ทรู คอร์ปอเรชั่น เผยโร้ดแมปสู่การเป็นผู้นำ Telco-Tech อย่างยั่งยืน

04 มีนาคม 2567


ทรู คอร์ปอเรชั่น โชว์ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม (Synergy) บรรลุเป้าหมายเร็วกว่าคาดการณ์ในปี 2566 ที่ผ่านมา  กางโร้ดแมปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม ตั้งเป้าพลิกกลับมาสร้างกำไรและคุณค่าอย่างยั่งยืนด้วยการเติบโตเชิงรุก (Aggressive Growth) ผ่านการขยายพอร์ตบริการดิจิทัลและการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมของทั้งองค์กร ภายในปี 2568

นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

กล่าวว่า “จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในช่วงไตรมาส 4/2566 ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพิชิตเป้าหมายด้านการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมในช่วง 10 เดือนแรกของการควบรวมกิจการได้เร็วกว่ากำหนด ทำให้เรามั่นใจว่าเราเดินมาถูกเส้นทางแล้ว”

ในงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารทรูทาวเวอร์ นายนกุลได้ชี้แจงรายละเอียดตัวเลขสำคัญที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

  • รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายหรือ IC เติบโตขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน เป็นผลมาจาก ARPU ที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว
  • EBITDA มีการเติบโตถึง 4 ไตรมาสติดต่อกัน โดยเป็นผลมาจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม รายได้รวมเติบโต และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
  • การปรับองค์กรให้ทันสมัย (Organization Modernization) เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยบรรลุประสิทธิภาพการดำเนินงาน 135% จากเป้าหมาย ขณะที่การมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานสูงขึ้น 4 จุดร้อยละ
  • ทรู ได้รับการจัดอันดับ 1 ในดัชนีความยั่งยืน DJSI 2566 ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม นับเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน
  • ประสบความสำเร็จจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมขั้นต้น (Gross Synergies) จำนวน 29 หมื่นล้นบาท ส่งผลให้ผลประโยชน์จากการควบรวมสุทธิ (Net Synergies) สูงกว่าที่คาดหมายถึง 700 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการเร่งดำเนินการในการปรับปรุงองค์กรและโครงข่ายให้ทันสมัย

ทั้งนี้ ทรูคอร์ปได้มีการดำเนินงานกว่า 100 โครงการภายในบริษัท เพื่อมุ่งสู่การรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการ โดยโครงการสำคัญ 15 โครงการช่วยให้เกิดการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมถึง 85%

นอกจากนี้ ทรูคอร์ปยังได้อาศัยข้อได้เปรียบจากการเข้าถึงช่องทางการขายของซีพี กรุ๊ป และการร่วมจัดซื้อขนาดใหญ่ระดับโลกของเทเลนอร์กรุ๊ป ทำให้การรับรู้ผลประโยชน์การควบรวมในแง่การลงทุน (CAPEX) สูงขึ้นมาก

“ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการควบรวมกิจการและปรับโครงสร้าง ขณะที่ปี 2567 กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตของกำไร และในปี 2568 นี้ จะเป็นปีแห่งการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน ตลอดจนมูลค่าเพิ่มต่อลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศชาติ” นายนกุล กล่าว

เส้นทางสู่กำไร

เพื่อพิชิตเป้าหมายด้านผลกำไรภายหลังการปรับปรุง (Normalized) ในปี 2567 บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ประสบการณ์ลูกค้า การเติบโต และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม

การปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) และการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำมาซึ่งประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าที่ดีขึ้น ผ่านการลงทุนที่มีเป้าหมายชัดเจนและแม่นยำ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพด้าน CAPEX ขณะที่โครงข่าย 5G คุณภาพสูง และคลื่นความถี่ที่นำมาให้บริการที่ครบทุกย่านและหลากหลาย ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ความเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่า รวมถึงบริการที่ครอบคลุมที่สุด (ครอบคลุม 99% ในพื้นที่กรุงเทพฯ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และครอบคลุม 90% ทั่วประเทศ) รวมถึงให้ความสำคัญในการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในช่องทางการขายที่ศูนย์บริการและช่องทางดิจิทัลแบบเฉพาะบุคคล

ในปี 2567 นี้ ทรูคอร์ปได้จัดสรร CAPEX มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมการปรับปรุงโครงข่ายให้ทันสมัย โดยตั้งเป้าอัปเกรดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,000 เสาสัญญาณ เพิ่มขึ้น 8,000 เสาสัญญาณจากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เม็ดเงินจำนวนดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการลงทุนในระบบหลังบ้าน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของทั้งองค์กร เพื่อให้ทรู ตอกย้ำเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าปรับปรุงโครงข่ายทั้งสิ้น 17,000 เสาสัญญาณ จากจำนวนที่ให้บริการทั้งประเทศรวม 55,000 เสาสัญญาณ โดยจะทยอยดำเนินการอัพเกรดให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

“ยิ่งเราปรับปรุงได้มากเท่าไร ประสบการณ์การใช้งานที่ลูกค้าจะได้รับก็จะดียิ่งขึ้น” นายนกุล อธิบาย

โอกาสใน Telco-Tech

ขณะเดียวกัน ทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังวางเป้าเพื่อคว้าโอกาสจากการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี โดยเริ่มจากการหารายได้และยกระดับบริการ 5G จากการคาดการณ์ที่จะมีผู้ใช้บริการ 5G ของทรูกว่า 16 ล้านราย นอกจากนี้ ลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านกว่า 4 ล้านรายและผู้ใช้บริการบริการดิจิทัลต่างๆ กว่า 40 ล้านราย ( Monthly Active Users หรือ MAUs) จะได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน รายได้จากบริการธุรกิจ (B2B) ที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อคาดว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 2-3 ปีข้างหน้า

“เราต้องการเป็น Digital Growth Champion ของประเทศ จากมือถือสู่ไลฟ์สไตล์ จากบรอดแบรนด์สู่ Smart Living จากเคเบิลทีวีสู่สตรีมมิ่ง ซึ่งนั่นจะเป็นแกนหลักที่เราจะเปลี่ยนผ่านในปี 2567 นี้” เขาอธิบายและกล่าวเสริมว่า “มือถือในวันนี้ ไม่ได้มีบทบาทเพียงการติดต่อสื่อสารกันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันคือการเพิ่มศักยภาพไลฟ์สไตล์ดิจิทัลให้แก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงคอนเทนท์บน True ID, TrueVisions Now, True X, Gaming Nation และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วน Smart Living หมายรวมถึงอุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ทำให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยบริการที่ตอบโจทย์ชีวิตดิจิทัลในวันนี้”

เขากล่าวเพิ่มเติมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ว่า จากการควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดยทรูจะมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม นำเสนอบริการ การบำรุงรักษาด้วย AI และระบบออโตเมชั่น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้งานที่เป็นเลิศ อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบ้านของคนไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าถึงในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยทรูมีความคาดหวังที่จะได้รับส่วนแบ่งตลาดที่เหมาะสมจากโอกาสตรงนี้ ในขณะที่ ARPU ค่อยๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ธุรกิจหลักทั้งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ตบ้าน และบริการดิจิทัลจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้” นายนกุล กล่าว

แนวโน้มสดใส

ในปี 2567 นี้ รายได้จากการบริการคาดว่าจะเติบโตราว 3-4% สอดคล้องกับประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ไทย พร้อมด้วยแนวโน้ม ARPU ที่ดีขึ้นต่อเนื่องและรายได้จาก B2B ที่สูงขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นสู่การเติบโตทางกำไร บริษัทคาดการณ์ว่า EBITDA จะเติบโตขึ้น 9-11% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม และด้วยผลการดำเนินงานทางการเงินและปฏิบัติการที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ บริษัทจึงคาดว่าจะประสบความสำเร็จจากการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมขั้นต้น (Gross Synergies) ที่ 2-2.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้

และเมื่อพิจารณาถึงความสามารถทางการเงิน ในส่วนของอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน (Leverage Ratio โดยคิดจากมูลค่าหนี้สุทธิต่อ EBITDA) มีแนวโน้มที่จะมีระดับต่ำกว่า 4.5 เท่า ซึ่งเป็นเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้ในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น นำมาซึ่งแนวโน้มที่สดใสในส่วนของ EBITDA

เมื่อถามถึงแผนการรีไฟแนนซ์ นกุลอธิบายว่า แหล่งทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ ของทรูคือหุ้นกู้ โดยบริษัทมีภาระความจำเป็นในการรีไฟแนนซ์คิดเป็นมูลค่าราว 7.4 หมื่นล้านบาทในปี 2567 นี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นกู้ไทยยังคงเป็นตลาดทุนที่สำคัญของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ โดยตลาดตราสารหนี้ไทยสามารถระดมทุนได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2565 และ 1 ล้านล้านบาทในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรที่น่าเชื่อถือ (Credit Ratings) ระดับ A+ ขึ้นไป

การได้ปรับอันดับเครดิตองค์กรเพิ่มขึ้นเป็น A+ จาก BBB+ (จากทรูเดิมก่อนควบรวม) จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย แม้ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ต้นทุนจากหุ้นกู้ในภาพรวมไม่เปลี่ยนแปลงมากนักหรืออาจจะลดลงเล็กน้อย โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทรูสามารถระดมทุนได้ถึง 1.05 หมื่นล้านบาท คิดเป็นต้นทุนประมาณ 3.9%

“เราได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดหุ้นกู้ ซึ่งทรูสามารถปิดการขายหุ้นกู้ด้วยมูลค่า 1.05 หมื่นล้านบาทจากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 7 พันล้านบาท ความสำเร็จจากการออกหุ้นกู้ของเราสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในทรู คอร์ปอเรชั่นภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและความไม่มั่นใจของนักลงทุนในตลาดหุ้นกู้เอกชนของไทย สิ่งนี้ทำให้เรามีความมั่นใจอย่างมากและจะยังคงพิจารณาตลาดหุ้นกู้เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนต่อไปในอนาคต” นายนกุลกล่าว