทัพ True Incube บ่งชี้

อย่างไรก็ตาม ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำ Telco-Tech Company ของทรู คอร์ปอเรชั่น ในประเทศไทย เราจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเป็น Backbone เพื่อทรานส์ฟอร์มองคาพยพยต่างๆ ของประเทศอย่างครบวงจรในมิติเทคโนโลยี เช่น เงินทุน, mentorship สถานที่อย่าง True Digital Park รวมถึงการเติบโตและการขยายตลาดโดยผู้สนับสนุนระดับโลกจากทั้ง CP Group และ Telenor Group

 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เทคโนโลยี’ และศักยภาพของคน คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน สตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยี พร้อมด้วยทีมที่มีศักยภาพ จึงเป็น warrior สำคัญบนสมรภูมิการแข่งขันของไทยบนเวทีโลก ดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องให้การสนับสนุน อาทิ องค์กรเอกชนใหญ่ ควรเปิดโอกาสทำงานกับสตาร์ทอัพได้เข้ามาทำงาน ได้เรียนรู้โจทย์ เละเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในองค์กร เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงความต้องการ ในขณะเดียวกันพนักงานในองค์กร ยังมีโอกาสได้เลกเปลี่ยนความรู้กับสตาร์ทอัพ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ Co-Creation เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ” จุฑามาศ กล่าวทิ้งท้าย