องค์การอนามัยโลกระบุว่า ศิลปะสามารถช่วยนำพาอารมณ์ความรู้สึกของคนเราให้ต่อสู้กับโรคหรืออาการบาดเจ็บได้ นอกจากนี้การสร้างสรรค์และความเพลิดเพลินในศิลปะยังช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวมและเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการฟื้นตัว
เช่นเดียวกับการพัฒนาทักษะของบุคคลออทิสติก ที่มูลนิธิออทิสติกไทยเห็นความสำคัญในการใช้ศิลปะเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างเสริมพัฒนาการ ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ รวมไปถึงประสาทสัมผัส สมาธิ การเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการที่ทำให้บุคคลออทิสติกดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด
จากจุดเริ่มต้นที่ศิลปะเป็นเครื่องมือฟื้นฟูเยียวยา ต่อมาศิลปะได้กลายมาเป็นเครื่องมือโชว์ศักยภาพ สร้างอาชีพและรายได้ และในเวลานี้ศิลปะกำลังช่วยสื่อสาร และสร้างความเข้าใจ ระหว่างบุคคลออทิสติกและคนทั่วไป ผ่านพื้นที่เล็กๆ ที่มีชื่อว่า ARTSTORY Creative Hub
ความพิเศษของพื้นที่เล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์
ภายในมูลนิธิออทิสติกไทย ที่ตั้งอยู่ในย่านราชพฤกษ์ มีอาคารหลังเล็กหนึ่งชั้น ด้านหนึ่งคือร้านกาแฟ True Coffee ส่วนอีกด้านเป็นสตูดิโอขนาดย่อมสำหรับทำเวิร์กช็อปงานศิลปะที่มีชื่อว่า ARTSTORY Creative Hub ความพิเศษของที่นี่ คือพนักงานเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลออทิสติก ที่ผ่านการฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิต และพัฒนาทักษะทางอาชีพให้ทำงานได้เต็มศักยภาพและความถนัดของพวกเขา
“เมื่อก่อนคนบอกว่า เป็นออทิสติกแล้วไม่หาย แต่วันนี้ผมเชื่อว่า ฟื้นฟูจนดีขึ้น หลายคนอาจจะหายก็ได้” อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย เล่า “อย่างที่เราเห็นน้องบาริสต้า หรือผู้ช่วยสอนศิลปะในที่นี้ หลายคนก็ดูไม่ออกว่ามีภาวะออทิสติก แต่ถ้าได้เห็นพวกเขาตั้งแต่วันที่ก้าวเข้ามาในมูลนิธิ จะรู้เลยว่า ตอนนี้เขาเป็นคนละคนกันเลย”
เมื่อศิลปะคือเครื่องมือฝึกหัดฟื้นฟูทักษะทางกาย จิตใจ และการใช้ชีวิต
หนึ่งในภารกิจสำคัญของมูลนิธิออทิสติกไทยคือ การสนับสนุนและเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของบุคคลออทิสติก ซึ่งที่ผ่านมาอาจารย์ชูศักดิ์ ใช้ศิลปะเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกลุ่มเด็กออทิสติก โดยเป็นทั้งการฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการจับดินสอ ปากกาหรือพู่กัน พร้อมไปกับการใช้สมาธิจากการลงมือทำ
“เริ่มจากวาดในสิ่งที่พวกเขาชอบก่อน จากนั้นก็ขยับไปในแนวอื่นๆ เพื่อไม่ให้ยึดติดทำแบบเดิม แล้วก็ค่อยๆ เสริมทักษะอื่นเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการเขียน การอ่าน หรือการเรียนรู้ที่จะทำตามขั้นตอนต่างๆ ได้”
นอกจากนี้อีกหนึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฟื้นฟูทักษะต่างๆ ในการใช้ชีวิต “พฤติกรรมของภาวะออทิสติกคือ ทำซ้ำแบบเดิม ถ้ามากเกินไปก็กลายเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนยาก การที่เด็กๆ ได้ลองทำงานศิลปะที่หลากหลาย กลายเป็นช่วยให้พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตที่เคยทำซ้ำๆ ได้เช่นกัน ทางบ้านก็มีฟีดแบ็กกลับมาว่า ดูแลลูกได้ง่ายขึ้น” อาจารย์ชูศักดิ์อธิบาย
งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์สร้างอาชีพที่เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
ภายในแกลลอรีขนาดย่อมข้างห้องสตูดิโอแสดงภาพศิลปะที่สวยงามแปลกตาอันเกิดจากมุมมองของศิลปิน “พวกเขามีมุมมองต่อโลกแตกต่างจากคนทั่วไป โดยคิดและจดจำทุกอย่างเป็นภาพไว้ เมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะจึงมีความสวยงามเฉพาะตัว” อาจารย์ชูศักดิ์กล่าวระหว่างที่พาเดินชมผลงาน
เบื้องหลังผลงานภาพวาดแต่ละชิ้นคือ ความตั้งใจฝึกฝน ค้นหาศักยภาพ และแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในด้านทักษะการเรียนรู้และฝีมือทางศิลปะของศิลปินออทิสติก ความโดดเด่นของศิลปะเหล่านี้กลายเป็นที่มาของโครงการ ARTSTORY By Autistic Thai ที่นำชิ้นงานมาพัฒนาเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างรายได้กลับมา
และเมื่องานศิลปะสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ มูลนิธิจึงจัดตั้งเป็น บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม ขึ้น โดยใช้ชื่อแบรนด์ ARTSTORY ที่รายได้และกำไรจะคืนกลับให้กับบุคคลออทิสติกที่ได้ร่วมทำงาน หลายคนกลายเป็นศิลปินที่มีฝีมือโดดเด่นจนได้รับการติดต่อจากแบรนด์ชั้นนำให้ไปสร้างสรรค์ผลงานบนสินค้าในเทศกาลพิเศษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า เสื้อยืด ผ้าพันคอ สมุด แก้วน้ำ ไปจนถึงลวดลายบนสินค้าหลายแบรนด์ ทำให้พวกเขาสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
ARTSTORY Creative Hub คือพื้นที่ที่ใช้พลังแห่งศิลปะสื่อสารความรู้สึกและแรงบันดาลใจ
จากศักยภาพด้านศิลปะของกลุ่มศิลปินออทิสติกที่มีความเชี่ยวชาญ ทางมูลนิธิฯ จึงต้องการพื้นที่ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาสร้างสรรค์ศิลปะร่วมกับศิลปินออทิสติก ARTSTORY Creative Hub จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น ที่สร้างเป็นส่วนต่อขยายของร้าน True Coffee สาขามูลนิธิออทิสติกไทย และมีคอร์สศิลปะ หลากหลาย ทั้งงานวาด งานปั้น งานปัก หรืองานภาพพิมพ์ เรียกได้ว่าใช้พลังของศิลปะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลออทิสติกกับคนในสังคมในหลากหลายมิติต่อไปนี้
Building an Inclusive Space เป็นพื้นที่ต้นแบบที่สร้างประสบการณ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้ศักยภาพของบุคคลออทิสติก
Embracing Diversity เปิดให้สังคมได้เห็นความสามารถเฉพาะตัวของพวกเขา ยอมรับและเห็นคุณค่าของความหลากหลาย และทำให้บุคคลออทิสติกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน
Skill Development and Empowerment บุคคลออทิสติกจะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม การสื่อสาร ที่ทำให้พวกเขามีความมั่นใจ พร้อมไปกับพัฒนาทักษะทางอาชีพของตัวเอง
Creative inspiration ศิลปะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในสังคม รวมถึงบุคคลออทิสติกที่กำลังเรียนรู้ ฝึกฝนที่จะเป็นศิลปินออทิสติกต่อไปได้
“เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้ มองบุคคลออทิสติกเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งทุกคำพูดที่เราได้พูดคุยสื่อสารกันนั้น พวกเขาจะจดจำไว้ เมื่อเวลาที่ต้องออกไปเจอพบปะผู้คนทั่วไป พวกเขาก็จะรู้ว่าต้องพูดคุยแบบไหน ใช้คำพูดอย่างไรกับคนทั่วไปในสังคม” อาจารย์ชูศักดิ์ เน้นย้ำ
การเปิดพื้นที่ของ ARTSTORY Creative Hub เป็นหนึ่งโครงการเพื่อบุคคลออทิสติกและครอบครัวที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ และทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมสนับสนุนมาตลอด 11 ปี เริ่มตั้งแต่การพัฒนาแอปพลิเคชัน True Autistic เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการฝึกพัฒนาการในชีวิตประจำวัน การสร้างอาคารเพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อการทำงานบุคคลออทิสติก การฝึกอบรมบาริสต้าทรูคอฟฟี่เพื่อประกอบอาชีพ และ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ ที่ผ่านมาสร้างประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกกว่า 17,731 คน โดยมีบุคคลออทิสติกได้รับการจ้างงานตามกฎหมายจ้างงานคนพิการมาตรา 33/35 เป็นจำนวน 186 คน สร้างรายได้ให้บุคคลออทิสติกและครอบครัวถึง 300 ล้านบาท
เราอยากให้ทุกคนที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้ มองบุคคลออทิสติกเป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งทุกคำพูดที่เราได้พูดคุยสื่อสารกันนั้น พวกเขาจะจดจำไว้ เมื่อเวลาที่ต้องออกไปเจอพบปะผู้คนทั่วไป พวกเขาก็จะรู้ว่าต้องพูดคุยแบบไหน
ใช้คำพูดอย่างไรกับคนทั่วไปในสังคม
แม้แตกต่าง แต่อยู่ร่วมกันได้
แม้ในเวลานี้ มูลนิธิออทิสติกไทยได้สร้างแนวทางอาชีพและรายได้ให้กับบุคคลออทิสติกได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ความตั้งใจที่เป็นแก่นแท้นั้นคือ การสร้างความเข้าใจและพิสูจน์ให้เห็นว่า บุคคลออทิสติกเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีและสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าให้กับสังคมได้เช่นเดียวกับเราทุกคน
“บุคคลออทิสติกมีความสามารถมากกว่าที่หลายคนคิด พวกเขามีศักยภาพที่พัฒนาได้ ฝึกฝนได้ และสามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ ตอนนี้เราก็มีนักเขียนนิยายที่มีผลงานตีพิมพ์แล้ว และมีนักศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ที่อยากก้าวไปเป็นอาจารย์ แต่เส้นทางของพวกเขาไม่ง่าย ต้องมีการเตรียมความพร้อม ทำงานร่วมกันระหว่างพ่อแม่ คุณครู เพื่อให้เขาก้าวไปสู่เป้าหมาย”
เส้นทางที่วางรากฐานให้บุคคลพิเศษกลุ่มนี้ได้มีเข้าถึงสิทธิ์ที่พึงได้เทียบเท่ากับคนทั่วไปอาจต้องใช้เวลาและการผลักดันจากหลายภาคส่วน แต่อย่างน้อยการที่มีพื้นที่อย่าง ARTSTORY Creative Hub นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่อาจารย์ชูศักดิ์หวังว่าจะจุดประกายให้ผู้คนโอบรับความหลากหลายและสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมกันได้ในที่สุด
“เราทุกคนในสังคมล้วนมีความแตกต่าง ผมอยากให้มองว่าบุคคลออทิสติกก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นกัน ซึ่งถ้าเรามีความเข้าใจ เคารพและยอมรับความหลากหลาย ทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้” อาจารย์ชูศักดิ์ ทิ้งท้าย