คุยกับอธิบดีกรมพินิจฯ ถึงกลไกทางสังคมกับการคืนเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดสู่สังคม กรณีศึกษา เน็ตทำกิน

27 กันยายน 2566


มีคำกล่าวว่า “เด็กเกิดมาเสมือนผ้าขาว” จากนั้นการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อม จะทำให้เกิดลวดลายและสีสันที่เกิดบนผืนผ้านั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่นเดียวกับสถานการณ์การกระทำผิดในเด็กและเยาวชนในปัจจุบันที่มีปริมาณกว่า 12,000 คดีต่อปี สะท้อนได้ถึงฉากทัศน์และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี

 

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน อธิบายภาพรวมการกระทำผิดในเด็กและเยาวชน ว่า 90% เป็นเด็กและเยาวชนชาย จากคดีทั้งหมด พบว่าราวกึ่งหนึ่งเป็นคดียาเสพติด ตามมาด้วยคดีลักทรัพย์ 15% และคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายราว 10% ที่เหลือเป็นความผิดอื่นๆ เช่น พระราชบัญญัติจราจร ความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน

 

“จากสถิติการกระทำผิดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดไม่ได้โหดร้ายที่อย่างเข้าใจ ส่วนมากมักเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของครอบครัวเด็กและเยาวชนเหล่านั้นแล้ว พบว่า 65% มีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ แตกแยก หรือแยกกันอยู่” อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวและอธิบายเพิ่มเติมว่า แรงจูงใจที่ส่งผลให้เด็กและเยาวชนกระทำผิดมีด้วยกันหลายด้าน ทั้งปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต การหลุดจากระบบการศึกษา รวมถึงการพัฒนาการทางเทคโนโลยี ขณะที่ปัจจัยภายในอย่างการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การมีอารมณ์ชั่ววูบ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ความคึกคะนอง และการคบเพื่อนที่มีความประพฤติที่ไม่มีเหมาะสม ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ

 

กรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนของไทย มีหน้าที่ในการดูแล แก้ไข บำบัด ฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดทางอาญา พิทักษ์สิทธิของผู้เยาว์ในคดีครอบครัวที่ผู้เยาว์มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนให้ความคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั้งชั้นก่อนและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยธำรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยลงนามภาคยานุวัติรับรอง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 ตลอดจนพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และพระราชบัญญัติการบริหารการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่กระทำผิด พ.ศ. 2561

 

“เด็กและเยาวชน คือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ โดยวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมาย จะเน้นที่การพัฒนา แก้ไข บำบัด และฟื้นฟู ไม่ได้เน้นการลงโทษลงทัณฑ์” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าว

พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทุกขั้นตอนในการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนนั้น ‘การให้โอกาส’ ถือเป็นแก่นของการพิจารณา ศาลแทบจะไม่เคยลงโทษจำคุกเด็กเลย และมักจะเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นวิธีการสำหรับเด็กแทน ซึ่งวิธีการดังกล่าวก็เช่น การ ‘ควบคุมตัว’ ทั้งก่อนและหลังมีคำพิพากษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการพิทักษ์คุ้มครองเด็กและเพื่อลดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำ และ ‘การส่งฝึกอบรม’ โดยการส่งไปรับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ทั้งสิ้น 21 แห่งทั่วประเทศ โดยระยะเวลาในการฝึกอบรมนั้นจะเป็นไปตามความเหมาะสมที่เด็กเยาวชนคนนั้นจะต้องได้รับการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ในระหว่างที่เด็กและเยาวชนฝึกอบรม เด็กจะได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านตามแนวคิด 4 ฝึก ได้แก่ ฝึกกาย ฝึกจิต ฝึกความคิด และฝึกอาชีพ เด็กและเยาวชนจะถูกส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับและการดูแลสุขภาวะพื้นฐานทุกราย และหากเด็กและเยาวชนรายใดแสดงให้เจ้าหน้าที่และศาลฯ เห็นได้ว่าตนเองมีความก้าวหน้าในการฝึกอบรม ศาลฯ ก็มีอำนาจสั่งลดระยะเวลาฝึกอบรมหรือสั่งปล่อยได้ตลอดเวลา

อัตราการกระทำผิดซ้ำยังสูง

ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงานด้านยุติธรรมในเด็กและเยาวชนที่สำคัญที่สุดคืออัตราการถูกจับซ้ำ (Re-arrested Rate) ภายหลังจากที่เด็กและเยาวชนออกจากการดูแลของกรมฯ กลับคืนสู่สังคม โดยพบว่า อัตราการกระทำผิดซ้ำในเด็กและเยาวชนอยู่ในเกณฑ์ ‘คงที่’ มาหลายปี และค่อย ๆ ลดลงในสองสามปีที่ผ่านมา โดยการกระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีหลังปล่อยตัว อยู่ที่ราว 25% การกระทำผิดซ้ำภายใน 2 ปีอยู่ที่ราว 35% และการกระทำผิดซ้ำภายใน 3 ปีอยู่ที่ราว 40% ซึ่งเด็กและเยาวชนราวร้อยละ 80 กระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติด

“ถึงแม้การกระทำผิดซ้ำของเด็กจะมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการกระทำผิดซ้ำภายหลังปล่อยของเด็กและเยาวชนยังคงสูงเกินไป ซึ่งอาจมาจากปัญหายาเสพติดที่ยังเป็นปัญหาสำคัญ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เคร่งเครียดขึ้น เชื่อหรือไม่ ว่าคดีครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์เพิ่มสูงขึ้นในอัตราส่วนที่มากกว่าคดีอาญาเสียอีก ซึ่งปัญหาในครอบครัวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เด็กมีปัญหาพฤติกรรมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดของเด็กจึงต้องเน้นที่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัว” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ อธิบายและกล่าวเพิ่มเติมว่า “เด็กบางคนบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่อยากกลับไปที่เดิม ไปยังสภาพแวดล้อมเดิมๆ เพราะถ้าเขากลับไป เขาคงไม่รอดและคงพลาดพลั้งไปกระทำผิดอีก”

 

ด้วยเหตุนี้ งานหลักในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของกรมพินิจฯ จึงเน้นที่การให้คำแนะนำและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูทางจิต และการปรับปรุงรูปแบบความคิดที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กและเยาวชนตระหนักรู้และพยายามปรับปรุงพฤติกรรมที่มีปัญหาของตัวเอง เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตให้กับเด็กและเยาวชนที่อาจเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

 

ที่ผ่านมา นอกจากการบำบัดตามแนวทางของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แล้ว กรมพินิจฯ ยังได้นำกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ในการตรวจสารเสพติดตกค้างในร่างกาย ทำให้ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดย้อนหลังได้ถึง 3 เดือน การตรวจยาเสพติดนี้กรมฯ ไม่ได้ตั้งใจใช้เป็นเครื่องมือในการจับผิด แต่จะนำมาใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมและเพื่อเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ความตั้งใจของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในความดูแล ผ่านการนำนิติวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถลดทอนเรื่องการหวนกลับไปใช้ยาเสพติดได้อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงศักยภาพของการนำเครื่องมือสมัยใหม่ไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สังคม

 

ส่งมอบ ‘โอกาส’ คืนเด็กสู่สังคม

งานวิจัยในระดับนานาชาติระบุว่า การมีอาชีพและการงานที่มั่นคงช่วยลดโอกาสในการกระทำผิดซ้ำได้จริงและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ งานที่ดียังต้องสามารถสร้างมูลค่าและส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับสังคม กรมพินิจฯ จึงมีความมุ่งมั่นในการฝึกฝนเด็กและเยาวชนให้มีทักษะทางวิชาชีพที่ดี มีมาตรฐาน ตรงกับความสนใจของเด็กและเยาวชนแต่ละราย และตรงกับความต้องการของตลาด

ด้วยเหตุนี้ ทางกรมพินิจฯ จึงได้ปรับกระบวนทัศน์ให้แนวคิด 4 ฝึกสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตจริงได้มากที่สุด โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคมในการผลักดัน ‘ศูนย์ฝึกเอกชน’ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในคนสังคมกับเด็กที่กระทำผิด ทั้งยังเป็นการสื่อสารกับเด็กเหล่านี้ว่า สังคมยังไม่ทอดทิ้งและพร้อมให้โอกาสพวกเขา โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจอาหารให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสเข้าฝึกงานกับร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมวิชาชีพธุรกิจร้านกาแฟ และโครงการส่งเสริมทักษะการประกอบการร้านอาหาร

“ผลจากความร่วมมือกับภาคเอกชน ทำให้กรมพินิจฯ ตระหนักถึงบทบาทของสังคมในการเป็นเครื่องช่วยขัดเกลาเด็กๆ เหล่านี้คืนสู่สังคมที่มีประสิทธิภาพ เป็นเพื่อนคู่คิด ให้คำปรึกษาแก่พวกเขา ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี นอกจากนี้เรายังได้เห็นศักยภาพของเด็ก อย่างการทำร้านกาแฟ เด็กต้องมีวินัย ฝึกความอดทน หากคุณอยากมีงานที่มั่นคง คุณจะทำตามใจตัวเองไม่ได้ ทำงานที่ร้านกาแฟเสร็จ 5 โมงเย็น ก็มีเรียนหนังสือต่อ วันเสาร์เราก็สนับสนุนให้ไปทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้ความหนักแน่นมั่นคงที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองของเด็กได้เป็นอย่างดี และเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดในการร่นระยะเวลาฝึกอบรมตามคำสั่งศาล เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับอิสรภาพและกลับคืนสู่โลกภายนอก และได้เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของสังคมได้ต่อไป” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เล่า 

หวังเน็ตทำกิน ลดการกระทำผิดซ้ำ

ล่าสุด กรมพินิจฯ ได้ร่วมมือกับโครงการเน็ตทำกิน ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการช่วยฝึกทักษะด้านการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำธุรกิจออนไลน์ให้เด็กและเยาวชน พร้อมเสริมสร้างทักษะความรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ เพื่อให้เด็กใช้สื่ออย่างเข้าใจและระมัดระวัง ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี และมุ่งหวังว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเติบโตให้กับสังคมไทยในอนาคต

 

ถึงแม้สถานพินิจจะเป็นเขตควบคุมระบบสื่อสาร แต่ข้อห้ามนั้นไม่ใช่ข้อจำกัดของการพัฒนา เช่นเดียวกับความร่วมมือกับโครงการเน็ตทำกิน ที่กรมพินิจฯ ได้มอบโอกาสเด็กและเยาวชนได้เห็นและเรียนรู้เหรียญทั้งสองด้าน ผ่านหลักสูตรที่เหมาะสม ทันสมัย ของทีมวิทยากรของเน็ตทำกินซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม และที่สำคัญ สามารถจัดการเรียนการสอนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่

 

“ถามว่าเราไม่กลัวหรือ ถ้ากลัวก็คงไม่ต้องทำอะไร บางอย่างต้องวัดใจ แต่เราเชื่อว่ากลไกในการคัดกรองจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง เราต้องการมองก่อนว่าอินเทอร์เน็ตเป็นประโยชน์ เมื่อออกไปแล้วรู้เท่าทัน แม้จะมีปัจจัยเสี่ยง แต่ผมเชื่อว่าความเสี่ยงนั้นควบคุมได้ เรามีการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาอีสปอร์ต ต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในวงการอุตสาหกรรมกีฬาอีสปอร์ตได้ในอนาคต” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เล่า

ทั้งนี้ ทางกรมพินิจฯ มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการติดอาวุธด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้อินเทอร์เน็ตในการประกอบอาชีพแก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้มีรายได้ที่พอเพียงสำหรับการใช้ชีวิต และสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างภาคภูมิ ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

 

“สถานพินิจไม่ใช่เครื่องซักผ้า ที่เข้ามาแล้วออกไปจะขาวสะอาด แต่สังคมต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการซักรีดนี้ เราต้องช่วยกัน ผมเชื่อว่า กลไกทางสังคมในการให้โอกาสและการตีตราที่ลดลง จะทำให้เด็กเหล่านี้มีที่ยืนในสังคมอย่างมั่นคง” พ.ต.ท.วรรณพงษ์ ทิ้งท้าย