ถอดแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านมิติแรงงาน เมื่อ “ความปลอดภัยในการทำงาน” คือเครื่องการันตีสิทธิมนุษยชน

08 มกราคม 2567


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ “Guardians of Good” ถ่ายทอดเรื่องราวความมุ่งมั่นของคนทรูที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางด้านความยั่งยืนของทรู คอร์ปอเรชั่น โดยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนการประเมิน  CSA (Corporate Sustainability Assessment) สูงสุดจาก 166 บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโลกที่ได้เข้าร่วมการประเมินของ S&P Global และติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ปี ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.true.th/blog/djsi/

 

หลังการควบรวมกิจการภายใต้ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” การรวมโครงข่ายในชื่อโปรเจกต์ “Single Grid” ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายและการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ Single Grid ถือเป็นโครงการใหญ่ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมก่อสร้างอย่างยิ่งยวด นับเป็น “ความท้าทาย” ที่ต้องสร้างสมดุลระหว่าง “ความเร็ว” ของการดำเนินงานและ “ความปลอดภัย” ระหว่างการทำงานของพนักงานและคู่ค้า

 

True Blog มีโอกาสสัมภาษณ์ “วิศรุต ประยูรคำ” ผู้อำนวยการแผนกอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Health Safety Security & Supply Chain Sustainability Department: HSS&SCS) ของทรู คอร์ปอเรชั่น ถึงแนวคิด นโยบาย สถานการณ์ปัจจุบัน และเป้าหมายด้านความปลอดภัยในการทำงาน

สิทธิมนุษยชน

วิศรุต ฉายภาพว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ถือเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive)  มีการจ้างงานทางตรงและทางอ้อมผ่านคู่ค้ารวมแล้วหลายหมื่นอัตรา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลนับแสนล้านบาทต่อปี และด้วยการอาศัยแรงงานเหล่านี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับหลากมิติที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ทั้งความปลอดภัยในการทำงานและสิทธิมนุษยชน สะท้อนถึงหลักการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น  ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ นับตั้งแต่วันแรกหลังการควบรวมกิจการผ่าน “นโยบายความปลอดภัยในการทำงาน”

ทั้งนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น แบ่งผู้เกี่ยวข้องในมิติแรงงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พนักงานภายใน และพนักงานของคู่ค้าและซัพพลายเออร์ สำหรับพนักงานภายใน ทุกคนจะต้องผ่านการอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานพื้นฐาน 100% และมีส่วนร่วมกิจกรรมสร้างความตะหนักด้านความปลอดภัยเชิงรุก (Proactive safety culture) เช่น การร่วมรายงานอุบัติเหตุผ่านระบบ True connect การปฏิบัติตามหลักพฤติกรรมความปลอดภัยของ TRUE (Stay TRUE to Safety- T=Take a pause, safety first R=Report immediately, U=Use the right equipment and E=Educate yourself) เป็นต้น ส่วนผู้ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน เช่น พนักงานขับรถ จะมีหลักสูตรอบรมเพิ่มเติมจากหลักสูตรพื้นฐานอีกขั้น

 

สำหรับคู่ค้าและซัพพลายเออร์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยประสานการทำงานกับฝ่ายจัดซื้อของกลุ่มการเงิน ซึ่งทำหน้าที่ “สอบทานความเสี่ยง” (Risk Review) เพื่อคัดกรองคู่ค้าที่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทต้องการ โดยพิจารณาครอบคลุมทั้งมิติธุรกิจ การเงิน ตลอดจนมิติความปลอดภัยในการทำงานและสิทธิมนุษยชน ผ่านแพลทฟอร์มของระบบจัดซื้อ โดยจะทำบันทึกแนบท้ายหากพบสิ่งผิดปกติ เพื่อแจ้งถึงความเสี่ยงของคู่ค้านั้นๆ ในขั้นก่อนทำสัญญา (Pre-Qualifications)

นอกจากนี้ ทรู ยังได้จัดประเภทคู่ค้าเป็น 4 ระดับ ได้แก่ สูง กลาง ต่ำ และไม่มีนัยสำคัญ ตาม “ความสี่ยง” ทั้ง 4 มิติ ตามกรอบคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 3 ปัจจัย ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

 

จากการจัดประเภทคู่ค้าตามความเสี่ยงข้างต้น พบว่า คู่ค้าที่จัดอยู่ในความเสี่ยงระดับ “สูง” มีจำนวนทั้งสิ้น 46 ราย โดยเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านโครงข่าย ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับอันตรายในการทำงานต่างๆ ทั้งการตกจากที่สูง (fall from height) ไฟฟ้าดูด (electrical shock) ตลอดจนการละเมิดสิทธิแรงงานอื่นๆ เช่น การปฏิบัติงานภายใต้สัญญา/ข้อบังคับในการทำงานที่ไม่เป็นธรรมของลูกจ้าง หรือ แรงงานเด็กเป็นต้น ทั้งนี้ หน่วยงาน HSS&SCS ของ ทรู คอร์ป จะให้ความสำคัญและมุ่งเป้าปิดช่องว่างความเสี่ยงในกลุ่มนี้เป็นอันดับต้นๆ

มุ่งสู่ Zero Fatalities

วิศรุต กล่าวถึงสถานการณ์อาชีวอนามัยในปัจจุบันว่า “เรายังคงเป้าหมายอัตราการเสียชีวิตจากการทำงานของพนักงานเป็นศูนย์ (Zero Fatalities) โดยพิจารณาถึงการขยายขอบเขตตัวชี้วัดครอบคลุมถึงคู่ค้าและซัพพลายเออร์ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย เพื่อตอกย้ำถึงคุณค่าด้านสิทธิมนุษยชนที่ยึดถือ ยกระดับมาตรฐานการทำงานให้เทียบเท่าสากล” อย่างไรก็ตามในช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างการควบรวมกิจการ ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งที่จะกำชับกวดขันให้ซัพพลายเออร์ดำเนินงานตามแนวทางที่บริษัทวางไว้ เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ในปี 2023 ที่ผ่านมา บริษัทได้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอุบัติเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตและอุบัติเหตุจนถึงขั้นหยุดงาน (Fatality accident and Lost time accident) ของคู่ค้าและซัพพลายเออร์อันเนื่องมาจากความร่วมมือของบริษัทคู่ค้าและซัพพลายเออร์ อย่างไรก็ตามยังคงพบอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตและอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานที่มีสาเหตุเบื้องต้นจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act & Unsafe condition) เช่น การประมาทเลินเล่อในการสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) การทำงานในพื้นที่ใกล้สายไฟฟ้าแรงต่ำและสูง โดยไม่มีมาตรการลดความเสี่ยงที่เหมาะสมก่อนเริ่มงาน

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ให้เห็นปัญหาที่แท้จริง (Root cause analysis) พบปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหาความปลอดภัย (safety management issue) คือ ผู้บริหารของซัพพลายเออร์นั้นๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญถึงความปลอดภัยในการทำงานเท่าที่ควร ทั้งยังขาดแนวทางการรายงานและหาสาเหตุของอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ ทรู คอร์ป จะเร่งรัดกำชับการบังคับใช้นโยบายด้านความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งประกอบด้วย สร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริหารทุกระดับ (Leadership safety awareness program) การอบรม (Training) หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติในการทำงานและความปลอดภัย และตรวจประเมิน (Audit and Inspection)ผู้รับเหมาให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับด้านความปลอดภัย และหากมีอุบัติเหตุรุนแรงหรืออุบัตืเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตจากการทำงาน โดยเฉพาะจาการทำงานด้านโครงข่าย จะต้องนำเสนอรายงานเหตุการณ์ พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไข และติดตามประเมินผลอย่างสม่ำเสมอโดยผู้บริหารของซัพพลายเออร์นั้นๆถึงหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีโดยตรง

 

ที่สำคัญ ความปลอดภัยในการทำงานยังถูกยกระดับความสำคัญ โดยจะต้องทำรายงานถึงที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส เพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ พัฒนาการ และการติดตามประเมินผล

ความปลอดภัยเกิดขึ้น 2 ทาง

จากประสบการณ์อันหลากหลายของผู้อำนวยการหน่วยงาน HSS&SCS ในบริษัทระดับโลกในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกซึ่งดำเนินธุรกิจที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกับธุรกิจโทรคมนาคม งเช่น ผู้จำหน่าย ก่อสร้าง ติดตั้งและซ่อมบำรุง ระบบอุปกรณ์โครงข่าย อุปกรณ์ไฟฟ้า ซล้วนต้องเผชิญกับความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานจากการปฏิบัติงานช่วงโดยซัพพลายเออร์ทั้งสิ้น เขาพบปัจจัยแห่งความสำเร็จที่นำมาสู่ความปลอดภัยในการทำงาน 2 ประการ ได้แก่ 1. วัฒนธรรมองค์กร การให้ความสำคัญและการรับรู้ด้านความปลอดภัยของทุกองคาพยพในองค์กร ตั้งแต่ระดับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติ จะทำให้ความเสี่ยงลดน้อยลงและความปลอดภัยในการทำงานสูงขึ้น และ 2.ความสม่ำเสมอของการบังคับใช้นโยบายผ่านผู้นำองค์กร

ด้วยเหตุนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กำหนดเป้าหมาย ตั้งเป้าเป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมที่ตื่นตัวด้านความปลอดภัยจากการทำงานภายในปี 2568 (Proactive Safety Culture Company)

 

“ความปลอดภัยในการทำงาน (Health and Safety) จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยวิธีการทั้งแบบ Top-Down และ Bottom-Up กล่าวคือ การบังคับใช้ผ่านนโยบายและการมีส่วนร่วมของพนักงาน” วิศรุต อธิบาย

 

ปัจจุบัน ทรู คอร์ป ได้ใช้แพลทฟอร์ม True Connect เพื่อเป็นช่องทางภายในให้พนักงานมีส่วนร่วม โดยสามารถแจ้งจุดการทำงานที่ไม่ปลอดภัยต่อการทำงาน ขณะเดียวกัน กำลังพัฒนาช่องทางเฉพาะ โดยคาดการณ์เปิดตัวแพลทฟอร์มใหม่ราวต้นปี 2567