คุยกับ “ณัฏฐา พสุพัฒน์” นักการตลาดหญิงแถวหน้าผู้เปลี่ยนตลาดโทรคมนาคมจากยุคบุกเบิกสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน และเคล็ดลับความสำเร็จในการทำงาน

05 เมษายน 2567


หากพูดถึงโทรศัพท์มือถือยุคเริ่มแรก หลายคนคงนึกถึงโทรศัพท์มือถือรุ่นกระติกน้ำ โนเกีย 3310 สุดฮอต และ iPhone 1 แบบไร้ปุ่มกดที่ปฏิวัติฝั่งฮาร์ดแวร์ของตลาดสื่อสารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ในฝั่งการบริการ คนยุคบูมเมอร์คงเคยได้สัมผัสกับยุคค่าบริการนาทีละ 3 บาทอย่างแน่นอน

แต่นั่นเป็นเพียง “ปฐมบท” ของตลาดโทรคมนาคมไทยที่ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือ (Penetration Rates) เกินกว่า 130% กำเงิน 500 บาท ก็สามารถเป็นเจ้าของเครื่องโทรศัพท์มือถือได้

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในตลาดโทรคมนาคมไทยในแง่ “การเข้าถึง” ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันทางการตลาดที่มี ณัฏฐา พสุพัฒน์ หัวหน้าสายงานโมบายล์โพสต์เพย์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งคีย์วูแมนผู้นำมาสู่การเปลี่ยนเแปลงภูมิทัศน์ทางการตลาดแห่งวงการโทรคมนาคมไทย

ในโอกาสแห่งวันสตรีสากล #IWD2024 True Blog ชวนเธอพูดคุยถึงเคล็ดลับความสำเร็จของผู้หญิงที่เรียกได้ว่า “คมในฝัก” คนนี้กัน

พลังของความแตกต่าง คุณค่าแห่งความเท่าเทียม

ณัฏฐาเป็นคนกรุงเทพฯ แต่กำเนิด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นเดินทางสู่วิชาชีพนักบัญชี โดยเข้าทำงานที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ กรุงไทยธนกิจ แต่เมื่อทำได้ช่วงเวลาหนึ่ง เธอก็ค้นพบว่า นั่นไม่ใช่ตัวเธอเลย เพราะลักษณะงานมีความเป็นกิจวัตร (routine) สูง ซึ่งต่างจากลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบในความคิดสร้างสรรค์ แตกต่าง และนอกกรอบ

เมื่อตระหนักได้เช่นนั้น เธอจึงตัดสินใจบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขา International Business Management ที่ University of Exeter ประเทศอังกฤษ สถานที่แห่งนั้นเปรียบเสมือน Melting Pot ที่รวมผู้คนที่มี “ความแตกต่าง” ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม และประสบการณ์เข้าไว้ด้วยกัน มาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งนั่น ทำให้เธอได้ขยายมุมมอง เปิดโลกทัศน์ โดยเฉพาะการเรียนรู้และเข้าใจถึงความแตกต่างอย่างแท้จริง ยิ่งสมัยนั้น เทคโนโลยีการสื่อสารยังไม่ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน ทำให้การรับรู้พื้นเพของแต่ละประเทศมีความจำกัด ซึ่งเธอเองก็ต้อง “ปรับตัว” อยู่ไม่น้อย

หลังใช้ชีวิต​พร้อมดีกรีปริญญาโทจากเมืองผู้ดี เธอได้กลับมายังแผ่นดินเกิด พร้อมตามฝันบนเส้นทางแห่งการทำงานที่แตกต่าง ย้อนไปราว 20 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจัดเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต ตรงกับความสนใจของณัฏฐา ในเวลานั้น ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว นั่นคือ AIS จึงสมัครเข้าทำงานในส่วนงาน SIM Marketing ขณะนั้นสังกัดอยู่ในกลุ่มงานวิศวกรรม ซึ่งเพื่อนร่วมงานเป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคสำหรับเธอ ในทางกลับกัน เธอกลับมองเป็นความท้าทายและเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นวิศวกร และยังกระตือรือร้นใฝ่หาความรู้ เพื่อเข้าใจโครงสร้างทางเทคนิคให้ลึกขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรได้บ่มเพาะความรู้เฉพาะด้านเพิ่มเติมในคอร์ส Mini Master in Telecoms Management ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

สมัยก่อน สังคมอาจมีมายาคติทางเพศที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ อย่างวิศวกร คนมักคิดว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย แต่เราต้องคิดใหม่ว่างานวิศวกรเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ การวางแผน ดังนั้น เรื่องเพศจึงไม่มีผลกับอาชีพ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลมากกว่า

“ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงาน เรื่องเพศไม่ได้นำมาซึ่งความยากลำบากแต่อย่างใด จะแตกต่างกันแค่เรื่องสรีระและพละกำลัง แต่เรื่องอื่นแล้ว ไม่ด้อยกว่ากัน และทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี” เธอกล่าวว่า “ในอดีต สังคมเคยมีคติความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ลูกผู้หญิงอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน สมาชิกในสังคมอาจต้องหันมาทบทวนว่า คติความเชื่อนี้ยังคงใช้ได้ในบริบทของสังคมปัจจุบันหรือไม่ แต่ส่วนตัวพี่เชื่อว่า สังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อที่ล้าสมัย ให้คุณค่ากับความเท่าเทียม พิจารณาที่ศักยภาพ ความสามารถ และผลลัพธ์ของการกระทำมากกว่าเรื่องเพศ”

หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในธุรกิจโทรคมนาคมอยู่ 4 ปี จึงถึงเวลาที่เธอตัดสินใจไปหาความท้าทายใหม่ๆ ที่ Orange ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งในเวลานั้นเป็นที่จับตามองอย่างมากในอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการต่างชาติรายแรกที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยเธอทำหน้าที่ดูแลด้าน Tariff Management ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางแผนราคาแพ็คเกจบริการโทรศัพท์มือถือ

ตลาดเปลี่่ยน-โอกาสเปิด

ณัฏฐาเล่าถึงตลาดโทรคมนาคมตอนนั้นว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานที่ Orange เป็นแบบบริษัท “อินเตอร์” มีผู้บริหารส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ได้นำแนวคิดการทำแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือ พร้อมสัญญาการใช้บริการโทรคมนาคมแบบที่ใช้ในต่างประเทศมาใช้ในการทำตลาดในเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือยังต่ำอยู่ เนื่องจากมือถือยังมีราคาสูงและความเข้าใจในความแตกต่างของตลาดผู้บริโภคคนไทยยังน้อย มีการทำโปรโมชั่นแจกโทรศัพท์มือถือสุดฮิต Nokia 3310 ที่มาพร้อมสัญญาการใช้บริการ 12 เดือน ซึ่งถือว่าใหม่มากสำหรับคนไทยในเวลานั้น มีคนเหมารถกันมาเป็นคันรถเพื่อมาเอามือถือฟรี แม้อาจจะไม่ตอบโจทย์ในแง่ความคุ้มทุน แต่ก็สร้างความจดจำแบรนด์ในฐานะ Newcomer เรียกว่าปฏิวัติการตลาดวงการโทรคมในเวลานั้นเลยทีเดียว”

ต่อมา หลังจากที่ Orange ได้ควบรวมกับทรู ภายใต้แบรนด์ Truemove โทรศัพท์มือถือมีราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นในช่วงที่ทรูกำลังเปิดให้บริการ 3G เป็นครั้งแรก ทรูได้นำ iPhone รุ่นแรกเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำเข้าผลิตภัณฑ์จาก Apple เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่ง ณัฏฐา ก็เป็นหนึ่งในคีย์วูแมนที่ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในครั้งนั้นด้วย

จากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบัน ณัฏฐาได้รับความไว้วางใจจากคณะผู้บริหารให้มาดูแลตลาด “รายเดือน” หรือโพสต์เพย์ พร้อมกับการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของบริษัท ศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์ หรือ Clearing House เพื่อพัฒนาระบบการย้ายค่ายเบอร์เดิมระหว่างโอเปอร์เรเตอร์ให้ราบรื่นอีกด้วย

“Postpaid เป็นธุรกิจหลักของทรู มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด ทำให้เราเองมีความกดดันที่สูงมาก ทุกวันมีปัญหาให้แก้ไข ขณะเดียวกัน เราต้องมองมุมบวก มั่นใจในศักยภาพของเราและทีม พี่คิดเสมอว่าถ้าเราไม่ไหว ทีมงานข้างหลังก็ไม่ไหว ดังนั้น เราจึงต้องปรับที่ mindset ตัวเองก่อน ทำให้เราสามารถจัดการกับความกดดันที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” เธอ อธิบาย

ครอบครัว เบื้องหลังของความสำเร็จ

กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ อะไรคือเคล็ดลับของความสำเร็จ True Blog ถาม?

“ครอบครัว” ณัฏฐา ตอบอย่างไม่ลังเล พร้อมเล่าเสริมว่า เธอมีครอบครัวเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญ พวกเขาพร้อมสนับสนุนในทุกย่างก้าวการเติบโตของพี่ บางครั้งแม้จะต้องทำงานล่วงเวลาบ้าง วันเสาร์-อาทิตย์บ้าง แต่ก็มีครอบครัวให้กำลังใจ ขณะเดียวกัน เธอเองก็ตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของตนเองต่อครอบครัว รู้จักแบ่งเวลา พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำกิจกรรม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการงานและครอบครัวให้พอดี

กรณีของณัฏฐา ภายหลังเธอเข้าพิธีวิวาห์ ตลอดระยะเวลา 5 ปี เธอและสามีมีความพยายามในการมีบุตร แต่เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถมีลูกด้วยวิธีการธรรมชาติได้ เธอและสามีจึงตัดสินใจครองชีวิตคู่ โดยไม่มีบุตร อย่างไรก็ตาม เธอเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ผู้หญิงสามารถมีความก้าวหน้าในอาชีพได้โดยไม่ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวอย่างการมีลูกหากมีความเตรียมพร้อมและการวางแผนที่ดีพอ

“ตอนพยายามที่จะมีลูก พี่มีการเตรียมตัว ปรึกษาหมอ ปรึกษาเพื่อนถึงสิ่งต่างๆ ที่คนเป็นแม่อาจพบเจอ เช่น การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน การฝากครรภ์ การปั๊มนม ฯลฯ การรับมือกับภาวะต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีบทบาทความเป็นแม่และคนทำงานได้อย่างสมดุล”

เคล็ดลับนำผู้หญิงสู่ความสำเร็จ

  1. ทัศนคติบวก (Positive Mindset) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการกระทำทุกอย่าง หากเชื่อมั่นว่าทำได้ เราก็จะทุ่มเทและฝ่าฝันอุปสรรคระหว่างทางได้ โดยไม่พะวงถึงข้อจำกัดจนกีดขวางการเริ่มต้น
  2. เชื่อมันในศักยภาพตัวเอง (Trust in Yourself) ความเชื่อเปรียบได้เป็น NorthStar ที่จะช่วยขยายศักยภาพและความสามารถตนเองออกไปให้มากขึ้น
  3. ถอดบทเรียน (Lesson Learned) มนุษย์จะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ เมื่อได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดหรือถอดประสบการณ์ที่พบเจอเป็นบทเรียน โอกาสให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเปิดรับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ เรียนรู้ต่อยอดประสบความสำเร็จ

ที่ผ่านมา สังคมไทยมีพัฒนาการด้านสิทธิสตรีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเข้าถึงการศึกษา ปัจเจกบุคคล รวมถึงแนวนโยบายต่างๆ ขององค์กรที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้หญิง (Female Inclusion) อย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มีพื้นฐานความเชื่อและวัฒนธรรมด้าน “ความเท่าเทียม” ซึ่งได้ถูกพัฒนากลายเป็นแพลทฟอร์มที่ใช้ในการ springboard วัฒนธรรมแห่งความเท่าเทียมในมิติอื่นต่อไปในองค์กร