เจาะใจ ‘อนุกูล ปีดแก้ว’ จากเด็กวัด อดีต รปภ. สามล้อรับจ้าง สู่ปลัด พม. กับเส้นทางเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ในยุคดิจิทัล

09 ตุลาคม 2566


จากเด็กที่เกิดในครอบครัวฐานะยากจน อยู่กับพระ เป็นเด็กวัดเพื่อเข้าถึงการศึกษา ขี่สามล้อรับจ้าง เฝ้าโรงงานเพื่อเลี้ยงตัวเองในเมืองหลวง

พล็อตข้างต้นไม่ใช่ตัวละครในนิยาย แต่คือเส้นทางชีวิตของปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คนปัจจุบัน อนุกูล ปีดแก้ว ผู้มีเรื่องราวของตัวเองเป็นแรงบันดาลใจในการรับราชการ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและส่งมอบโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสเหมือนเขาในอดีต

“ผมมาจากครอบครัวที่เรียกได้ว่าแร้นแค้น ผมเป็นเด็กจังหวัดสงขลา อาศัยข้าวก้นบาตรเพื่อประทังชีวิตและเรียนหนังสือ ช่วงที่เรียนในระดับมัธยมที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ผมขับสามล้อรับจ้างเพื่อจะได้มีค่าขนมไปโรงเรียน ตอนสมัยมหาวิทยาลัย ผมเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างที่เรียนก็ไปรับจ้างเป็น รปภ. ตามโรงงาน หมู่บ้านจัดสรร รอบนอกกรุงเทพ 4 ปี พอเรียนจบก็ตั้งใจว่าจะรับราชการ โดยที่แรกที่บรรจุคือ กรมประชาสงเคราะห์” ปลัด พม. เล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กของตัวเอง

เขาผ่านสมรภูมิด้านสังคมมาหลากหลายพื้นที่ ทั้งการคลุกคลีกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนชายขอบที่เชียงใหม่ เด็กที่ถูกทารุณกรรมและผู้สูงอายุที่ชลบุรี ดินแดนแห่งความยากจนที่อำนาจเจริญ รวมถึงหนึ่งในจังหวัดที่มีปัญหากระจุกตัวมากที่สุดในประเทศอย่างสมุทรปราการ

ปลัดอนุกูลมองปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า สังคมไทยในวันนี้เปราะบางมาก สถาบันที่เล็กที่สุดของสังคมอย่างสถาบันครอบครัวอ่อนแอถึงขีดสุด หลายครอบครัวไร้สภาพการเป็นครอบครัวไปแล้ว เพราะขาดองค์ประกอบที่สำคัญ นั่นคือ ‘เวลา’ ที่ถูกพรากไปด้วยปัจจัยสภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากขึ้น

“ในอดีต ปัญหาสังคมไม่ได้รุนแรงเหมือนในปัจจุบัน ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเชื่อมโลกด้วยเทคโนโลยี ทำให้เกิดการเปรียบเทียบชีวิตความเป็นอยู่ คนหนุ่มสาวย้ายถิ่นฐานในการทำงานออกจากชุมชนทั้งชั่วคราวและถาวรมากขึ้น การแสวงหาอาชีพมีความเข้มข้นขึ้น การแก่งแย่งทรัพยากรรุนแรงขึ้น เหลือเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้เปราะบางทางสังคมอยู่ตามลำพัง ขณะที่เหตุการณ์ในอีกฟากของมุมโลกก็ส่งผลกระทบคนอีกฟากโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สงครามยูเครน-รัสเซียส่งผลต่อราคาน้ำมันของชาวบ้านที่ยโสธร ยังไม่นับรวมถึงโรคระบาด ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เกิด ‘ช่องว่าง’ ของการพัฒนา ส่งผลให้พื้นที่ของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแคบลง” เขากล่าว

สิทธิและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 โดยแยกออกมาจากกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคในสังคม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิต สถาบันครอบครัวและชุมชนโดยรวม สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดย พม. มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริม ป้องกัน พัฒนาและคุ้มครองสิทธิและศักยภาพ โดยมีความมั่นคงของมนุษย์เป็นปลายทาง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ พม. อยู่ทั้งสิ้น 24 ฉบับ เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 พ.ร.บ. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 พ.ร.บ. การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 เป็นต้น

ทั้งนี้ พม. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสและการคุ้มครองทางสังคม มีความมั่นคงในชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 4 พันธกิจ ได้แก่

  1. เสริมสร้างศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว การเข้าถึงโอกาสของเด็ก เป็นต้น
  2. เสริมสร้างโอกาสและการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม โดยคำนึงถึงโอกาสที่มนุษย์พึงได้รับขณะมีชีวิตผ่านสวัสดิการระดับมาตรฐาน ตัวอย่างเช่น การดูแลเด็กเล็กในครอบครัวยากจน โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
  3. ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เนื่องจากปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาสังคม จึงต้องรวมพลังในการพัฒนาสังคม
  4. ยกระดับองค์กรให้มีผลสัมฤทธิ์สูงด้วยธรรมาภิบาลและเทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังมีหน้าที่ในการส่งเสริมสิทธิให้สอดรับกับพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี รวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ เช่น UNICEF และ UN Women เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า พม. เป็นหน่วยงานที่เชื่อมการพัฒนาและส่งเสริมสิทธิคนทุกช่วงวัย โดยเน้นที่การคุ้มครองสวัสดิการในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้ที่พึ่ง เพื่อเป็นเครื่องรับประกันสิทธิและศักดิ์ศรีที่มนุษย์พึงได้ในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่ง” ปลัดอนุกูลกล่าว

เทคโนโลยีดิจิทัลกับการพัฒนาสังคม

ด้วยการทำงานของ พม. ที่ต้องคลุกคลีกับประชากรกลุ่มเปราะบางถึง 80% ดังนั้น การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลย่อมส่งผลต่อกลุ่มเป้าหมายทั้งคุณประโยชน์และโทษ เดิมที การเข้าถึงสิทธิและข้อมูลข่าวสารของกลุ่มเปราะบางถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ในอดีตคนกลุ่มนี้มักถูกละเลยและเข้าไม่ถึงข้อมูล เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ พม. สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น มีฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการออกนโยบายที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าถึงที่ง่ายขึ้นย่อมหมายถึง ‘ความเสี่ยง’ ที่ใกล้ตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการถูกเอารัดเอาเปรียบจากมิจฉาชีพตามที่ปรากฏในหน้าสื่อ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ ไปจนกระทั่งการถูกหลอกลวงค้ามนุษย์ออนไลน์

ในกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่ภาครัฐใช้ผ่านโครงการ ‘เราชนะ’ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว พม.จะต้องใช้เวลาในการทำงานเยอะมาก กว่าจะส่งเงินเข้าถึงผู้ต้องการต้องใช้เวลานับเดือน แต่แอปพลิเคชันเราชนะ ได้ร่นระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

“เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเติมเต็มการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มเปราะบาง ถ้าออกแบบให้เข้ากับลักษณะที่เหมาะสมกับกลุ่มนั้นๆ ลดช่องว่างในการดูแล แต่ถ้าใช้ในทางที่ผิดแล้ว โทษก็มหันต์เช่นกัน ดังนั้น ตัวกรองเชิงนโยบายและการรู้เท่าทันเทคโนโลยีจึงเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป”

เปลี่ยนโมเดลสังคมสงเคราะห์สู่การพัฒนาสังคม

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านสังคมมากว่า 3 ทศวรรษ ปลัดอนุกูล บอกว่า หากจะแก้ปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดการช่วยเหลือจาก ‘สังคมสงเคราะห์’ สู่ ‘การพัฒนาสังคม’ ส่งมอบอาวุธทางปัญญาให้เป็นโอกาสในการดำเนินชีวิต

“อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ภาครัฐเพียงลำพังไม่อาจแก้ไขได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดของระบบราชการ อีกทั้งงานด้านสังคมนั้นมีความละเอียดอ่อน เป็นสหวิทยาการที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์มาประกอบกัน ยุทธศาสตร์หุ้นส่วนสังคมจึงทวีบทบาทขึ้นมาก” ปลัดอนุกูลกล่าว

ที่ผ่านมา พม. ได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม เปลี่ยนโมเดลความช่วยเหลือสู่การพัฒนาสังคม ตัวอย่างเช่น โครงการเน็ตทำกิน ที่ได้เข้าไปให้ความรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างรายได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน  ซึ่งเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตที่แท้จริงคือ การสร้างอาชีพและรายได้ และการขายออนไลน์ก็ถือเป็นอีกวิธีสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิต จากเดิมต้องขึ้นลงเขาไปขายของที่ไม่รู้ว่าจะได้กำไรหรือไม่ พัฒนามาเป็นการขายสินค้าเชิงอัตลักษณ์และวัฒนธรรม มีเรื่องราว ซึ่งถือเป็นเสน่ห์และความก้าวหน้าของกลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากนี้ คนในสังคมจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองให้มีจิตสาธารณะมากขึ้น เพราะปัจจุบัน คนมองในมิติปัจเจกบุคคลเป็นใหญ่

“ผมสอนลูกๆ เสมอว่า หากมีขนม 1 ชิ้น รีบแบ่งให้เพื่อนเลย เดี๋ยวพ่อหาใหม่ให้ เพื่อให้ลูกไม่ต้องลังเลว่าการแบ่งปันคืออะไร” ปลัดอนุกูลเล่า

ท่ามกลางความท้าทายที่รายล้อม ปลัดอนุกูลยังเชื่อมั่นในความโอบอ้อมอารีของความเป็นมนุษย์ที่จะช่วยกันพยุงสังคมให้ดีขึ้น และศักยภาพของทุกคนในการเป็นนักสวัสดิการที่ร่วมกันดูแลและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนร่วมสังคม เพื่อลดช่องว่างระหว่างกัน และยกระดับศักดิ์ศรีและความมั่นคงของมนุษย์สืบไป