ส่องโอกาส-ความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์ กับทักษะและทางรอดในยุคทองของ Generative AI

18 มกราคม 2567


เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ พร้อมด้วย แซม อัลต์แมน ซีอีโอ OpenAI ผู้นำทางการเมืองคนสำคัญและนักวิชาการชื่อดังของโลก ได้ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึก Statement on AI Risk เพื่อส่งเสียงเตือนถึง “ความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ” จาก AI ซึ่งต่างเล็งเห็นการให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวเทียบเท่ากับโรคระบาดและสงครามนิวเคลียร์ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของบริษัทที่ปรึกษา Accenture ที่ระบุว่า Generative AI อย่าง Llama, ChatGPT หรือ Bard จะส่งผลต่อการลดชั่วโมงการทำงานถึง 40%

จากผลกระทบเชิงลบจาก AI ดังกล่าว ทำให้การกำกับดูแล AI ถือเป็นประเด็นที่ร้อนแรงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป

เชื่อ AI คือโอกาส

ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน AI Gets Good ว่า เทคโนโลยี AI แท้จริงแล้วถูกพัฒนามาแล้วกว่า 10 ปี แต่ด้วยความก้าวหน้าและศักยภาพที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่

“เราเชื่อว่า AI จะช่วยเปลี่ยนโลกในทิศทางบวกได้ ด้วยเป้าหมายสู่การผู้นำ Telecom-Tech Company ในภูมิภาค เราขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ AI ในภาคธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค” ชารัด กล่าว

เราเชื่อว่า AI จะช่วยเปลี่ยนโลกในทิศทางบวกได้ ด้วยเป้าหมายสู่การผู้นำ Telecom-Tech Company ในภูมิภาค เราขอแสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ AI ในภาคธุรกิจเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค

ที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น มีการพัฒนาและใช้ AI อย่างแพร่หลายภายในองค์กร ตัวอย่างเช่น การใช้ AI เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานโครงข่าย ยังผลให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 10-15% ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ 42% ภายในปี 2573 โดย AI มีบทบาทสำคัญในการคำนวณข้อมูลการใช้พลังงานที่ผ่านมา ทั้งยังสามารถคาดการณ์แนวโน้มปริมาณพลังงานที่ต้องใช้ในอนาคต รวมถึงการปิดอุปกรณ์ส่งสัญญาณในพื้นที่ที่ไม่มีการใช้งาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังใช้ AI ในระบบลงทะเบียนลูกค้าเพื่อตรวจสอบตรวจตนจากแอปพลิเคชันโดยตรง นั่นหมายถึงความเสี่ยงจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลจากงานเอกสารเป็น “ศูนย์” ขณะเดียวกัน ยังได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยป้อนข้อมูลที่ “จำเป็น” กับคอลเซ็นเตอร์ผ่าน AI เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในส่วนของทรู ดิจิทัลกรุ๊ป ได้ใช้ AI เพื่อวิเคราะห์อาการป่วยของหมูในฟาร์มผ่านเซนเซอร์ที่ติดกับตัวหมู ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถตรวจจับอาการไม่พึงประสงค์และยับยั้งโรคระบาดในสัตว์ได้อย่างทันท่วงที เช่นเดียวกับ Lotus’s Pick & Go by True Digital ร้านค้าอัจฉริยะไร้พนักงานที่นำ AI เข้ามาพัฒนางานค้าปลีก สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งให้สมาร์ท รวดเร็วและง่ายขึ้น ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและการจัดการสต็อกสินค้าอย่างเรียลไทม์

3 หลัก 4 แนวทางใช้ AI

จากตัวอย่างข้างต้น สะท้อนถึงบทบาทและศักยภาพที่มากขึ้นของ AI ต่อชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ท่ามกลางศักยภาพของ AI ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น เราตระหนักถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลการใช้ AI อย่างยิ่งยวด  เพื่อการันตีถึงการใช้ AI ภายในองค์กรให้ดำเนินอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และมีจริยธรรม

“ความเสี่ยงที่แท้จริงคือ การโอบรับเทคโนโลยีที่ล่าช้าของประเทศไทย หากภาครัฐและเอกชนเมินเฉย ประเทศไทยจะถุกทิ้งไว้ข้างหลังในทุกสมรภูมิแข่งขัน” ชารัด ให้มุมมองพร้อมกล่าวเสริมว่า ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานจำเป็นต้องหา “สมดุล” การใช้ AI ที่มาพร้อมกับความเสี่ยง เช่น ความผิดพลาด การละเมิดความเป็นส่วนตัว และความลำเอียง

ด้วยเหตุนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงได้กำหนดหลัก 3 ประการเพื่อการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

  1. การใช้ AI ต้องมีการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
  2. บุคลากรของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ทุกคนจะต้องมีความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมพร้อมสู่องค์กรแห่ง Data-First และ AI-First ต่อไป
  3. การใช้ AI ต้องยึดหลักจริยธรรมเป็นแก่นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังได้ร่าง ธรรมนูญปัญญาประดิษฐ์” (True’s AI Charter) เพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลการใช้ AI ภายในองค์กร โดยประกอบด้วยหลักการ 4 ข้อ ได้แก่

  1. เจตนาดี (Good Intent) AI จะต้องถูกใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น
  2. เป็นธรรม ปราศจากอคติ (Fairness and Bias Mitigation) AI ต้องไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สะท้อนถึงการเลือกปฏิบัติ
  3. ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการทำงานของ AI (Data Privacy and AI Functionality) ผลลัพธ์จากการใช้ AI เป็นไปตามหลักความเป็นส่วนตัว โดยยึดจากระดับการเข้าถึงข้อมูลที่ลูกค้าให้ไว้
  4. ความโปร่งใส (Transparency) แม้ AI จะมีการทำงานที่ซับซ้อน แต่ผลลัพธ์จากการประมวลของ AI จะต้องสามารถอธิบายได้ โดยคำนึงถึง “สิทธิ” ผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ทางรอดเมื่อ AI คุกคาม

ด้าน ดร.ชนนิกานต์ จิรา ผู้อำนวยการ True Digital Academy หน่วยงานสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลผ่านด้านบุคลากร กล่าวว่า บทบาทของ AI ที่มีมากขึ้นจะเข้ามาเปลี่ยนภูมิทัศน์ตลาดแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ขณะเดียวกัน การเตรียมความพร้อมด้าน AI จำต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ความพร้อมทางเทคโนโลยี กลยุทธ์ธุรกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ “คน” เช่นเดียวกัน

รายงานจาก World Economic Forum เรื่อง The Future of Jobs Report 2023 ระบุว่า 44% ของทักษะการทำงานคาดว่าจะเปลี่ยนไปภายใน 5  ปีข้างหน้า สอดรับกับแนวโน้มของโลกและบทบาทของ AI ที่เพิ่มขึ้น และจากแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ.2565-2570) หรือ AI แห่งชาติ ระบุว่าบุคลากรไทยเพียง 39% เท่านั้นที่มีความพร้อมด้าน AI

“การพัฒนากำลังคนให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่สามารถดำเนินด้วยฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยระบบนิเวศที่แข็งแรง ความร่วมมือจากภาคีต่างๆ มหาวิทยาลัย ภาครัฐ บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และนายจ้าง ฯลฯ” ดร.ชนนิกานต์ เน้นย้ำ

ทั้งนี้ World Economic Forum ยังระบุอีกว่า 3 ทักษะที่สำคัญในยุคดิจิทัลและ AI ประกอบด้วย 1. ความรู้เท่าทันเทคโนโลยี (Technology Literacy) ความเข้าใจการทำงานของ AI 2. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) บูรณาการเข้ากับการทำงานกับ AI และ 3. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เพื่อการแยกแยะความถูกต้องของข้อมูลโดย AI

นอกจากทักษะเชิงเทคนิคแล้ว ทักษะหมวดการรับรู้ความสามารถของตัวเอง (Self-Efficacy) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง ถือเป็นทักษะที่ช่วยให้แรงงานอยู่รอดในยุค AI

“AI ไม่ได้แย่งงานเรา แต่คนที่เชี่ยวชาญด้าน AI ต่างหาก ดังนั้น ทางออกคือ การเสริมสร้างทักษะการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มประสิทธิภาพ (AI Augmentation) เพราะต่อไปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI จะซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการ True Digital Academy กล่าวทิ้งท้าย

AI ไม่ได้แย่งงานเรา แต่คนที่เชี่ยวชาญด้าน AI ต่างหาก ดังนั้น ทางออกคือ การเสริมสร้างทักษะการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มประสิทธิภาพ (AI Augmentation) เพราะต่อไปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI จะซับซ้อนยิ่งขึ้น ทำให้ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น