ความขัดแย้ง “คนกับช้างป่า” (ตอนที่ 1): ถอดรหัสต้นตอปัญหาผ่าน “กุยบุรีโมเดล”

06 ธันวาคม 2567


“พี่เคยเกลียดช้างป่านะ มันทำให้พี่เป็นหนี้ บ้านช่องก็ไม่ได้อยู่ ต้องมาเฝ้าสวนตลอดเวลา เพราะกลัวว่าช้างป่าจะออกมากินสัปปะรดพี่หมด” นี่คือความในใจของ ตุ้ย – จันท์จิรา ภูฆัง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกสัปปะรดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันกว่า 402,000 ไร่ ทั้งยัง เป็นแหล่งแปรรูปสัปปะรดเพื่อการบริโภคและส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่า “เมืองหลวงสัปปะรด” สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี โดยสัปปะรดปัตตาเวียเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตชาวประจวบคีรีขันธ์มาหลายทศวรรษ

เสียงความเดือดร้อน

ที่ผ่านมา เกษตรกรไทยต่างเผชิญกับปัญหาและความท้าทายนานานัปการเป็นทุนเดิม ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต้นทุนทางการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาพืชผลตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด และศัตรูพืช แต่สำหรับเกษตรกรชาวสวนสัปปะรดที่หมู่บ้านรวมไทย หมู่บ้านเล็กๆ ที่มีพื้นที่ติดต่อกับอุทยานแห่งชาติ (อช.) กุยบุรี ศัตรูพืชของพวกเขานั้นมีขนาดใหญ่ หนักนับตัน และพวกมันไม่ได้ทำลายพืชผลเพียงบางส่วนของต้นเหมือนศัตรูพืชชนิด อื่นแต่กินเข้าไปทั้งผล เรียกได้ว่าผลผลิตที่ปลูกมานานแรมปีหายไปทั้งสวน ศัตรูพืชชนิดนี้ คือ “ช้างป่า”

ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า (Human-Elephant Conflicts: HEC) นับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตร้อนอย่างทวีปแอฟริกาและเอเชีย การเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ การพัฒนาสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรม การแย่งชิงทรัพยากรที่ดิน และจำนวนที่ลดลงของประชากรสัตว์นักล่า ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่ามีความรุนแรงขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

ไทย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรง และปรากฏเหตุในหลายพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา อช.เขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี อช.เฉลิมรัตนโกสินทร์ จ.กาญจนบุรี และ อช.น้ำตกคลองแก้ว จ.ตราด ส่งผลกระทบและความเสีนหายทางด้านทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตรแก่ชาวบ้านเกือบ 400,000 คน จาก 156,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

อช.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในอดีตเคยเป็นหนึ่งสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าที่ดุเดือดมากที่สุด ในช่วงปี 2538-2542 มีรายงานช้างป่าถูกทำร้ายนับสิบตัว และถูกวางยาเบื่อจนเสียชีวิต 4 ตัว กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งและได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

ตุ้ย – จันท์จิรา ภูฆัง เล่าว่า ครอบครัวของเธอปักหลักอาศัยอยู่ที่กุยบุรีตั้งแต่รุ่นตายาย ประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกสัปปะรดมาตั้งแต่จำความได้ ตุ้ยใช้ชีวิตอยู่กินที่ไร่สัปปะรดเป็นหลัก ด้วยเหตุที่ไร่ของเธอตั้งอยู่ “แนวแรก” อันเป็นส่วนที่ติดกับเขตพื้นที่ป่า เมื่อช้างป่าออกหากิน ไร่ของเธอจึงกลายเป็นพื้นที่แรกที่ช้างป่าเข้าถึง นั่นจึงทำให้ตุ้ยต้องหมั่นไปเฝ้าไร่ทุกคืนและทำไร่ในตอนกลางวัน เพื่อดูแลผลผลิตที่รอจำหน่ายให้โรงงานแปรรูปต่อไป

“บ้านช่องมีนะ แต่ไม่ค่อยได้กลับหรอก เพราะพี่ต้องไปเฝ้าไร่ บางทีก็ต้องกระเตงลูกไปไร่ด้วย ปล่อยไว้ที่บ้านก็เป็นห่วง อยู่ตัวคนเดียว” เธอเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “มันเครียดนะที่ต้องอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เพราะหากสัปปะรดที่ออกผลปีละครั้งถูกช้างป่ากินไปหมด นั่นหมายถึง เงินที่พี่ไปกู้มาเพื่อซื้อหน่อซื้อปุ๋ยมาลงทุนก็หายไปด้วย เงินก็ไม่ได้แถมยังเป็นหนี้อีก ความเจ็บปวดนี้มันยากจะเยียวยานะ”

คนแย่งช้างหรือช้างรุกล้ำคน?

นิติพัฒน์ แน่นแคว้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านรวมไทย เล่าว่า หมู่บ้านรวมไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2521 ตามนโยบายรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่มีฐานะยากจนจากทั่วประเทศได้มีพื้นที่ทำกิน โดยใช้พื้นที่เขตป่าสงวนที่เสื่อมโทรมมาจัดสรรแก่ราษฎร ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้ร้บการจัดสรรที่ดิน 2 ส่วน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเช่าที่ป่าจากรมป่าไม้ ประกอบด้วย ที่ดินสำหรับที่อยู่อาศัยในเขตชุมชน 3 ไร่ และพื้นที่ทำทำกินอีก 20 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ติดกับ อช.กุยบุรี นอกจากประเด็นปากท้องแล้ว การจัดสรรที่ดินดังกล่าวยังแฝงนัยยะทางการเมือง โดยรัฐบาลฯ ต้องการให้ชาวบ้านเป็นอีกหนึ่งกำลังในการเฝ้าระวังการรุกรานของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ในช่วงที่การเมืองไทยครุกรุ่น

ในปี 2521 มีผู้ได้รับการคัดเลือกทั้งสิ้น 150 ครัวเรือน หรือประมาณ 600 คน ขณะที่ปัจจุบัน ประชากรขยายตัวขึ้น จนมีราษฎรอาศัยอยู่ทั้งสิ้นราว 3,100 คน 770 ครัวเรือน ทั้งนี้ ช่วงปี 2520-2525 ถือเป็นยุคบุกเบิกที่ดินเพื่อการเพาะปลูกสัปปะรด ต่อมาในปี 2525-2537 จำนวนไร่สัปปะรดมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากความต้องการที่มากขึ้นและราคาผลผลิตที่สูงขึ้น จนมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกติดพื้นที่ป่าสงวนฯ และเมื่อฤดูกาลเคลื่อนย้ายจากภูเขาสู่ที่ราบของช้างป่ามาถึง ด้วยกลิ่นที่หอมหวนจึงเย้ายวนพวกมันได้ลองลิ้มรสความหวานของสัปปะรดเป็น “ครั้งแรก”

ต่อมา ในช่วงปี 2538-2545 สถานการณ์สู้รบในเมียนมาร์รุนแรงขึ้น กอปรกับพัฒนาการการเรียนรู้ของช้างป่า ทำให้พวกมันมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปักหลักหากินพื้นที่ติดชายขอบพื้นที่เพาะปลูกสัปปะรดนานขึ้น ปรากฏตัวนอกพื้นที่มากขึ้น พืชผลได้รับความเสียหาย  จนสถานการณ์เข้าสู่ความรุนแรงขั้นขีดสุดในปี 2542 มีช้างป่าตายเป็นจำนวนมาก และกลายเป็น “ความขัดเเย้งระหว่างคนและช้างป่า” ตามนิยามทางวิชาการ

ต่อมา ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ในหลวง ร.9 พระองค์ทรงมีรับสั่งให้จัดตั้ง “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับผืนป่าแห่งนี้ โดยประกอบด้วยคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ได้แก่ 1. ฝ่ายความมั่่นคง โดย กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 พัน 3 รอ.) 2. ฝ่ายอนุรักษ์และคุ้มครอง โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ และ 3. ฝ่ายปกครอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทำงานด้านพัฒนาอาชีพประชาชน มีการเวนคืนพื้นที่ราบระหว่างแนวเขากว่า 20,000 ไร่ เพื่อให้กลับมาเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าอีกครั้ง จากเดิมที่เริ่มบุกเบิกเพาะปลูกต้นยูคาลิปตัส ต้นสน และสัปปะรดตั้งแต่ปี 2510  และจากการแก้ไขที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงอย่างมีนัยสำคัญ

นิเวศวิทยาช้างป่า

ช้าง เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักราว 3-4 ตัน สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธ์ใหญ่ๆ ได้แก่ สายพันธ์แอฟริกา และสายพันธ์เอเชีย สำหรับสายพันธ์เอเชีย พบเห็นได้มากในอินเดีย ศรีลังกา เนปาล มาเลเซีย เมียนมาร์ และไทย ฯลฯ พวกมันจะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 15 ปี ตั้งท้องนานถึง 22 เดือน และตกลูกครั้งละ 1 ตัว โดยแต่ละครอกจะมีระยะเวลาห่างกัน 4 ปี

ในภาวะปกติ ประชากรช้างถูกสร้างสมดุลโดยการล่าตามธรรมชาติจากสัตว์นักล่า การเสียชีวิตตจากการคลอด การถูกทำร้ายจากช้างเพศผู้นอกฝูง แต่เมื่อช้างโตเต็มวัยแล้วจะมีอัตราการตายต่ำ มีอายุขัยเฉลี่ยราว 60-70 ปี  ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรช้างป่ากระจายตัวใน 16 กลุ่มป่า 93 พื้นที่อนุรักษ์ คิดเป็นจำนวน 4,000-4,400 ตัว มีอัตราการเกิดเฉลี่ย 8% ต่อปี

ช้างเอเชีย อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ทุ่งหญ้าจนถึงป่ารกทึบ มี “วงรอบ” ในการออกหาอาหารถึง 180-400 ตร.กม. ตามฤดูกาล ด้วยร่างอันมหึมา ช้างป่าจึงใช้เวลาในการกินมากถึงวันละ 14-19 ชม. คิดเป็นน้ำหนัก 150-200 กม. ต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายมูลวันละ 16-18 ครั้ง คิดเป็นน้ำหนักราว 100 กก. ต่อวัน เลยทีเดียว

ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ช้างป่า จึงได้รับสมญานามว่า “ผู้สร้างสมดุลแห่งป่า” พฤติกรรมการกิน การเดินทาง การถ่ายมูลถือเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างสมดุลทางระบบนิเวศ กล่าวคือ นอกจากมูลที่ทำหน้าที่ปุ๋ยอย่างดีแล้ว ยังเป็นอาหารของแมลง อีกทั้งการเดินทางระยะไกลและการกินพืชที่มีลักษณะสูงใหญ่ ยังช่วยให้เกิดการกระจายตัวของเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนเศษพืชที่ตกลงก็ยังเป็นอาหารให้แก่สัตว์เล็กได้ดำรงชีพอีกด้วย

สำหรับลักษณะทางชีววิทยา ช้างยังเป็นสัตว์ขี้ร้อน จึงมักอาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้หรือใกล้แหล่งน้ำ เพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกาย  ออกหากินในตอนกลางคืน และนอนในเวลากลางวัน  นอกจากนี้ พวกมันมีความสามารถทางการได้ยินที่ดีมาก แม้ต้นกำเนิดเสียงจะอยู่ไกลหลายกิโลเมตร

กุยบุรีโมเดล

อรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ให้ข้อมูลว่า อช.กุยบุรี มีขนาดพื้นที่ราว 1,000 ตร.กม. ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.กุยบุรี อ.ปราณบุรี อ.สามร้อยยอดและ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ พันธุ์ไม้ สัตว์ป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทิงและวัวแดงฝูงใหญ่ ตลอดนจนภูมิทัศน์ที่สวยงามของเทือกเขาตระนาวศรี

ข้อมูลปี 2564 ประชากรช้างป่าในพื้นที่มีแนวโน้ม “เพิ่มขึ้น” ราว 350 ตัว เมื่อเทียบข้อมูลจากการสำรวจประชากช้างป่าด้วย DNA ในปี 2559 ที่มีประชากรช้างป่า ไม่น้อยกว่า 237 ตัว มีลักษณะการรวมฝูงทั้งขนาดใหญ่และเล็ก

จากสถานการณ์ช้างป่าออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ส่งผลให้ราษฎรที่อาศัยรอบแนวเขต อช.กุยบุรี ได้รับผลกระทบทั้งพืชผลกว่า 60,000 ต้นและมีผู้เสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บอีก 2 ราย (ข้อมูลระหว่างปี 2550-2566)

“เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ช้างป่าต้องอยู่ในป่า แต่ด้วยประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น ความต้องการที่ดินทำกินก็มากขึ้น” อรรถพงษ์กล่าวและเสริมว่า เมื่อพิจารณาถึงประเด็นเกี่ยวเนื่อง พบว่า ต้นตอปัญหาที่แท้จริงของความขัดแย้งระหว่างคนและช้างที่แท้จริงกลายเป็นประเด็น “ปากท้อง” ซึ่งมีสาเหตุจากการเข้าไปกินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาฯ อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทและเงื่อนไขที่จำกัด อช.กุยบุรี จึงได้แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ภายใต้กฎหมายและ ระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

1. ป้องกัน

การรักษาความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและน้ำ ถือเป็นกลไกหลักในการป้องกันไม่ให้ช้างออกนอกพื้นที่ สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในป่าธรรมชาติและกลับสู่ถิ่นฐานที่อยู่อาศัยดั้งเดิม สำหรับสัตว์ป่ากินพืช “โป่ง” (Salt Lick) หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุนานาชนิด มีความจำเป็นต่อการดำรงของสัตว์ประเภทนี้อย่างมาก โดยพวกมันจะกินดินและน้ำ น้ำ เพื่อรับหรือทดแทนสารอาหารประเภทแร่ธาตุที่ไม่มีอยู่ในพืช

อย่างไรก็ตาม ด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก และการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้โป่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ อันเป็นแหล่งอาหารหลักของสัตว์ป่ามีจำนวนลดน้อยถอยลง แนวคิดและการสร้าง“โป่งเทียม” จึงถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการสัตว์ป่า กล่าวคือ เจ้าหน้าที่จะนำเกลือสมุทรผสมกับดินบริเวณที่กำหนด เมื่อเผชิญกับความชื้นจากฝนหรือน้ำค้าง เกลือก็จะละลาย ทำให้ดินบริเวณนั้นเค็ม สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ ก็จะพากันมากินดินเหล่านี้ เช่นเดียวกับแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อช้างป่าที่มีอัตราการบริโภคน้ำที่ 200 ลิตรต่อวัน ทำให้ต้องมีการจัดทำแหล่งน้ำขึ้นเช่นเดียวกัน

ในช่วงปี 2551-2566 อช.กุยบุรี ได้จัดทำโป่งเทียมแล้วเสร็จทั้ืงสิ้น 103 โป่ง ตลอดจนแหล่งน้ำ 18 บ่อ (สร้างจากดิน) และกระทะน้ำ 43 จุด (สร้างจากปูนซีเมนต์)

2. ผลักดัน

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่มีช้างออกหากินนอกพื้นที่เลย เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมในปัจจุบันเดิมทีเป็นถิ่นฐานที่ช้างป่าอาศัยและแหล่งอาหาร ด้วยเหตุนี้ การผลักดันช้างกลับเข้าป่า จึงเป็นอีกแนวทางในการลดความเสียหายและลดความขัดแย้งฯ

ทั้งนี้ อช.กุยบุรี ได้ร่วมมือกับสมาชิกชุมชนจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า” มีหน้าที่ป้องกันและเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและทรัพย์สินของราษฎร โดยแบ่งชุดปฏิบัติการออกเป็น 5 ชุด ชุดละ 5-6 คน ในตอนกลางของอุทยานฯ ขณะที่ตอนเหนือและใต้มีประจำการอีกฝั่งละ 1 ชุด

แต่ด้วยสถานการณ์ที่ช้างป่าออกหากินเขตพื้นที่เกษตรกรรมมีมากขึ้น ทำให้ อช.กุยบุรี ต้องสนธิกำลังกับราษฎร ผ่านการรวมกลุ่มก่อตั้ง “เครือข่ายราษฎรเฝ้าระวังช้างป่า” ซึ่งประกอบด้วยราษฎรในพื้นที่จำนวน 117 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 16 หมู่บ้าน 6 ตำบล 4 อำเภอของ จ.ประจวบคีรีขันธ์

3. สร้างการมีส่วนร่วม

เพราะ “ปากท้อง” คือต้นตอแห่งความขัดแย้ง ดังนั้น การเพิ่มรายได้ เพื่อทดแทนผลกระทบหรือลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนผ่านการมีส่วนร่วมผ่าน “การท่องเที่ยว” โดยใช้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนความเกลียดชังเป็นความหวงแหน และนั่นจึงเป็นที่มาของสมญานาม “กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย”

“ผมเชื่อว่าที่กุยบุรี เป็นต้นแบบการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ผ่านการปรับใช้ 3 แนวทางสำคัญ ป้องกัน ผลักดัน สร้างการมีส่วนร่วม เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี สังคมก็มีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าว

แม้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าบริเวณพื้นที่ อช.กุยบุรี จะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ระหว่างทาง โดยเฉพาะการนำแผนบนกระดาษไปสู่ภาคปฏิบัติ ยังคงมีความท้าทายนานัปการรออยู่เบื้องหน้า

ติดตามเรื่องราวการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคนและช้างป่าผ่านกุยบุรีโมเดล ตอนที่ 2 ได้เร็ว ๆ นี้