บทความโดย ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค
ความสามารถในการปรับตัวและยืนหยัด (resilience) ของมนุษย์นับเป็นสิ่งน่าทึ่ง และบริการโทรคมนาคมนั้นเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้สังคมสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรก ดีแทคเห็นการเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ในกลุ่มแอปพลิเคชันซึ่งลูกค้าของเราใช้สำหรับการเรียนและทำงานภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง อาทิ แอปพลิเคชันสำหรับการประชุมทางไกล และการทำงานร่วมกันบนคลาวด์
ในช่วงของการแพร่ระบาดในระลอกสามนี้ เราเห็นการใช้งานดาต้าเติบโตขึ้น 2 เท่าในโรงพยาบาลสนาม ในยามที่ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ต้องพึ่งพาบริการการเชื่อมต่อ เพื่อติดตามข่าวสารสำคัญ และติดต่อกับครอบครัวและคนที่รัก
และคงไม่มีใครคาดคิดว่าพนักงานดีแทคในสำนักงานใหญ่กว่า 96 เปอร์เซ็นต์จะหันมาทำงานจากที่บ้าน
แม้ตัวอย่างเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงทักษะในการปรับตัวและยืนหยัดของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจอาจไม่ได้มีความยืดหยุ่นเท่ากับตัวบุคคล และประเทศไทยเองก็กำลังประสบกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการ ‘คิดใหม่ ทำใหม่ (rethink)’ เพื่อสร้างธุรกิจที่สามารถยืนหยัดได้ในเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19
แล้วธุรกิจจะปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก และมีรูปแบบการดำเนินงานที่ยั่งยืนอันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ที่ดีแทค เราเชื่อว่าการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible business) นั้นคือคำตอบ
ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล
การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้การใช้งานช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง สำหรับบริการทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน นี่นับเป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับภาคธุรกิจในการสร้างความแข็งแกร่งยืดหยุ่น ผ่านการพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย สะดวก และต่อเนื่องแม้ในช่วงล็อกดาวน์
อย่างไรก็ดี วิกฤตโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจจำนวนมากที่พึ่งพาการขายสินค้าหน้าร้านเป็นหลัก และเพิ่มความเสี่ยงด้านความเหลื่อมล้ำในกลุ่มคนที่ไม่มีทักษะทางดิจิทัล
ที่ดีแทค เรารับมือกับช่องว่างดังกล่าว ผ่านการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่สนุก ดึงดูด และตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลสำหรับลูกค้าของเรา ซึ่งผลลัพธ์นั้นสะท้อนให้เห็นผ่านการเติบโตของ dtac app ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าในระบบเติมเงินและในต่างจังหวัด ซึ่งอัตราการใช้งานนั้นเติบโตราวสองเท่า
ในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทนั้น ความครอบคลุมของสัญญาณเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดีแทคมุ่งพัฒนาความครอบคลุมของสัญญาณ ผ่านการติดตั้งเสาใหม่บนคลื่น 700 MHz เฉลี่ย 1 เสาทุก 1 ชั่วโมง เพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้งานของดีแทคในพื้นที่ต่างจังหวัดและให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
เรายังจัดโครงการฝึกอบรมให้ลูกค้าของเราสามารถใช้ประโยชน์จากบริการการสื่อสารได้สูงสุด โดยค่าย Safe Internet ของเรานั้นสอนเด็กและเยาวชนรู้จักวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ และทีมดีแทค เน็ตทำกินของเรายังเข้าไปติดปีกทักษะดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ เราได้พัฒนาหลากหลายโซลูชันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เส้นทางดิจิทัลของธุรกิจ SME อย่างปลอดภัยและยืดหยุ่น ด้วยคลาวด์โซลูชันที่ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านเซิรฟ์เวอร์หรือมีทีมไอทีไว้คอยดูแล
ในยามที่การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นทวีความสำคัญในฐานะตัวกลางเพื่อเข้าถึงบริการทางการเงิน การศึกษา และบริการด้านสุขภาพ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีบทบาทในการร่วมส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางดิจิทัลได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ใกล้แค่เอื้อม?
วิกฤตถัดไปที่จะสร้างผลกระทบต่อประเทศไทยอาจไม่ใช่วิกฤตโรคระบาด แนวชายฝั่งยาวของประเทศไทย ความเปราะบางของระบบการเกษตร และแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนั้น ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจากผลการศึกษาของ Global Climate Risk Index ในปี 2564 พบว่าประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งนี่เป็นประเด็นที่เราต้องคอยจับตาในขณะที่เราทุ่มทรัพยากรไปกับการรับมือวิกฤตโควิด-19
นอกจากภัยพิบัติธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อระบบการเกษตรและสุขภาพแล้ว สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วยังอาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงัก อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยเมื่อปี 2554 นั้นได้ทำให้เกิดการขาดแคลนฮาร์ดไดรฟ์เป็นระยะเวลาหลายเดือน
ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย เราต้องดูแลให้บริการของเราไม่หยุดชะงัก บริการการเชื่อมต่อบนเครือข่ายมือถือ (mobile connectivity) นั้นเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไป และดีแทคนั้นได้นำโซลูชันการทำงานแบบยืดหยุ่นมาใช้ เพื่อให้เรายังคงสามารถปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง แม้จะมีการปิดพื้นที่สำนักงานใหญ่และคอลเซ็นเตอร์ลงก็ตาม เรายังทำให้ห่วงโซ่อุปทานในจังหวัดต่างๆ ของเรามีความกระชับยิ่งขึ้น และเพิ่มอัตราการใช้งานช่องทางดิจิทัลในกลุ่มตัวแทนขายของเรา
ในระยะยาว ดีแทคนั้นมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 สอดคล้องกับเป้าหมาย Science Based Targets initiative (SBTi) ซึ่งเป็นการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส เพื่อมุ่งจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
เช่นเดียวกัน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นจำเป็นต้องอาศัยแรงผลักดันจากภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง และราคาค่างวดที่ต้องจ่ายจากความพยายามดังกล่าวนั้นเทียบไม่ได้เลยกับราคาที่สังคมต้องจ่ายในอนาคตจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เปลี่ยนแปลงเพื่อยืนหยัด
หลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของดีแทคนั้นประกอบด้วย 7 เสาหลัก ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติที่ดีแทคให้ความสำคัญ นับตั้งแต่ประเด็นด้านธรรมาภิบาล ข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาทักษะดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการสร้างสุขภาวะในที่ทำงาน ซึ่งในภาพรวมนั้น ทั้ง 7 เสาหลักจะเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงสำหรับทั้งดีแทคเอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราทุกกลุ่ม
ในทางกลับกัน องค์กรที่ดำเนินงานโดยปราศจากแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance: ESG) ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลนั้น จะมีความสามารถในการยืนหยัดต่อสภาวะวิกฤตได้ต่ำ และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจหรือชื่อเสียงนั้นอาจเป็นภัยคุกคามต่อความสามารถในการยืนหยัดของตัวธุรกิจเองแม้ภายใต้สถานการณ์ปกติก็ตาม และมีแนวโน้มจะนำมาซึ่งผลกระทบร้ายแรงหากต้องเผชิญกับวิกฤต
ดีแทคเชื่อมั่นว่าแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบทั้ง 7 เสาหลักนั้น จะช่วยสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับเราในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายที่ลูกค้าไว้วางใจ การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (corporate citizen) นั้นเป็นหัวใจสำคัญยิ่งต่อสิทธิในการดำเนินธุรกิจของดีแทคและจุดมุ่งหมายของเราในการเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้สังคม