Releases

โครงการ dtac Safe Internet และพอดแคสต์สำรวจสุขภาพจิต R U OK ชวนเยาวชนไทยมาร่วม ‘ฝึกใจให้เห็นหัวใจ’ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันบนโลกออนไลน์

29 กรกฎาคม 2563


29 กรกฎาคม 2563 – โครงการ dtac Safe Internet ร่วมกับรายการ R U OK พอดแคสต์สำรวจสุขภาพจิต แห่งสำนักข่าวออนไลน์ The Standard ในการสร้างสรรค์พอดแคสต์ตอนพิเศษจำนวน 8 ตอน เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์ (digital resilience) ให้กับเยาวชนไทยและผู้ปกครอง รายการ R U OK นั้นดำเนินรายการโดย คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารอย่างเห็นอกเห็นใจ (empathic communication) ชื่อดัง และออกอากาศทุกวันอังคาร ระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม ถึง 8กันยายน 2563

พอดแคสต์ตอนพิเศษ ‘Safe Internet ฝึกใจให้เห็นหัวใจ’ นี้สนับสนุนโดยโครงการ dtac Safe Internet ในแต่ละตอน พิธีกรจะหยิบยกสารพัดความท้าทายที่เด็กและเยาวชนต้องเผชิญบนโลกออนไลน์ นับตั้งแต่ข้อความเชิง hate speech ข่าวลวง ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ มาบอกเล่าพร้อมสอดแทรกคำแนะนำที่ใช้ได้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์และลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ปกครอง นอกจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ แล้ว ทางดีแทคยังได้เชิญชวนเยาวชนจากค่าย Safe Internet และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังโครงการ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ในพอดแคสต์ตอนที่ 7 ‘เปลี่ยนประเด็นในการพูดคุยเป็น Crowdsourcing contribute idea วิธีหยุดไซเบอร์บูลลี่’ อีกด้วย

รายการ R U OK เป็นที่รู้จักในฐานะพอดแคสต์สำรวจสุขภาพจิต ซึ่งหยิบยกประเด็นใกล้ตัวต่างๆ อาทิ สุขภาพจิต ครอบครัว ความสัมพันธ์ ไปจนถึงเรื่องเพศวิถี มาพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา โดยคุณดุจดาว พิธีกรของรายการ นักเขียน และนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคนแรกของประเทศไทยนั้น ต้องการใช้พอดแคสต์เป็นสื่อกลางในการช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองและผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น

นางอรอุมา วัฒนะสุข ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า “โครงการ dtac Safe Internet นั้นได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 และยังคงเดินหน้าสร้างความตระหนักถึงภัยบนโลกออนไลน์ในกลุ่มเยาวชน ผู้ปกครอง และบุคลากรครูอย่างต่อเนื่อง ในงานวิจัยที่ดีแทคร่วมมือกับ Wisesight นั้น พบว่าในประเทศไทยมีการโพสต์ข้อความสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์เฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาที สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ (digital resilience) อันเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยรับมือกับภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ในพอดแคสต์จำนวนทั้ง 8 ตอนนี้ เราทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา เยาวชน และวิทยากรจากค่าย Safe Internet เพื่อนำเสนอแนวทางการท่องโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นให้กับเด็กและผู้ปกครอง และให้พวกเขาได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่ออย่างแท้จริง นอกจากนี้ เรายังพยายามกระตุ้นให้เกิดการสื่อสารเชิงบวกระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อช่วยรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามออนไลน์อีกด้วย

สามารถติดตามพอดแคสต์ตอนพิเศษทั้ง 8 ตอนได้ ที่นี่

  1. ทำแค่ไหนถึงเรียกว่าไซเบอร์บูลลี่
  2. ทำไมเพื่อนทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเมื่อเราถูกบูลลี่
  3. นิยาย Y ความบันเทิงของเด็กรุ่นใหม่แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ
  4. แยกแยะข่าวจริงข่าวปลอมอย่างไร และเรื่องแบบไหนที่ไม่ควรแชร์
  5. “อีตุ๊ด” ความไม่เข้าใจความแตกต่าง ต้นเหตุแห่งไซเบอร์บูลลี่
  6. จะบอกพ่อแม่อย่างไร เมื่อถูกบ่นว่าเอาแต่เล่นมือถือในยุคสังคมก้มหน้า
  7. เปลี่ยนประเด็นในการพูดคุยเป็น Crowdsourcing contribute idea วิธีหยุดไซเบอร์บูลลี่
  8. การล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์

ทั้งนี้ ในปี 2562 ดีแทคเคยร่วมกับสำนักข่าว The Standard ในการสร้างสรรค์พอดแคสต์ Super Productive ซึ่งถ่ายทอดแนวคิดและคำแนะนำในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ชีวิตและการทำงาน จากประสบการณ์ตรงของนักเขียนและผู้ประกอบการชื่อดัง รวิศ หาญอุตสาหะ


Related Content