Posted on DROIDSANS
ช่วงนี้เราได้เห็นการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่ค่อย ๆ ลดน้อยลงไปทุกวัน จนบางคนอาจจะเริ่มคิดว่าน่าจะได้ออกจากบ้านในเวลาอันใกล้นี้ แต่อย่างไรก็ดีเรายังไม่ควรประมาท เพราะเชื้อยังไม่ได้หยุดแพร่กระจายดีนัก และเราอาจจะติดได้ทุกเมื่อ ซึ่งเราอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันลงแอปเหล่าที่จะช่วยติดตามข้อมูลข่าว การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัน และประเมินความเสี่ยงของเราได้อย่างแม่นยำ
แอปที่เลือกมาในที่นี้จะเป็นแอปที่ทางหน่วยงานรัฐได้เคยทำการแนะนำเอาไว้แล้ว และเราอยากจะมาเน้นย้ำแนะนำต่อให้เพื่อนๆได้ทราบกันอีกครั้งนะครับ
“หมอชนะ” แอปบันทึกการเดินทางและปฏิสัมพันธ์อัตโนมัติ
โควิด-19 เป็นโรคที่สามารถติดกันได้ง่าย เพียงแค่เราอยู่ใกล้ชิดใครแค่เพียงชั่วเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะพบปะพูดคุย นั่งข้างๆ หรือทำกิจกรรมในห้องเดียวกัน ก็มีโอกาสติดได้แล้ว ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าที่ไหนมีเชื้อ และเราจะติดเมื่อไหร่ แต่เมื่อเราติดแล้วสิ่งที่ผู้ติดเชื้อควรต้องทำ คือการคิดย้อนหลังกลับไปให้ได้ไม่น้อยกว่า 14 วัน ว่ามีเดินทางไปที่ไหน และพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับใครบ้าง
แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยสำหรับคนที่ไม่ได้มีบันทึกตารางงานหรือตารางการเดินทางเอาไว้ตลอดเวลา เราจึงควรลงแอป “หมอชนะ” เอาไว้ ที่จะช่วยบันทึกตำแหน่งเอาไว้ให้แบบอัตโนมัติอย่างแม่นยำ รวมถึงแจ้งเตือนข้อมูลความเสี่ยงของตัวเราให้ได้ทราบ ทั้งจากการประเมินข้อมูลส่วนตัว และจากข้อมูลของผู้ติดเชื้อคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
หมอชนะ จะมีแบบสอบถาม 4 ข้อ ให้ทำเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโควิด-19 โดยแบบประเมินนี้จะใช้เป็นตัวเดียวกับที่โรงพยาบาลต่างๆใช้คัดกรองตัวผู้ป่วยเลย
หลังจากการทำแบบสอบถามแล้ว เราจะได้ผลประเมินระดับความเสี่ยงของเราออกมา แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ต่ำมาก ต่ำ ปานกลาง และสูงมาก โดยคนที่มีความเสี่ยงปานกลาง และสูง จะยังต้องเป็นกลุ่มคนมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือคลุกคลีกับคนที่มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมาเท่านั้น
GPS + BLUETOOTH LOW ENERGY ช่วยติดตามผลได้อย่างแม่นยำ
เมื่อเข้าใช้งาน ตัวแอปจะมีการขอสิทธิ์ใช้งาน GPS และ Bluetooth Low Energy (BLE) ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่โทรศัพท์เก็บได้ อย่างตำแหน่งหรือสถานที่ที่เราไป (ผ่าน GPS) รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมา และคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย (ผ่าน BLE) ซึ่งในหลายแอปที่เปิดให้โหลดก่อนหน้า ส่วนมากจะเก็บแค่เพียงตำแหน่งหรือสถานที่เท่านั้น แต่แอป หมอชนะ เป็นหนึ่งในไม่กี่แอปที่มีการเปิดใช้งาน BLE ร่วมด้วย โดย BLE นี้จะทำการเก็บข้อมูลถึงระดับบุคคลที่อยู่ใกล้เรา ว่ามีคนที่มีความเสี่ยงอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าเราเข้าสู่พื้นที่ หรืออยู่ใกล้คนที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้ว ระบบก็จะทำการแจ้งเตือนมาบอกเราได้อย่างทันท่วงที
เก็บรักษาข้อมูลอย่างโปร่งใส ไว้ใจได้
ด้วยความที่ หมอชนะ มีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่ค่อนข้างลึก ทำให้บางคนมีความเป็นห่วงในจุดนี้ไม่น้อย โดยทางตัวของผู้พัฒนาเองก็ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้พอสมควรว่าทำไปอย่างรัดกุม ข้อมูลทั้งหมดจะเป็นแบบไม่มีการระบุตัวตน โทรศัพท์แต่ละเครื่องจะมีการสร้างไอดีแบบสุ่มขึ้นมา ก่อนจะอัพโหลดขึ้นไปประมวลผลที่ AWS ของภาครัฐ ที่มีความปลอดภัยสูง ทำให้แม้จะเห็นเส้นทางการเดินทาง หรือคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่ก็จะไม่สามารถบอกได้อยู่ดีว่าเป็นใครอย่างไร
นอกเหนือจากนี้ทางทีมพัฒนา ยังมีการเปิด Source code ในส่วนของการติดตามตัวผ่าน BLE เอาไว้ให้สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และมีการแจ้งถึงการใช้งานสิทธิ์ต่างๆ อย่างชัดเจน รวมถึงจะไม่เก็บข้อมูลต่อทั้งใน Server และหยุดการทำงานของแอปในเครื่องให้อัตโนมัติ หลังสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วอีกด้วย เมื่อพิจารณาจากความตั้งใจในหลายส่วนแล้ว จึงทำให้เชื่อได้ว่าตัวแอปมีความปลอดภัยในระดับสูงจริง
แนะนำอ่านเพิ่มเติม สำหรับใครที่สนใจเรื่องความปลอดภัย ทาง nuuneoi ที่ได้มีส่วนเข้าไปร่วมพัฒนาแอปนี้ได้มีการเขียนอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดในระดับนึงแล้วในบทความ สัมภาษณ์ทีมพัฒนาแอป “หมอชนะ”
ยิ่งใช้กันเยอะยิ่งเพิ่มความแม่นยำ
ด้วยความสามารถตามที่บอกไปข้างต้นว่าแอป หมอชนะ ถ้ามีผู้ใช้งานกันโดยทั่วไป นอกเหนือจากจะติดตามการเดินทางได้ง่ายแล้ว เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร อยู่ใกล้ใคร ก็จะรู้ได้โดยง่ายอีกด้วยผ่าน Bluetooth Low Energy ซึ่งหมายความว่า ใครที่ใช้แอปนี้อยู่ก็จะสามารถรับรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง และกักตัวได้อย่างทันท่วงทีมากขึ้นนั่นเอง แต่มันจะทำงานได้ผลดีต่อเมื่อมีคนใช้งานแอปนี้อยู่ร่วมด้วยเท่านั้น โดยในปัจจุบันแอป หมอชนะ มีคนดาวน์โหลดไปแล้วเพียงหลักหมื่นครั้งใน Play Store เท่านั้นทั่วประเทศ หากต้องการให้ตัวแอปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจว่าจำนวนผู้ใช้งานควรมีหลักหลายล้านคนซะด้วยซ้ำ
โหลดไปใช้ได้ทั้ง ANDROID และ IOS
โดยใน Android จะสามารถใช้งานได้แบบ Full Function ทั้ง GPS และ BLE มีการเก็บข้อมูลให้ตลอดเวลาโดยจะมีการขึ้นแจ้งเตือนให้ทราบด้วย แต่ว่าตัวฮาร์ดแวร์ของ Bluetooth ในบางเครื่องอาจจะยังไม่มีฟีเจอร์ Low Energy มาให้ใช้ ถ้าหากใครเปิดแอปนี้แล้วพบว่ามีการกินแบตก็สามารถปิด Bluetooth ทิ้งได้นะครับ เพราะมันต้องทำการ Broadcast สัญญาณออกไปอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ส่วนบน iOS จะยังติดปัญหาอยู่บ้าง เก็บข้อมูลผ่าน BLE ได้เมื่อเปิดแอปไว้เท่านั้น ด้วยข้อจำกัดของ OS แต่ยังสามารถเก็บข้อมูลของ GPS ได้ตามปกตินะ สามารถไปดาวน์โหลดได้ที่ https://apps.apple.com/th/app/id1505185420
ถ้าหากใครจำข่าว Apple x Google ที่เรานำเสนอไปก่อนหน้านี้ได้ น่าจะพอทราบว่าความร่วมมือของสองบริษัทเพื่อหยุดโควิด-19 นี้ ก็จะใช้เทคนิคแบบเดียวกันกับ หมอชนะ เลยนั่นเอง แต่เพียงว่าทั้งสองบริษัทนี้เป็นผู้สร้าง iOS และ Android ขึ้นมา จึงจะสามารถยัดเอาความสามารถนี้ใส่เข้าไปในเครื่องของพวกเราได้เลยทันทีแบบที่ไม่ต้องมาเสียเวลาลงเอง รวมถึงข้อจำกัดของ iOS ที่ป้องกันการทำงานตลอดเวลาเอาไว้นี้ ก็จะถูกปลดล็อคออกมาด้วย ซึ่งตามที่ได้ยินมาทีมพัฒนาก็เหมือนจะพยายามติดต่อเข้าร่วมใช้ API ของ Apple x Google นี้แล้วเช่นกัน
รีวิวสั้น แอป “หมอชนะ”
เป็นแอปที่ดี มีฟีเจอร์ที่ครบถ้วนในการช่วยติดตามตัวผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยง ใช้เทคโนโลยีอย่างครบถ้วนทั้ง GPS และ BLE แต่อย่างไรก็ดี แอปนี้จะไม่ได้มีการแสดงข้อมูลขึ้นมาให้เราเห็นมากมายนัก ทั้งข้อมูลที่ถูกบันทึกว่าเราไปที่ใดมาบ้าง โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งขึ้นไปเก็บและประมวลผลบน Cloud ของทางภาครัฐเท่านั้น กลายเป็นเราไม่สามารถตรวจสอบอะไรด้วยตัวเองได้เลย และไม่เห็นว่ามีช่องทางให้ผู้ใช้ที่รับทราบว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว สามารถ Broadcast บอกคนที่เค้าไปมีปฏิสัมพันธ์มาระวังตัว หรือกักตัวได้แต่อย่างใด ก็ต้องรอติดตามเพราะอาจจะมีพัฒนาเพิ่มเติมได้ในอนาคต
CARD2U – AOT ติดตามข้อมูลข่าวสารด้าน COVID-19
ขอแนะนำอีก 2 แอป ที่น่าโหลดติดเครื่องเอาไว้สำหรับคนที่ต้องการติดตามข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ หรือลงติดเครื่องไว้เมื่อกลับมาจากประเทศเสี่ยงและต้องกักกันตัวเอง
CARD2U แอปรวมลิงก์ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐ
สำหรับติดตามข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ โดยจะให้มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าใช้งานก่อน แล้วเราจะได้การการ์ดมาใบนึง เพื่อบอกว่าตัวแอปจัดทำโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลแหล่งต่างๆที่น่าเชื่อถือ คัดสรรจากทาง DEPA โดยข้อมูลเหล่านี้จะไม่ใช่การดึงจากฐานข้อมูลของตัวแอปเอง แต่จะเป็นการลิงก์ออกไปยังแหล่งต่างๆ เป็น Webapp เรียกข้อมูลมาแสดงผ่านหน้าเว็บทันที จะมีทั้งหมด 12 เมนูให้เลือกกัน ได้แก่
- ประกาศจากรัฐบาล (card2u-covid-webapp)
- ไฮไลท์ข่าวประจำวัน (thaifightcovid.depa.or.th)
- ประกาศหน่วยงานภาครัฐ (thaifightcovid.depa.or.th)
- ตรวจสอบข่าวปลอม (antifakenewscenter.com)
- จำนวนผู้ติดเชื้อ (workpointnews.com)
- พื้นที่เสี่ยง (card2u-covid-webapp)
- จดบันทึกการเดินทาง (card2u-covid-webapp)
- ประเมินความเสี่ยง (โรงพยาบาลราชวิถี)
- โรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด (zoclose.com)
- โปรสู้โควิด (ecartstudio.com)
- รวมสายด่วน (card2u-covid-webapp)
- ไทยสู้โควิด (facebook)
AOT บันทึกข้อมูลการเดินทางหลังลงจากเครื่อง
ทางการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ของแอป AOT เพื่อใช้ในการติดตามผู้โดยสารที่เพิ่งลงจากเครื่อง ทั้งจากการบินภายในประเทศ รวมถึงระหว่างประเทศด้วย โดยทุกคนจะต้องทำการลงทะเบียนในแอปให้เรียบร้อยก่อนกลับออกจากสนามบิน เผื่อในกรณีที่ตรวจพบผู้โดยสารในไฟลท์ติดเชื้อ COVID-19 ทางเจ้าหน้าที่จะได้ทำการติดตามผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกันทั้งหมดให้มาทำการตรวจ หรือกักกันตัวได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ใครที่ต้องบินในช่วงนี้ก็โหลดมาเก็บติดเครื่องกันเอาไว้ได้เลยนะครับ เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากการลงทะเบียนแล้ว ตัวแอป AOT เองยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ในสนามบินแจกให้อีกเพียบเลยล่ะ ลองไปกดดูกันได้
เมื่อเข้าเมนู COVID-19 Inbound Passenger Control ไปจะมี 2 เมนูใช้งานให้เลือก คือ “ด่านตรวจคนเข้าเมือง” และ “รายงานสุขภาพประจำวัน” โดยคนที่กลับจากต่างประเทศหรือเดินทางในประเทศต่างควรลงทะเบียนเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน ส่วนรายงานสุขภาพประจำวัน ไม่ได้มีการบังคับทำแต่อย่างใดครับ
ยังไงก็โหลดติดเครื่องกันเอาไว้ก่อนออกจากบ้าน โดยเฉพาะ หมอชนะ นะครับ จะได้ลดความเสี่ยงทั้งของตัวเองและผู้อื่น สุดท้ายนี้ก็ขอให้เพื่อนๆปลอดภัย ห่างไกลจากโรคกันทุกคนครับ ?