Releases

เจาะลึกปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 และความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารต่องานระบาดวิทยา

04 มิถุนายน 2563


ปัจจุบัน (26 พค.) ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกทะลุไปแล้วกว่า 5.5 ล้านราย ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศน้อยลงจนเรียกได้ว่าเป็น “ศูนย์” ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความสำเร็จของมาตรการทางสาธารณสุขของไทยในการควบคุมโรคโควิด-19 ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

แต่ภายใต้ความสำเร็จนี้ ต้องแลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยทั้งแรงกายแรงใจ การทำงานอย่างมีกลยุทธ์ ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำสมัย ในการณ์นี้ dtac blog ได้รับโอกาสพิเศษสัมภาษณ์ 2 บุคคลสำคัญแห่งกรมควบคุมโรค หน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลยุทธ์หลักที่กรมควบคุมโรคใช้ในการรับมือและจัดการกับการแพร่ระบาด แบ่งออกได้เป็น 4 เสา ได้แก่ ป้องกัน ค้นหา รักษา และควบคุม

สำหรับการ “ป้องกัน” นั้น เป็นเรื่องของการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ สนับสนุนให้ประชาชนมีสุขอนามัยที่เหมาะสม เช่น การรณรงค์เรื่องการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากผ้า การหลีกเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีผู้คนแออัด หรือที่ที่มีคนไอจาม การกินร้อนช้อนกลาง รู้ว่าเชื้อโรคมีการติดต่อกันอย่างไรและควรป้องกันอย่างไร รู้ว่าหากพบอาการที่อาจของโรคติดเขื้อทางเดินหายใจควรปฏิบัติตัวอย่างไร เหล่านี้เป็นในเรื่องของมาตรการป้องกัน รวมถึงการดำเนินการป้องกันเข้มข้นในพื้นที่เฉพาะหรือกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นต้น

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธบดีกรมควบคุมโรค

ในส่วนของการ “ค้นหา” นั้น เป็นการประมาณการขนาดของปัญหาสุขภาพในประชากรกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของโรค เพื่อตรวจจับภาวะการระบาดของโรค ประเมินมาตรการในการควบคุมโรค ตลอดจนเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนทางสาธารณสุข การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการคัดกรองเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น

อีกกลยุทธ์ที่สำคัญคือการ “รักษา” ซึ่งจะเน้นที่การแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่โรคต่อไป การรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และการป้องกันการเเพร่เชื้อในสถานพยาบาล ส่วนสุดท้ายคือ การ “ควบคุม” ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการตัดวงจรการแพร่ระบาด ได้แก่ การสอบสวนโรค การระบุตัวผู้สัมผัส การค้นหาผู้สัมผัส และการติตตามอาการในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต่อเนื่องต่อไปเป็นเวลา 14 วัน

4 กลยุทธ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน บทบาทที่สำคัญต่อจากนี้คือการพยายามติดตามสถานการณ์ การค้นหาเชิงรุกจะเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกัน การป้องกันก็จะทวีความสำคัญขึ้นเช่นเดียวกัน

“การที่มีจำนวนผู้ป่วยน้อยลง ไม่ได้หมายความว่า โรคโควิด-19 จะหมดไป เพราะเมื่อคนเริ่มประมาท การป้องกันตัวเองอาจหละหลวม ซึ่งอาจเป็นที่มาของการระบาดในระลอกใหม่ก็เป็นได้ ดังนั้น การ์ดอย่าตก การสร้างความรู้ความเข้าใจในแง่นี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” นพ.ธนารักษ์กล่าวเสริม

เลยคำว่า “เหนื่อย” มาไกลแล้ว

นอกจากแนวทางการปฏิบัติงานที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในความเป็นจริง บุคลากรทางสาธารณสุขยังมีงานอีกหลายมิติที่ร่วมมือกันในการควบคุมโรคระบาด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความร่วมมือทางวิชาการของหน่วยงานสาธารณสุขในระดับนานาชาติ ทั้งองค์การอนามัยโลก หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ ที่มีการประชุมการทุกสัปดาห์ รวมถึงคณะทำงานขับเคลื่อนวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลกทั้งภายในภูมิภาคอาเซียน สหภาพยุโรป รวมถึงระดับทวิภาคี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งพันธกิจของกรมควบคุมโรคในการเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ

“ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการให้ควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถามว่าเหนื่อยไหม ผมคิดว่ามันเลยคำนั้นมาไกลแล้ว อย่างผมเอง ทำงานไม่ได้หยุดเลยตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม เสาร์ อาทิตย์ก็ไม่ได้หยุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีแต่ภาระหน้าที่เพื่อช่วยการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตนี้ไปได้’ นพ.ธนรักษ์ อธิบาย

เทคโนโลยี-นวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรค

นพ.ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบัน การทำงานด้านระบาดวิทยามีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหาการควบคุมโรค ซึ่งต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในบางกรณี

อย่างในปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และ Machine learning เข้ามาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพและจำกัดการแพร่ระบาดของโรค เช่น การควบคุมโรคพยาธิโดยเอาอุจจาระส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อเก็บภาพ แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนการประมวลผลด้วย AI เพื่อค้นหาไข่พยาธิที่ปะปนอยู่ ซึ่งทำให้พื้นที่ขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญสามารถมีเครื่องมือช่วยในการวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการได้เช่นกัน

นพ.ไผท สิงห์คำ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม กรมควบคุมโรค

นอกจากนี้ ยังมีหลายเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย อย่างเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีสามารถใช้การระบุตำแหน่ง Geolocation จากการใช้โทรศัพท์ เพื่อให้สามารถทราบถึงการเดินทางของผู้คน และผู้ป่วย เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังโรคระบาดในกลุ่มเสี่ยงได้

“นวัตกรรมการสื่อสารระหว่างบุคคล มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่องว่างระหว่างชุมชนเมือง โรงพยาบาลใหญ่กับชุมชนเล็ก สถานพยาบาลในพื้นที่กันดารลดลง แพทย์ในพื้นที่กันดารสามารถปรึกษากับแพทย์ที่มีประสบการณ์ในเมืองใหญ่ได้ง่ายดายและคล่องตัวมากขึ้น และเทคโนโลยีการสื่อสารนี้เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Teleconsultation แต่ทั้งนี้การใช้งานในด้านการแพทย์เพื่อการรักษายังมีข้อจำกัดในทางกฎหมายอยู่ แต่มีโอกาสสูงที่จะนำมาใช้งานในด้านการป้องกันควบคุมโรคได้ก่อน”

เช่นเดียวกับความก้าวหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมีความร่วมมือกับนักระบาดวิทยาทั่วโลก มีการอัพเดทและค้นหาข้อมูลจากเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ทั่วโลก สามารถส่งข้อมูลถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมของเชื้อ ชุดตรวจรวมถึงกระบวนการพัฒนาวัคซีน ซึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น และแม่นยำขึ้น

ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการการสื่อสาร ขอร่วมสนับสนุนภารกิจแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ ผ่านการอัปเกรดอินเทอร์เน็ตแบบไม่อั้นไม่ลดสปีดฟรีเป็นเวลา 3 เดือน โดยบุคลากรทางการแพทย์ และอสม.ที่ใช้บริการเครือข่ายดีแทคแบบรายเดือนสามารถลงทะเบียนเพื่อรับบริการอินเทอร์เน็ตได้ผ่านดีแทคแอปพลิเคชั่น ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 256310 มิ.ย. 2563 สมัครได้ที่ http://dtac.co.th/s/vqIMV

 

 

 


Related Content