“ผลวิจัยพบว่า 40% ของเวลาทำงานจะถูกแทนที่ด้วย Gen AI แต่ไม่ได้หมายความว่า คนจะตกงานเพราะ AI แต่คนเก่ง AI จะมาทำงานแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น” คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในการบรรยายหัวข้อ The Future of Talent ในงานสัมมนา “Unlock the Future; Turn on the Survival Mode”
World Economic Forum คาดการณ์สัดส่วนระหว่างงานที่ทำสำเร็จโดยระบบคอมพิวเตอร์ (machine) และงานที่ทำโดยมนุษย์ ในปี 2027 ว่า งานที่ทำโดย machine จะมีถึง 43% นั่นหมายความว่า งานที่ทำโดยมนุษย์จะเหลือเพียง 57% เท่านั้น สะท้อนชัดถึงเทรนด์ตลาดงานยุคใหม่ที่ AI เข้ามาเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทำให้งานบางประเภทใกล้หายไปจากการแทนที่ด้วย AI โดยเฉพาะงานที่ทำให้เป็นอัตโนมัติได้ (automate) เช่น พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร เลขานุการพนักงานคีย์ข้อมูล และ เจ้าหน้าที่บัญชี เป็นต้น
“การมาของ AI จะทำให้มีทั้งงานที่จะหายไป และงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้” คุณศรินทร์รากล่าว โดยWorld Economic Forum ยังเผยถึงงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาพร้อมความก้าวหน้าของ AI ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning ตามมาด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และ นักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล และ Simplicity Expert ก็คือคนที่ทําทุกอย่างให้ง่าย ซึ่งเป็นอาชีพที่คนไม่เคยนึกถึง แต่เป็นอาชีพในอนาคตที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปได้เร็วขึ้นและเข้าสู่ AI ได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน งานบางประเภทสามารถใช้ Gen AI ช่วยเสริมประสิทธิภาพ เช่น ผู้พิจารณาการรับประกันภัย (Insurance Underwriters) วิศวกรรมชีวภาพและวิศวกรรมชีวการแพทย์ นักสถิติ และนักออกแบบกราฟฟิก
Talent War ความท้าทายขององค์กรยุคดิจิทัล
คุณศรินทร์รา ชี้ให้เห็นการเริ่มต้นของสงครามการแย่งคนเก่ง (Talent War) สอดคล้องกับรายงานของ World Economic Forum ที่ระบุว่า ทักษะของคนทำงานมากถึง 44% จะถูกดิสรัปภายใน 5 ปีข้างหน้า และคนที่อยู่ในองค์กร 60% ต้องได้รับการอบรมพัฒนาทักษะภายในปี 2027 เนื่องจาก AI ทำให้โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนวันนี้ประเทศไทยขาดทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ดังนั้น องค์กรจึงต้องเร่งสร้างผู้ที่มีความรู้ด้าน AI ขึ้นเองในองค์กร เพื่อรับมือกับความท้าทาย และขับเคลื่อนธุรกิจได้ต่อเนื่อง
การทำ Job Reinvention เป็นกระบวนการที่จะช่วยองค์กรค้นหาแนวทางการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อสร้าง Talent ขับเคลื่อนการทรานสฟอร์มองค์กร โดยมี 4 ขั้นตอน เริ่มจากการแยกชิ้นของงาน (Deconstruct jobs) แล้ว Reevaluate คือ ประเมินงานใหม่ว่างานชิ้นไหนยังคงทําได้เหมือนเดิม ชิ้นไหนสามารถใช้ AI ทําได้ หรือ automate ได้ จากนั้นจึงสร้างงานใหม่ขึ้นมา (Optimize and Reconstruct) ซึ่งเป็นงานที่ไม่เหมือนเดิม แล้วทำการยกระดับทักษะ (Reskill) ของพนักงานให้สอดคล้องกับงานใหม่นั้นๆ
“เราต้องมองธุรกิจเป็นหลัก ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อให้ได้คำตอบว่า เราจะต้องเลือกคนอย่างไร และจะพัฒนาทักษะของคนในองค์กรอย่างไร”
เปิดโมเดลสร้าง Talent รุ่นใหม่ของ ทรู คอร์ป ผู้นำเทคคอมปานี
ทรู คอร์ปอเรชั่น เดินหน้ากลยุทธ์สร้างสกิลหรือทักษะ AI ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ผ่าน 3 โครงการหลัก เพื่อเตรียม “คน” ให้เติบโตไปพร้อมกับความก้าวล้ำของ AI
- Digital Citizens โครงการเพิ่มขีดความสามารถทางดิจิทัลที่สำคัญให้แก่พนักงาน โดยในสิ้นปีนี้ ทรูตั้งเป้าหมายมี Digital Citizen 4,000 คน และเพิ่มเป็น 6,000 คนในปี 2025 ซึ่งพนักงานจะต้องฝึกอบรมและสอบวัดความรู้พื้นฐานด้านดิจิทัล 6 Module อาทิ การวิเคราะห์ดาต้า การมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การตลาดดิจิทัล การทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย (Simplification) ระบบอัตโนมัติ รวมถึงการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น
- AI Champions ต่อยอดจาก Digital Citizen ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอน คือ 1) Identify บ่งชี้ช่องว่างเพื่อวางแผนทรานสฟอร์ม 2) Inspire สร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานสนใจอัปสกิลและรีสกิล 3) Integrate รวบรวมคนแต่ละแผนก 2-3 คน เข้าอบรมแล้วนำ AI ไปปรับใช้ ก่อนขยายสู่พนักงานกลุ่มอื่นๆ 4) Innovate นำทักษะ AI ไปสร้างเสริมนวัตกรรม ในปี 2025 ทรูตั้งเป้าสร้าง AI Champion โดยพนักงาน 60% จะได้รับการอบรม AI, 30% มีความรู้ AI ระดับกลาง และ 10% มีความรู้ AI ระดับสูง
- Transformative Leaders ควบคู่กับเทคโนโลยี คือเรื่อง Human Being และ “คน” จะเป็น change agent ขององค์กร สิ่งสำคัญจึงต้องทำให้พนักงานมี Strategic Mindset รู้ทิศทางขององค์กรและมีส่วนเสริมสร้างความสำเร็จ ส่วนตัวพนักงานเอง ต้องมุ่งสู่ความเป็นเลิศของผลงาน มองลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลาง สร้างทีมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดนวัตกรรม
ขณะเดียวกัน ทรูยังสร้าง Venture Mindset ในระดับผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้กำหนดทิศทางขององค์กร พร้อมสอดแทรกวัฒนธรรมองค์กร (Culture) เข้าไปด้วย ควบคู่กับ Reverse Mentoring ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ Talent รุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ธุรกิจ คิดค้นนวัตกรรม และพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งจะทำให้ทั้งผู้บริหารและคนรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ไปพร้อมๆกัน
ปั้นผู้นำแห่งอนาคต
อีกหนึ่งแนวทางสร้าง Talent คือ การสรรหาคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานกับทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านโครงการ True Next Gen ที่ออกแบบ เพื่อยกระดับเส้นทางอาชีพผ่านประสบการณ์ตรงและการมอบหมายงานจริง เตรียมพร้อมสู่การเป็น “ผู้นำแห่งอนาคต”
เราคัดเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติหลักๆ คือ 1) มีความอดทนที่จะทําสิ่งใหม่และมุ่งมั่นทําให้สําเร็จ 2) Cognitive ทั้งในด้านความสามารถในการเรียนรู้ การจับประเด็นหรือใจความสําคัญ และเก่งตัวเลข และ 3) มีความรู้ด้านดิจิทัล ดังนั้น True Next Gen จึงถูกแบ่งเป็น 2 แทรค ได้แก่ Tech Talent และ Business Talent อีกทั้งจะต้องผ่าน Hackathon และการสัมภาษณ์กับผู้บริหารระดับ CxO เพื่อคัดสรร Talent รุ่นใหม่ที่จะเป็นผู้นําองค์กรในอนาคต โดย True Next Gen จะได้รับโอกาสทำงานหมุนเวียนในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ของบริษัททุกๆ 6 เดือน และ reverse mentoring กับผู้บริหารระดับสูง เมื่อจบโครงการในระยะเวลา 18 เดือน จะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง
ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังมีโครงการ True Alpha ซึ่งเป็นอีกเจนเนอเรชันของ True Next Gen เปิดให้นักศึกษามหาวิทยาลัย ปี 3-4 มาฝึกอบรมในช่วงปิดเทอม นาน 2 เดือน ทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับดิจิทัลและ AI พร้อมรับประกาศนียบัตรหลังจบโครงการ และสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ True Next Gen ต่อได้เช่นกัน
ผนวกวัฒนธรรมองค์กร 4C ต่อยอดคนเก่งให้แข็งแกร่ง
“เราต้องเข้าใจคนก่อน เข้าใจทักษะของคน เข้าใจว่าองค์กรจะไปทางไหน จึงจะหา Talent ที่ตรงกับความต้องการ และทําให้เกิด AI ในองค์กร เพราะอยากให้ทุกคนในองค์กรก้าวไปกับเราทุกคน” คุณศรินทร์รา กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นอันดับแรก จึงจะสามารถทรานสฟอร์มองค์กรเป็น AI-First Organization ได้
อย่างไรก็ตาม การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งจะช่วยให้องค์กรรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ 4C Value อันได้แก่ Compassion, Credibility, Co-creation และ Courage ทรู คอร์ปอเรชั่น จะสร้าง Talent ในอนาคต พร้อมมุ่งสู่ความเป็นเลิศในเรื่อง “คน” บนพื้นฐานความเชื่อมั่นที่ว่า “ทุกคนเป็นคนเก่ง เราต้องพยายามช่วยให้คนเก่ง ดึงความสามารถและศักยภาพออกมาใช้ให้ได้ สร้างความแข็งแกร่งบนความเก่ง และต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วองค์กรก็จะมีแต่คนเก่ง” คุณศรินทร์รา กล่าวทิ้งท้าย