เปิดเส้นทาง MorDee แพลทฟอร์ม Telemedicine รายแรกของไทยกับเป้าหมายที่ต้องการแบ่งเบาปัญหาวงการสาธารณสุขไทย

04 ธันวาคม 2566


“ผมเห็นคุณตาคุณยายนอนเรียงรายอยู่อยู่บนพื้นโรงพยาบาล ซึ่งพออนุมานได้ว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นเดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อรอรับการรักษาจากหมอเฉพาะทาง” ภาพดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายให้หนุ่มวิศวะที่ชื่อว่า “ ดร.ยศวีร์ นิรันดร์วิชย” กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ตั้งคำถามพร้อมมุ่งมั่นหาคำตอบว่า “มันต้องมีเทคโนโลยีที่ช่วยแบ่งเบาระบบสาธารณาสุขไทยได้สิ!”

ยศวีร์ คือหนุ่มวิศวกรที่มีความสนใจในธุรกิจ เขาเริ่มงานที่แรกที่ SCG ในส่วนงานซัพพลายเชน เพื่อพัฒนากระบวนการ จากนั้นจึงได้ทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ Kellogg School of Management แห่งมหาวิทยาลัย Northwestern ในสาขาการเงินและการตลาด เมื่อกลับมาไทย เขาเข้าใกล้เส้นทางธุรกิจมากขึ้น เมื่อได้ทำหน้าที่ดูแลด้านการลงทุน โดยที่การซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งขณะนั้น SCG เปลี่ยนนโยบายเบนเข็มจากธุรกิจโภคภัณฑ์สู่สินค้ามูลค่าสูง จากนั้นก็ได้รับมอบหมายมาดูแลด้าน  Venture Capital โดยเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสะอาด

“ที่นี่ ทำให้ผมเห็นเทคโนโลยีล่วงหน้าคนอื่น 10 ปี เหมือนนั่งไทม์แมชชีนไปอนาคต” ยศวีร์ กล่าวถึงความหลงใหลในเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน การคลุกคลีกับวงการสตาร์ทอัพ และภาพในโรงพยาบาลที่ภรรยาเขาปฏิบัติงานอยู่ ทำให้เขาเห็นถึง “โอกาส” ทั้งทางธุรกิจและแก้ไขปัญหาสังคม ในปี 2559 ยศวีร์ จึงจับมือกับเพื่อนอีก 3 คน เริ่มทำ “ชีวี” (Chiiwii) ซึ่งถือเป็นสตาร์ทอัพสาย Health Tech ด้าน Telemedicine ที่ให้บริการถึงผู้ใช้งานโดยตรง (Direct-to-consumer) รายแรกของไทย

“ชีวี” ได้รับการพัฒนาขึ้นจากอินไซต์ของคุณตาคุณยายที่โรงพยาบาล พบว่า พวกเขาส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับการรักษาเฉพาะทาง เนื่องจากการขาดแคลน “หมอเฉพาะทาง” ในโรงพยาบาลต่างจังหวัด การเดินทางมาเข้ารับการรักษาในเมืองกรุงฯ นั้น นอกจากใช้ระยะเวลาหลายวันต่อการเข้ารับการรักษาแล้ว พวกเขายังสูญเสียรายได้จากการทำงานอีกด้วย แม้ในความเป็นจริง คุณตาคุณยายเหล่านี้ควรได้รับการพักผ่อนในห้วงบั้นปลายชีวิต

นับหนึ่ง Telemedicine

ยศวีร์บอกว่า ช่วงแรกของการทำตลาด “ชีวี” (Chiiwii) เป็นอะไรที่ยากมาก เนื่องจากวงการสาธารณสุข-สุขภาพเป็นอุตสาหกรรมที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ป่วย มีการกำกับดูแลจากภาครัฐอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน ก็ขาดนวัตกรรมทางด้านดิจิทัลเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น ดังนั้น ในระยะแรกจึงพัฒนาขึ้นมารูปแบบ “เว็บบอร์ด” โดยมีกลุ่มหมอที่ช่วยตอบคำถาม และผู้ใช้งานจะได้รับการตอบภายใน 24 ชั่วโมง ภายใต้การดูแลของทีมงาน

“ช่วงแรก หมอมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการให้ความเห็นโดยไม่ได้รับการตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องได้ อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ผู้ใช้งานได้รับนั้น จะไม่ถือเป็น ‘คำวินิจฉัย’ แต่เป็นเพียง ‘คำแนะนำเบื้องต้น’ เท่านั้น” ยศวีร์ กล่าวพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อทัศนคติของแพทย์ต่อ Chiiwii มีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว การต่อ “จิ๊กซอว์” ระบบนิเวศน์ HealthTech ของไทยให้เต็มจึงเริ่มต้นขึ้น

ยศวีร์ อธิบายว่า สำหรับจิ๊กซอว์ตัวสำคัญลำดับถัดมาคือ “บริษัทประกัน” ซึ่งเป็นอีกแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่สำคัญในระบบสาธารณสุข โดยปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อได้แล้ว 2 ราย ได้แก่ AIA และ Allianz Ayudhya ขณะเดียวกัน ภาพ HealthTech นี้จะสมบูรณ์ขึ้นก็ต่อเมื่อมี “ร้านขายยา” เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ โดยเริ่มต้นจากเชนเล็กๆ ก่อน

“พอเริ่มมีหมอ มีคนจ่ายเงิน มีร้านขายยา ก็เริ่มทำให้ Chiiwii เริ่มมีคนเข้ามาใช้งาน (Traction) ทำให้เราเริ่มมีรายได้ ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่เหมาะเจาะพอดีที่ทำให้เราได้เจอกับทรู และทางทรูสนใจเข้าร่วมลงทุนในชีวี และต่อมาได้ร่วมกับทรูพัฒนาเพลตฟอร์มใหม่ชื่อ ‘หมอดี’ ในปัจจุบัน” ยศวีร์ เล่าถึงเส้นทางที่ไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบของ HealthTech ในไทย

เปิดโร้ดแมป MorDee

เป้าหมายของ MorDee คือการให้บริการ Telehealth แบบครบวงจร โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย และทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการสร้างระบบนิเวศน์ของการให้บริการสุขภาพดิจิทัลอย่างครบวงจร ทำให้บริการด้านสุขภาพของ MorDee ครอบคลุมทุก Touchpoint ของผู้ป่วย สอดรับกับเป้าหมายของ MorDee ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Your Digital Health Assistant

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของ MorDee มีหลากหลาย แต่กลุ่มที่เราให้ความสำคัญมากในขณะนี้ คือ กลุ่มที่ใช้ประกันสุขภาพและสวัสดิการของบริษัท เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้กล้าที่จะลองใช้งานได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นม มีอัตราการใช้ซ้ำสูงกว่ากลุ่มอื่น และเป็นกลุ่มที่ชอบทดลองใช้เทคโนโลยีอยู่แล้ว (Early Adopter)

ขณะนี้ Mordee มีผู้ใช้งานในระบบมากกว่า 400,000 ราย และมีอัตราการใช้ซ้ำถึง 40% เป็นผลมาจากความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะปัจจัยด้าน “เวลา” ที่ผู้ป่วยจะสามารถพบแพทย์ได้ภายใน 5 นาทีหลังจากเข้าสู่ระบบ โดยแต่ละกรณี สามารถใช้เวลาปรึกษาแพทย์ได้อย่างเต็มที่ถึง 15 นาทีสำหรับสุขภาพกาย แต่ 30 นาทีสำหรับสุขภาพใจ จากนั้น แพทย์จะออกใบสั่งยาผ่านทางแอปพลิเคชัน Mordee จากนั้นผู้ป่วยสามารถกดสั่งซื้อยาและจะถูกจัดส่งภายใน 90 นาที ดังนั้น การเข้ารับการรักษากับ Mordee จะใช้เวลาทั้งสิ้นอย่างมากไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง

สำหรับโร้ดแมปในอนาคต Mordee มีแผนในการขยายบริการจากการรักษาสู่เวชศาสตร์ป้องกัน โดยเน้นที่การป้องกันก่อนป่วย ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายใหญ่ขึ้น ดูแลสุขภาพคนไทยได้มากขึ้น และมีความถี่ในการใช้งานที่มากขึ้น

“ผมมองว่า ตอนนี้ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของ HealthTech โดยเทรนด์การเติบโตสูง การยอมรับมากขึ้น โดยจากประโยชน์อันมากมายของ Healthtech ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ และต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับการไปโรงพยาบาลปกติ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ Healthtech จะกล้ายเป็น norm และ นั่นหมายถึงโอกาสที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท” ยศวีร์ ฉายภาพ

ผมมองว่า ตอนนี้ใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของ HealthTech โดยเทรนด์การเติบโตสูง การยอมรับมากขึ้น โดยจากประโยชน์อันมากมายของ Healthtech ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ และต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับการไปโรงพยาบาลปกติ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้ Healthtech จะกล้ายเป็น norm และ นั่นหมายถึงโอกาสที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

อนาคต Telemedicine ไทย

นับตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันที่ได้ทำงานด้าน Telemedicineเข้าสู่ปีที่ 7 ยศวีร์มองว่า ภาพรวมของ Telemedicine มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทุกปี องคาพยพต่างๆ ในวงการสุขภาพ-สาธารณสุขให้การยอมรับ ผู้ใช้งานมีจำนวนมากขึ้นโดยมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็น “ตัวเร่ง” ในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นของ Telemedicine ในไทย

“ตอนนี้ เราได้ต่อจิ๊กซอว์สำคัญของ HealthTech ไทยครบแล้วในระดับนึง ไม่ว่าจะเป็น หมอ บริษัทประกัน ร้านขายยา แลป แต่กระนั้น จิ๊กซอว์ตัวที่สำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจและพลักดันอีกตัวหนึ่งคือ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator)” ผู้ก่อตั้ง Mordee กล่าวและเสริมว่า ปัจจุบัน ภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับ HealthTech มากขึ้นและเริ่มออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine และ healthtec ออกมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก ทำให้ผู้เล่นในตลาดนี้เข้าในถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ Telemedicine ในอนาคตที่ชัดเจนขึ้น ถึงแม้ว่าการขยับตัวในเชิง regulation จะช้ากว่า FinTech แต่เขาเชื่อว่า HealthTech จะมีการพัฒนาขึ้นอย่างมีรวดเร็วในระยะอันใกล้นี้

ตอนนี้เราได้ต่อจิ๊กซอว์สำคัญของ HealthTech ไทยครบแล้วในระดับนึง ไม่ว่าจะเป็น หมอ บริษัทประกัน ร้านขายยา แลป แต่กระนั้น จิ๊กซอว์ตัวที่สำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจและพลักดันอีกตัวหนึ่งคือ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ปัจจุบันภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญกับ HealthTech มากขึ้นและเริ่มออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine และ healthtec ออกมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก

อย่างไรก็ตาม ยศวีร์เน้นย้ำว่า “การแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) ไม่สามารถเข้ามาทดแทนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทั้งหมด แต่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น และต้นทุนในการดูแลผู้ป่วยถูกลง

แก้ไขปัญหาสาธารณสุขไทย

วงการสาธารณสุขไทยมีปัญหาทางโครงสร้างหลายอย่างเช่น ภาวะทางการเงินของของโรงพยาบาลรัฐ การออกนอกระบบของแพทย์ที่ แต่ยศวีร์เชื่อว่า Healthtech จะเป็นตัวแปรนึงที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวมานั้น โดยเฉพาะปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลรัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรไม่สามารถจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สอดรับกับความต้องการ และสูญเสียแรงงานกับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ

“ในความเป็นจริง ระบบสาธารณสุขไทยมีความก้าวหน้ามาก คุณภาพหมอของไทยเก่ง จัดได้ว่าเป็นชั้นนำของเอเชีย แต่การพัฒนา HealthTech ในประเทศไทย ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ปัจจัยนึงที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาได้ทันประเทศอื่นคือการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเหมาะสม”

ถือเป็น ‘ช่องว่าง’ ในการพัฒนาที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างมาก

ในความเป็นจริง ระบบสาธารณสุขไทยมีความก้าวหน้ามาก คุณภาพหมอของไทยเก่ง จัดได้ว่าเป็นชั้นนำของเอเชีย แต่การพัฒนา HealthTech ในประเทศไทย ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ และ อินโดนีเซีย ปัจจัยนึงที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาได้ทันประเทศอื่นคือการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนอย่างเหมาะสม