บทบาทหน้าที่ของคุณใน Digital Group คืออะไรบ้าง
ลักษณะงานของแต่ละคนใน Digital Group จะมีไม่เหมือนกัน เพราะว่าเราค่อนข้างจะทำงานตามโปรเจ็กต์ที่ได้รับมากกว่า เช่นช่วงนี้เราโฟกัสอะไรเป็นพิเศษ อย่างบางคนก็มีหน้าที่ด้านวางแผนองค์กรในภาพรวมให้เดินไปพร้อมกับอุตสาหกรรม บางคนเราอาจจะดูเรื่องการพัฒนาช่องทางการขาย ดูเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือดูเรื่องเกี่ยวกับบริการทางการเงิน ที่นอกเหนือไปจากบริการโทรศัพท์ต่างๆ
อย่างตอนนี้ผมดูอยู่โปรเจ็กต์ Line Mobile ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง DTN และ LINE THAILAND จุดมุ่งหมายของเราคือการเสนอบริการโทรศัพท์มือถือในรูปแบบดิจิทัลที่ให้ประสบการณ์ที่ดีกว่ากับผู้บริโภค ผ่านการเชื่อมต่อกับ LINE Messenger application และ ให้ลูกค้าสามารถใช้บริการต่างต่างได้สะดวกสบายผ่านช่องทางออนไลน์
การ Transformation จำเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เปลี่ยนจะเกิดอะไรขึ้น
ธุรกิจสตาร์ทอัพและดิจิทัลเกิดขึ้นมาเพื่อ Disrupt หรือแทรกแซงความต้องการที่เคยชินเดิมๆ ของลูกค้า และสิ่งแรกที่มักจะโดน Disrupt ในโลกธุรกิจ คือสิ่งที่เป็น Non-Digital ก่อน เช่นการที่ต้องไปที่ศูนย์บริการ การจ่ายเงินที่หน้าร้าน คือมือถือของเราเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก มันทำหลายๆ อย่างได้ สตาร์ทอัพหลายๆ ประเทศค่อนข้างจะโฟกัสอยู่ที่แพทฟอร์มของมือถือ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพใหญ่ๆ อย่าง Uber หรือ Airbnb ทุกอย่างอยู่ในมือถือเราหมด สังเกตได้ว่ามือถือกับดิจิทัลมันคือสิ่งเดียวกัน และการที่เราเป็นโอเปอเรเตอร์ก็ควรปรับตัวไปในทิศทางนั้นเช่นกัน
คือถ้าเราไม่อยากถูก Disrupt เราต้อง Disrupt ตัวเองก่อน เราต้องเปลี่ยนก่อนที่คนอื่นจะมาเปลี่ยน ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปวิ่งตามเขา ผมมองว่ามันอาจจะไม่ต้องถึงขนาดนับหนึ่ง สอง ซั่ม แล้วเปลี่ยน แต่ถ้าเรามองเห็นแล้วว่าปลายทางมันเป็นอย่างไรใน 5-10 ปีข้างหน้า เรารู้ว่าคนเราจะใช้บริการต่างๆ ยังไง ทำไมเราไม่ค่อยๆ เดินไปจุดนั้น ในทุกๆ อย่างที่ทำในวันนี้ ผมว่าอันนั้นแหละคือการ Transformation
“ถ้าเราไม่อยากถูก Disrupt เราต้อง Disrupt ตัวเองก่อน”
แอดติจูดที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงคืออะไร
ผมว่าอย่างแรกต้องรู้ก่อนว่าอะไรคือประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง เช่นสมมติเราบอกว่าเรามองเกี่ยวกับขั้นตอนการเงิน แทนที่เราจะปริ้นต์กระดาษมาพันใบ แล้วค่อยๆ ไล่ดู แต่คุณสามารถมีตัวช่วยอะไรไหม สร้างระบบอะไรขึ้นมาให้เราทำงานบนออนไลน์ได้ง่ายมากขึ้น ถ้าในทุกๆ วันคุณค่อยๆ เปลี่ยนขั้นตอนจากออฟไลน์มาเป็นดิจิทัลได้ วันละนิดหน่อย อาทิตย์ละอย่าง เดือนละสองอย่าง คือเราต้องการจะเป็นดิจิทัลแบรนด์อันดับหนึ่งของประเทศไทย นั่นคือมิชชั่นของเรา เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เรานำเสนอให้กับลูกค้า เราจะคิดเสมอว่าจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไรให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น
บรรยากาศการทำงานที่ DTAC มีเสน่ห์อย่างไรสำหรับคุณ
ผมเคยทำงานในหลายๆ องค์กร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมาก่อน มันต่างจากที่นี่นะ ที่ดีแทคทุกคนพร้อมเปิดใจจะช่วยเหลือคุณเสมอ แล้วการทำงานทุกคนลงความคิด ลงแรงกันในทุกๆ ก้าวจริงๆ จะไม่มีใครนั่งเฉยๆ หรือต่อต้านการพัฒนาทั้งสิ้น ทุกคนเลือกที่จะเป็นคนให้มากกว่า ซึ่งบรรยากาศการทำงานแบบนี้ ดีตรงที่มันเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แล้วมันตัดเงื่อนไขการมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานไป เพราะที่อื่นเราจะเห็นว่าคนนู้นไม่คุยกับคนนี้ คนนั้นบอกไม่ให้ให้ชั้นคุยกับเธอ แต่ในดีแทคไม่มีกำแพงแบบนั้นเลย
อีกข้อที่อยากจะพูดถึง คือที่ดีแทคความเป็นเจ้านายลูกน้องแทบไม่มีการแบ่งแยกเลย สังเกตว่าในออฟฟิศจะไม่มีห้องกัน ซีอีโอก็ยืนทำงานอยู่ด้วยกัน มีอะไรก็คุยกันตลอด เวลาประชุมไม่มีการที่คนนี้ต้องนั่งหัวโต๊ะ คนนี้ต้องนั่งปลายโต๊ะ ไม่มี บรรยากาศแบบนี้ทำให้งานเดินหน้า ความคิดเห็นของคุณเท่ากับกันทุกๆ คน ทุกคนเดินหน้าไปด้วยกัน เพราะทุกคนเชื่อเหมือนกันที่อยากให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นที่ดีที่ดีแทค
“บรรยากาศการทำงานแบบนี้ดีตรงที่มันเปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น”
บรรยากาศของออฟฟิศช่วงไหนมีชีวิตชีวาที่สุด
มีหลายช่วงนะ แต่ที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือการให้เราออกไปเจอลูกค้าข้างนอกจริงๆ ช่วงที่ผมมาทำงานแรกๆ ก็จะมีการเปิดตัว 4G ตอนนั้นพนักงานทั้งบริษัทนั่งรถกันออกไปเจอลูกค้ากันหมด ไปพูดคุยแนะนำ เก็บฟีดแบ็กกลับมาแก้ไข ซึ่งปกติหน้าที่นี้เป็นหน้าที่เซลล์ แต่นี่ทีมที่คนทำบัญชีก็ต้องไปเจอลูกค้า เพราะว่าคุณคือเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้อยู่ ไม่เกี่ยวว่าคุณอยู่ตำแหน่งอะไร เพราะพวกเราคือดีแทค หรืออย่างกิจกรรม Town Hall ที่นานๆ ครั้งเราจะไปรวมกันที่ชั้น 32 หรือชั้น 38 แล้วคุยอัพเดตเรื่องผลงานของบริษัทว่าเป็นยังไง หรือมีอะไรอัพเดต ซึ่งด้วยความที่เราเป็นบริษัทใหญ่ กิจกรรมนี้สร้างโอกาสและพื้นที่ให้ทีมต่างๆ มารู้จักกัน
มีวัฒนธรรมหรือระบบการทำงานอะไรที่มีเฉพาะที่ DTAC บ้าง
สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งมากๆ ของที่นี่ คือเรามีระบบ Flexible Hours คือปกติเวลาเข้างานของเราคือ 8.30 – 17.30 น. แต่ฝ่ายบุคคลเราก็ออกกฎมาว่าสามารถยืดหยุ่น ให้เข้างานช้าได้ แต่ต้องบวกเวลาออกไปให้ครบ แต่ต้องไปคุยกับหัวหน้าก่อนนะ (หัวเราะ) ซึ่งมันดีมากๆ เพราะว่าคนทุกคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน คนบางคนไม่อยากต่อสู้กับรถติดตอนแปดโมง เขาเลือกออกจากบ้านแปดโมงครึ่งเพื่อมาถึงที่ทำงานเก้าโมงสิบห้า ผมว่าอะไรแบบนี้แหละที่แม้ดูเป็นเรื่องเล็กมาก แต่สำคัญสำหรับคนทำงานมากๆ
รู้สึกเป็นยังไงกับช่วงเวลา 2 ปีครึ่งที่ทำงานอยู่ที่นี่
ผมว่าที่นี่มันใช่ใช่ความรู้สึกเรื่องพิเศษนะ แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นในทุกวัน ถามว่าทำไมมันทำให้เรารู้สึกดีได้ เพราะว่าเราได้ทำงานกับคนที่มีไฟ มองเห็นภาพเดียวกัน เราทุกคนรู้สึกว่าต้องทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน ไม่มีใครใส่เกียร์ว่าง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีที่สุด