หลายครั้งที่เรามักมีข้ออ้างในการทิ้งขยะแบบ “ตามใจฉัน” ทิ้งทุกอย่างรวมกัน เพราะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ขยะที่ทิ้งไว้ก็นำไปทิ้งรวมกันอยู่ดี
จากข้อมูลของฝ่ายอาคารสถานที่ของดีแทคพบว่า ในปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ดีแทคผลิตขยะปริมาณรวมทั้งสิ้น 281 ตัน และอีกกว่า 200,000 ชิ้นเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโครงข่ายสัญญาณ
dtac blog มีโอกาสได้พุดคุยกับ คุณบอม – กุลธวัช สินธุเสก ผู้อำนวยการ ฝ่ายอาคารสถานที่ของดีแทค หน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในอาคารสถานที่ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นที่ dtac house จัตุรัสจามจุรี สำนักงานคอลเซ็นเตอร์ที่ศรีนครินทร์ และรังสิต คลอง 5
คุณบอมเล่าว่า เดิมที เรายังไม่ได้มีการคัดแยกขยะอย่างเป็นรูปธรรมนัก โดยจะแยกส่วนที่พอแยกได้ เช่น ขวดพลาสติก และลังกระดาษ เพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนขยะประเภทอื่นจะถูกทิ้งรวมกัน และรวบรวมนำไปที่ทิ้งขยะของฝ่ายอาคารจัตุรัสจามจุรี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่
แต่ในปัจจุบัน ดีแทค โดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายความยั่งยืน (Sustainability) โดยมีคุณนริภรณ์ เลิศวัฒนาเสรี ผู้ดูแลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม และฝ่ายอาคารสถานที่ (Facility) โดยมีคุณ วิภาดา มนูทัศน์ และ คุณตฤณธพัฒน์ อัครวาณิชวัฒน์เป็นแกนนำในการริเริ่มการจัดการขยะในรูปแบบใหม่ภายใต้โครงการ “ทิ้งให้ดี” ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีการคัดแยกขยะอย่างชัดเจนและจัดหาซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญในการรีไซเคิลขยะแต่ละประเภทมาจัดการต่อไป ทำให้เส้นทางการจำกัดขยะในแต่ละประเภทถูกกำจัดอย่างถูกวิธี
เปิดขั้นตอนใหม่ “ทิ้งให้ดี”
การบริหารจัดการขยะภายใต้โครงการ “ทิ้งให้ดี” จะมีถังขยะสำหรับขยะ 6 ประเภท โดยแต่ละถังจะมีคำแนะนำและภาพประกอบเป็นตัวอย่างขยะ เพื่อให้เพื่อนพนักงานเข้าใจและสามารถคัดแยกขยะได้ดัวยตนเองอย่างง่ายดาย
พร้อมกันนี้ ยังได้รจัดอบรมแม่บ้าน เพื่อให้ทราบถึงวัตถุประสงค์และให้ความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยก กำหนดขั้นตอนและวิธีการคัดแยก การติดตามตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า ขยะแต่ละประเภทมีการคัดแยกและนำส่งอย่างถูกต้อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระบวนการจัดการขยะภายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“การแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภท จะช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลาการทำงานและภาระของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นหมายความว่า ทุกคนในบริษัทมีส่วนช่วยในการลดปริมาณขยะและการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมโดยเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะที่ถูกวิธี” คุณบอม กล่าว
สำรวจเส้นทางขยะ 6 ประเภท
สำหรับถังขยะในรูปแบบใหม่นั้น ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการทิ้งมากขึ้น จัดวางไว้ชั้นละ 2 แห่ง รองรับขยะได้ 6 ประเภท ได้แก่
- ขยะทั่วไป เช่น กระดาษทิชชู กล่องพิซซ่า กล่องกระดาษ แก้วกระดาษ ถุงแกง แม่บ้านจะเก็บรวบรวมทุกเย็นและชั่งน้ำหนักก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะอื่นๆ จากอาคารจัตุรัสจามจุรี ก่อนที่รถเก็บขยะจากสำนักงานกรุงเทพฯ จะมาเก็บและเข้าสู่กระบวนการกำจัดต่อไป ซึ่งดีแทคจะส่งเสริมให้พนักงานช่วยกันลดขยะประเภทนี้ให้ได้มากที่สุด
- ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก แก้วกาแฟรีไซเคิล กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ที่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล การแยกขยะประเภทนี้ จะช่วยให้สำนักงานกรุงเทพฯ ลดขั้นตอนการแยกขยะ สามารถนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ทันที และลดปริมาณขยะฝังกลบ
- ขยะกระดาษรวม เช่น ลังกระดาษ ซองจดหมาย กระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ปฏิทิน กระดาษที่ไม่ได้ใช้ทั้งสีและขาวดำ ซึ่งดีแทคได้ร่วมงานกับ SCG โดย SCG จะมารับและนำไปรีไซเคิลตามกระบวนการทุกสิ้นเดือน ช่วยลดการตัดต้นไม้ ลดปัญหามลพิษ และปัญหาปริมาณขยะฝังกลบ
- พลังงานจากขยะ ขยะประเภทนี้จะไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือนำไปรีไซเคิลได้ แต่ยังสามารถนำเข้าสู่กระบวนเผาเพื่อให้เชื้อเพลิงผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ เช่น ขยะพลาสติกต่างๆ หลอดพลาสติก ช้อนพลาสติก หลอดโลชั่น ถุงขนม ถุงฟรอยที่ไม่มีสัญลักษณ์รีไซเคิล ขยะเหล่านี้ ทาง SCG จะมารับไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการอย่างถูกต้องตามหลักการต่อไป
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรีกล้อง โทรศัพท์มือถือ ซิมการ์ด สายไฟ หูฟัง ที่ชาร์จ ขยะประเภทนี้ถือเป็นขยะอันตรายที่หากฝังกลบแล้วจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เกิดมลภาวะสู่ดินและน้ำ และสุดท้ายกลับมาสู่วงจรชีวิตคนผ่านพืชผักและเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ ขยะประเภทนี้ บริษัท โทเทิล เอนไวโรเมนทอล โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์มารับเพื่อนำไปคัดแยกชิ้นส่วน ทำลายข้อมูลที่ยังคงค้าง และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและป้องกันสารเคมีรั่วไหล
- และสุดท้ายคือ ขยะเศษอาหาร ทางฝ่ายอาคารจะมีการจัดวางถังขยะประเภทนี้ไว้ที่บริเวณห้องครัว โดยแม่บ้านจะนำเศษอาหารไปทิ้งให้ฝ่ายอาคารของจัตุรัสจามจุรีดำเนินการต่อ วันละ 2 รอบ รอบบ่ายเวลา 15:00-17:00 น. และรอบดึกประมาณ 1:00 น. ทั้งนี้ โดยฝ่ายอาคารจัตุรัสจามจุรีจะส่งต่อเศษอาหารเหล่านี้ให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำเป็นอาหารปลาต่อไป ทำให้ดีแทคสามารถกำจัดขยะเหล่านี้ได้โดยไม่มีการฝังกลบ
แยกให้ถูก ลดการใช้
จะเห็นว่า วิธีการบริหารจัดการขยะเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Zero Landfill ภายในปีพ.ศ. 2565 คือ การคัดแยก และอีกแนวทางสำคัญคือ “การลดการใช้” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้น โดยทั้ง 2 แนวทางนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากพนักงานดีแทคทุกคน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ และหน่วยงานภายนอกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามกรอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business) ที่เราจะต้องลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนจากการดำเนินธุรกิจ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ส์ No Time To Waste เพราะมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมมามาก ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาโลก โดยเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ ที่ตัวเองด้วย “การแยกขยะ”