Releases

เผยรายชื่อเมืองรองที่ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืน เน้นสร้าง Fanbase – แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม- เพิ่มโอกาสพัฒนาท้องถิ่น

05 กันยายน 2565


อีกหนึ่งยุทธศาตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองที่น่าสนใจจากผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ (mobility data) คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-based overnight tourism) ในเมืองรอง

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ใน “การพักค้าง” เป็นดัชนีหนึ่งในการวัดความสำเร็จของการท่องเที่ยว เมืองที่มีผู้พักค้างมากถือเป็นเมืองที่มีความสำเร็จด้านการท่องเที่ยว เพราะการพักค้างทำให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่มากกว่าการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเชิงการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัด

นอกจากนี้ การพักค้างยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมร่วมและปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่น ยิ่งพักค้างหลายวันยิ่งมีโอกาสได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อประสบการณ์ใหม่นั้น มีเป้าหมายในการสร้างฐานแฟนคลับ (Fanbase) ของเมืองนั้นๆ ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่เน้น “คุณภาพ”

กล่าวคือ ทำให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวซ้ำ นักท่องเที่ยวอาจมีการอุดหนุนสินค้าอื่นๆ แม้จะกลับมายังภูมิลำเนาแล้ว และนี่คือความสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพักค้างที่จะนำมาสู่ “ความยั่งยืน” ทางเศรษฐกิจเชิงการท่องเที่ยวในระยะยาว

“การท่องเที่ยวไม่ได้มีมิติทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อมิติทางสังคมโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมและประสบการณ์ (Experience and Cultural Exchange) ซึ่งนี่คือผลกระทบเชิงบวกที่การท่องเที่ยวสามารถส่งมอบให้กับท้องถิ่น” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าว

3 เทรนด์การท่องเที่ยวแบบพักค้าง

การท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ มีแนวโน้มสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

ในปัจจุบันจะเห็นว่า มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งพยายามพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนในรูปแบบการสร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือน ซึ่งพบว่ามีแนวโน้มในการออกแบบการท่องเที่ยวแบบค้างคืนมีแนวโน้มที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่

1. การพัฒนารูปแบบการพักค้างที่แปลกใหม่ ตัวอย่างเช่นการพัฒนาที่พักแบบ car camping  ที่พักแบบ glamping  ที่พักแบบบ้านต้นไม้  เป็นต้น

2. การจัดการกิจกรรมภายในที่พักที่มีเอกลักษณ์ ที่พักหลายแห่งพยายามจัดให้มีกิจกรรมที่น่าสนใจเพื่อให้บริการกับผู้มาพักแรม เช่น การสอนทำอาหารโดยเชฟชื่อดังในที่พัก  การจัดที่กิจกรรมโยคะส่งเสริมสุขภาพยามเช้า  การร่วมกับเจ้าของที่พักในการออกเรือจับปลาหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

3. การส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงแรมและที่พักที่ร่วมมือกับชุมชนรอบข้างเพื่อจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ทำความรู้จักวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในชุมชน  ตัวอย่างเช่นโรงแรม Once Again Hostel ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่ร่วมมือกับชุมชนรอบข้างจัดโปรแกรมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในพื้นที่ หรือกรณีของโรงแรม The Tamarind Village ในเชียงใหม่ที่มีการจัดทัวร์เดินชมวัดและโบราณสถานรอบๆ โรงแรม

การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เข้าพักนับเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบพักค้าง ดังเห็นได้จากในปัจจุบันเว็บไซต์ Airbnb ได้จัดโครงการ airbnb experiences เพื่อเปิดโอกาสให้โฮสต์เจ้าของที่พักได้นำเสนอกิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์สุดพิเศษแก่ผู้มาพักแรม ทั้งในรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบคนท้องถิ่น และกิจกรรมแชร์ความรู้ความสามารถของโฮสต์ให้กับผู้เข้าพัก เช่น การสอนทำเครื่องหนังอิตาลี  การทำขนมปัง  การนั่งสมาธิ เป็นต้น

การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเมืองรองในเวลากลางวันและกลางคืน


เนื่องด้วยลักษณะที่แตกต่างทำให้เมืองรองแต่ละจังหวัดอาจมีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบค้างคืนได้ไม่เท่ากัน  โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ที่ดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บดำเนินการร่วมกันจึงใช้ Mobility data ในการวิเคราะห์ศักยภาพและแนวโน้มความสำเร็จของแต่ละจังหวัดเมืองรองในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่  การวิเคราะห์ศักยภาพได้ใช้ Mobility data ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 – ตุลาคม 2564 วัดศักยภาพของเมืองรองใน 3 ด้าน ได้แก่

1. ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืน ตัวชี้วัดนี้ช่วยทำให้ทราบถึงจังหวัดเมืองรองที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเดินทางไปพักค้างเป็นจำนวนมากในปัจจจุบัน  ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีจังหวัดเมืองรองบางแห่งที่มีการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของจังหวัดเมืองรองทั้งหมดถึง 2 –5 เท่า โดยแต่จังหวัดที่มีการเดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างเข้ามาในจังหวัดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครศรีธรรมราช  นครสวรรค์  บุรีรัมย์ และพิษณุโลก ตามลำดับ

 

2. สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวแบบพักค้างที่อยู่ในจังหวัดในเวลากลางคืนต่อจำนวนที่อยู่ในเวลากลางวัน ด้วยอาณุภาพของ Mobility data ทำให้เราสามารถทราบจำนวนนักท่องเที่ยวแบบพักค้างที่อยู่ในเมืองแต่ละจังหวัดในเวลากลางวันและกลางคืนได้อย่างชัดเจน การวิเคราะห์สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวแบบพักค้างที่อยู่ในจังหวัดในเวลากลางคืนต่อจำนวนที่อยู่ในเวลากลางวันทำให้ทราบว่าเมืองรองแต่ละแห่งมีความสามารถในการดึงดูดให้ผู้มาเยือนพักค้างได้มากน้อยเพียงใด โดยเมืองที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ ตราด (36.4%) น่าน (36.2%) ระนอง (35.8%) แม่ฮ่องสอน (35.6%) และเชียงราย (34.3%)  ในขณะที่จังหวัดที่เรียกได้ว่าเป็น “ทางผ่าน” ยอดฮิต แต่มีคนแวะพักค้างน้อยกว่าเมืองรองอื่นๆ ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท สมุทรสงคราม และลำพูน ซึ่งมีสัดส่วนผู้มาเยือนที่พักค้างในจังหวัดอยู่สัดส่วน 19 – 22%

 

3. สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่สามารถดึงดูดได้จากจังหวัดอื่นในระยะ 150 กิโลเมตร การดึงดูดผู้พักค้างจากจังหวัดโดยรอบเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้นการมาพักค้างซ้ำของเมืองรอง ตัวชี้วัดนี้จึงแสดงถึงความสามารถในการดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวแบบพักค้างจากจังหวัดโดยรอบโดยวัดจากสัดส่วนปริมาณการเดินทางมาพักค้างในจังหวัดเมืองรองจากจังหวัดโดยรอบในระยะ 150 กิโลเมตรต่อปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวพักค้างที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันทั้งหมด  ซึ่งพบว่า จังหวัดเมืองรองที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบพักค้างจากพื้นที่โดยรอบได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ นครศรีธรรมราช (11%) เชียงราย (10%) อุบลราชธานี ลำปางและเพชรบูรณ์ (7%)

เมื่อนำผลจากตัวชี้วัดทั้งสามมาพิจารณาร่วมกันจะพบว่า จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบค้างคืนในระดับสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดเมืองรองด้วยกันเองประกอบด้วย 21 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม สตูล ตรัง และชัยภูมิ  จังหวัดเหล่านี้นับเป็นจังหวัดที่สมควรส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพักค้างเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เพิ่มเวลาในการพำนักในพื้นที่ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนโดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน

“ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ตัวชี้วัด จะช่วยชี้แนวทางให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดของตนเองมากขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ ชี้แนะ

ตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีความสามารถในการดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวจากจังหวัดโดยรอบได้ในสัดส่วนสูงแสดงถึงโอกาในการพัฒนากิจกรรมที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมาเยือนซ้ำ เช่น การร่วมกันปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลตามฤดูกาล  กิจกรรมการเรียนรู้การทำหัตถกรรมที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ  การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ เป็นต้น  ในกรณีที่เป็น “จังหวัดทางผ่าน” ที่ผู้มาเยือนเลือกแวะพักแรมในสัดส่วนต่ำทั้งที่มีนักท่องเที่ยวแบบพักค้างเดินทางมาเยือนในเวลากลางวันเป็นจำนวนมาก อาจแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่ดึงดูดให้เกิดการพักค้างมากขึ้น เช่น

การแสดงยามค่ำคืน  การทำไลท์อัพโบราณสถานและอาคารสวยงาม  การจัดทริปชมดาว  การจัดทัวร์ผจญภัยยามค่ำคืน เป็นต้น

อัตลักษณ์ที่งดงามและที่พักที่ได้มาตรฐาน คือ กุญแจสำคัญ

ผลการสำรวจโดยคณะผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต้องการเดินทางมาเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในท้องถิ่นมักให้ความสำคัญกับทัศนียภาพ อาหาร สินค้า และกิจกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนั้น ในการเลือกที่พักนักท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของที่พัก ความใกล้ชิดกับธรรมชาติ ความเป็นส่วนตัว และการให้บริการของโฮสต์เจ้าของที่พัก  ดังนั้นการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบพักค้างเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในจังหวัดเมืองรองต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการร่วมกันรักษาดูแลทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ให้คงไว้ซึ่งความงามและคุณค่า มีการสร้างข้อตกลงในการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุล และร่วมกันรณรงค์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ร่วมกันพัฒนาสินค้าและการบริการที่ได้มาตรฐาน สะท้อนอัตลักษณ์และคุณค่าของพื้นที่อย่างแท้จริง

“การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ ในการรักษาอัตลักษณ์และคุณค่าของเมือง ไปพร้อมกับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว สินค้า บริการ และที่พักในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ลดการสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการท่องเที่ยวแบบค้างคืนและเพิ่มเวลาการอยู่ในพื้นที่ของนักท่องเที่ยว  นอกจากนั้นยังเป็นหนทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองให้เกิดความยั่งยืน”  ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย