Releases

คุยกับ “เต๋า-สิรวิชญ์” ถอดวิธีคิดแบบนักดำน้ำ ทฤษฎีดำดิ่งสู่ท้องทะเลกับการสร้าง Growth mindset

20 มีนาคม 2563


เป็นที่รู้กันดีกว่าอาชีพที่โลดแล่นบนถนนสายการเงินต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายอย่าง ต้องมีความเร็ว รอบรู้ มีทักษะการวางแผนและคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ทางการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

เช่นเดียวกันผู้ชายคนนี้ “เต๋า – สิรวิชญ์ กลับดี” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานนักลงทุนสัมพันธ์ ดีแทค ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว โลดแล่นอยู่บนถนนสายการเงินมากว่า 20 ปี จากที่ปรึกษาทางการเงิน วาณิชธนกิจ พัฒนาการธุรกิจ สู่นักลงทุนสัมพันธ์ ภายใต้หลากหลายบทบาทและความเชี่ยวกรากของถนนสายการเงิน สิ่งที่จำเป็นมากคือ Growth Mindset หรือทักษะในการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เรียนรู้ และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝ่าฟันอุปสรรค พุ่งชนเป้าหมายอย่างสำเร็จ ซึ่ง secret sauce ของสิรวิชญ์คนนี้ ก็คือ “การดำน้ำ” งานอดิเรกที่เขามักออกจากฝั่ง ไปชื่นชมความงามของท้องทะเลอย่างสม่ำเสมอ

“ชีวิตผมผูกพันธ์กับท้องทะเลมาตั้งแต่เด็ก เพราะผมต้องย้ายตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำงานราชการ ซึ่งจุดที่ทำให้ผมสนใจโลกแห่งท้องทะเลก็คือที่ภูเก็ต ตอนนั้นประมาณปี 2530 หาดกะตะคือใสมาก สีฟ้าครามสุดลูกหูลูกตาเหมือนมัลดีฟในตอนนี้ ผมได้มีโอกาสดำน้ำตื้นหรือ Snorkeling ที่นี่บ่อย ๆ ซึ่งทำให้ได้เห็นความสวยงามของท้องทะเลที่น่าอัศจรรย์ใจ และนั่นก็เป็นจุดที่ทำให้ผมเริ่มสนใจการดำน้ำมากขึ้น”

“เมื่อเริ่มทำงาน ก็เริ่มสนใจที่จะเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อไปสัมผัสโลกแห่งท้องทะเลที่ใกล้ชิดมากขึ้น จึงไปเริ่มเรียนการดำน้ำลึกหรือ scuba diving”ครั้งแรกของการดำน้ำลึก

“ตอนนั้นทุลักทุเลมาก ทะเลของจริงต่างจากในสระ วันที่ไปน้ำขุ่นมาก แค่ยื่นมือออกไปจากตัวก็มองไม่เห็นมือตัวเองแล้ว แต่ก่อนไปก็ศึกษาข้อมูลมาบ้าง เรียนทฤษฎีมาแล้ว จึงพยายามควบคุมสติตัวเอง ไม่แพนิก” 

เพราะภาวะกดดันเกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป แน่นอนว่าการอยู่ใต้ท้องทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ความลึกหรือความมืด อาจทำให้เราเจอกับสภาวะกดดันได้ตลอด “เราต้องรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ แล้วทำอย่างมีแบบแผน การดำน้ำก็เช่นกันต้องมีการวางแผน เช่น ตรวจสอบสภาพอากาศ หรืออากาศจะหมดแล้วต้องขึ้นแล้ว ไม่ตกอกตกใจ มีสติเพื่อรู้ว่าตัวเอง อยู่ในสถานการณ์แบบไหนและจะต้องวางแผน อย่างไรให้ผ่านไปได้ และการดำน้ำนั้นเราแทบต้องเจอสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ออกไปเกือบทุกครั้ง การปรับตัวก็เป็นสิ่งสำคัญ”Mindset แบบนักดำน้ำทำให้เราไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

เขาชื่นชอบการดำน้ำแบบ muck diving หรือดำน้ำตามพื้นทราย เพราะด้วยความต้องการเข้าใจและเรียนรู้พฤติกรรม “สิ่งมีชีวิต” ที่อยู่ใต้ท้องทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างแปลก ขนาดเล็กที่อาศัยตามพื้นทราย และนั่นเป็นแรงบันดาลใจที่แท้จริงของการดำดิ่งสู่โลกใต้น้ำของสิรวิชญ์ เพื่อจับภาพหายากของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคอลเล็กชั่นสุดหวงของเขาเลยทีเดียว

“ถ้าเราต้องการดำน้ำเพื่อไปหาสัตว์ประเภทนึง เราต้องมีการศึกษามาก่อนว่า เขาอยู่ตรงไหน พฤติกรรมเป็นอย่างไร กินอะไร สมมติเขากินสาหร่าย การที่เราจะไปหาเขาที่กองไม้คงไม่เจอ ลองเปรียบเทียบกับการทำงานก็ต้องศึกษาภาวะแวดล้อมว่ามีอะไรอยู่บ้าง แล้วเราควรจะต้องวางแผนอย่างไร นำปัจจัยแวดล้อมมาวิเคราะห์ การมีสติก็มีประโยชน์ เพราะทำให้เราไม่แพนิกกับอะไรง่าย ๆ พื้นฐานการคิดทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เรามีความคิดที่พร้อมจะปรับตัวไปกับทุก ๆ สถานการณ์ได้ หรือ สำหรับนักดำน้ำแบบ Free diving บางคนที่ชอบท้าทายตัวเอง ความลึกก็อาจจะเป็นหนึ่งใน ความท้าทายของเขา จึงต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาความสามารถของตัวเอง และนั่นคือการพัฒนาการ Growth Mindset ของตัวผมเอง”“การเริ่มต้นดำน้ำ เมื่อสงสัยการไปเรียนคือการหาคำตอบ การฝึกคือการพัฒนาตัวเอง ความลึกความกลัวหรือจินตนาการที่เกิดขึ้น ระหว่างดำน้ำนั้นก็เหมือนกับภาวะแวดล้อมในการทำงาน มีสติและรู้ตัวเองทุกครั้ง วางแผนและหาข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหา เวลาผ่านไปเราจะสามารถปรับตัวได้ดี กับทุกสถานการณ์และกลายเป็นคงที่เก่งขึ้นได้แน่นอน”

“เวลาเจอเหตุการณ์ที่ตัดสินใจยาก ผมแนะนำว่าควร step back หันออกมาดูภาพใหญ่นิดนึงว่าการที่เราเจอสถานการณ์แบบนั้นเกิดจากเรื่องอะไร ต้องมองปัจจัยรอบตัว มาผสมผสานกัน มันมีหลายวิธีในการทำที่สามารถปฏิบัติได้เหมือนกัน อย่าไปกลัวกับสิ่งใหม่ ถ้าเรากลัววิธีการแก้ ก็พยายามศึกษา ปัจจัยแวดล้อม ข้อจำกัดของเราคืออะไร กรอบที่เราทำได้คืออะไร ดูว่ามันสอดคล้องกับสถานการณ์ตรงนั้นอย่างไร”

เสน่ห์ของโลกใต้ทะเลที่ทำให้หลงใหล

“เสน่ห์จริง ๆ ของโลกใต้ทะเลคือ ได้ไปรู้จักในสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสได้ง่าย ๆ ชอบไปดำน้ำที่ที่มีสัตว์ตัวเล็ก ๆ ประหลาด ๆ ไม่ค่อยพบเจอได้ง่ายที่ไหน และที่ที่ไปบ่อยที่สุดคือ ช่องแคบ Lembeh บริเวณเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำแบบ muck diving แต่สำหรับเมืองไทยเเล้ว ที่ ๆ ผมชอบไปมากที่สุด ก็คือ ทะเลอันดามัน หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก”

“ตลอดประสบการณ์การดำน้ำตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลอย่างชัดเจน ความสมบูรณ์ของท้องทะเลลดลง ขยะมากขึ้น เห็นปริมาณปลาฉลามในท้องทะเลที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มดำน้ำลึก และนี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผมเลิกรับประทานหูฉลามไปเลยตั้งแต่เริ่มดำน้ำลึก”

ทุกวันนี้ สิรวิชญ์ยังคงหาโอกาสในการเรียนรู้โลกใต้ทะเลอย่างเนือง ๆ ซึ่ง diving spot ใหม่ ๆ ที่เขาอยากมีโอกาสได้ไปสัมผัสคือ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะกาลาปากอส ทะเลแดงบริเวณอ่าวอาหรับ และหมู่เกาะฟิจิ เป็นต้น

เพราะโลกเรานั้นกว้างใหญ่ ยังมีอะไรให้เรียนอยู่ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เหมือนกับการดำน้ำ ที่ยังมี hidden gems อีกหลายที่ที่รอคอยการไปเรียนรู้ เปิดประสบการณ์ และท่องโลกกว้าง เหมือนกับการเรียนรู้ของคนเราไม่มีที่สิ้นสุด และนี่คือเคล็ดไม่ลับของการสร้าง Growth Mindset ในแบบฉบับนักการเงินแบบ สิรวิชญ์

 

 

 


Related Content