ทำไมต้องเลือก? เมื่อหน้าที่แม่และงานก้าวไปด้วยกันได้ ผ่าประสบการณ์-วิธีบริหารชีวิตงานและส่วนตัวของหญิงเหล็ก “อรอุมา วัฒนะสุข”

29 มีนาคม 2567


คุณคิดว่า ราคาของการมีลูกหนึ่งคนของครอบครัวไทยมีมูลค่าเท่าไร?

 

จากงานวิจัยเรื่อง ราคาของการมีลูก เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ราคาของการมีลูกของครอบครัวไทยอยู่ในระดับ “สูง” โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าว ด้วยการเสียสละโอกาส ความก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากกรอบทางสังคมที่กำหนดบทบาทให้ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลครอบครัวและเลี้ยงดูลูกเป็นหลัก

 

แต่สำหรับ “อรอุมา วัฒนะสุข” หัวหน้าสายงานสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์แห่งบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้ว เธอเลือกที่จะหน้าที่ “แม่” และ “นักบริหาร” ไปพร้อมๆ กันอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทว่า…กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ เธอต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง เธอมองพัฒนาการความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยอย่างไร

ประสบการณ์ (คุกคามทางเพศ)

อรอุมา เป็นคนมีความมุ่งมั่นแต่เด็ก เป้าหมายมีไว้พุ่งชน ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ในพจนานุกรมของเธอ เส้นทางแห่งการศึกษาเธอสอบติดโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามด้วยคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนั่นคือสถานที่ที่บ่มเพาะให้เธอมีความคิดเชิงกลยุทธ์ ทักษะ “การบริหารความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” และกรอบความคิดในการเป็นนักข่าว

ด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ชอบท้าทายและคิดต่าง นิสิต IR ส่วนใหญ่มักเลือกเส้นทางประกอบอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศ แต่สำหรับอรอุมา อาชีพแรกของเธอคือ “ห้องข่าว” โดยทำหน้าที่ผู้สื่อข่าว  สังกัดโต๊ะข่าวต่างประเทศ ประจำ ณ ช่อง 7 สีเป็นที่แรก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์อันหลากหลาย โอกาสอันล้ำค่า รวมถึงเหตุการณ์อันเลวร้าย

 

“หนึ่งในเหตุการณ์ที่พี่ยังจำถึงทุกวันนี้ คือการที่พี่ถูกแหล่งข่าวชวนไปเป็น ‘บ้านน้อย’ เธอเผย พร้อมกับสะท้อนว่า ผู้หญิงจำนวนมากยังเผชิญกับการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน ซึ่งนั่นเกิดจากการขาดความเคารพซึ่งกันและกัน ความไม่เป็นมืออาชีพ และอิทธิพลจากสังคมชายเป็นใหญ่”

อรอุมายังคงหลงใหลในวิชาชีพด้านการสื่อสาร เธอในวัย 26 ปีกับตำแหน่ง Communications Specialist ที่ IBM บริษัทไอทียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ที่นั่นทำให้เธอได้เปิดโลกแห่งความเท่าเทียมทางเพศผ่าน “ระบบ” ที่เอื้อให้ผู้หญิงเติบโตทัดเทียมผู้ชายบนเส้นทางแห่งการทำงานได้ IBM มีโปรแกรมเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงในองค์กรที่เรียกว่า Taking the Stage ซึ่งเป็นเวทีที่ให้ผู้หญิงใน IBM ทั่วโลกได้แสดงถึงศักยภาพความเป็นผู้นำของตัวเอง ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดก็ตาม ผ่านวิธีที่เรียกว่า Structured Discussion ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้หญิงรอบโลกได้สร้างความเข้มแข็งผ่านการรวมกลุ่ม

 

การมีแบบอย่างผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ (Role Model) จะช่วยผู้หญิงด้วยกันเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งล้วนต่างเผชิญกับปัญหาในมิติที่แตกต่างกัน เช่น การเติบโตในระดับบริหารพร้อมกับการทำหน้าที่แม่ การทำงานควบคู่กับการดูแลแม่ที่ป่วยติดเตียง หรือการบริหารความสัมพันธ์กับคู่ครองที่อาศัยต่างประเทศกัน

 

“กิจกรรมแบบนี้ทำให้เราเห็นเส้นทางการเติบโตของผู้หญิงในระดับบริหาร ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความแน่วแน่ ตั้งมั่น และเชื่อในศักยภาพตัวเอง ก็ล้วนมีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พร้อมขึ้นสู่ระดับบริหารได้ทั้งนั้น” อรอุมา กล่าว

ลูกหรืองาน ทางแยกที่ผู้หญิงต้องเลือก?

เมื่อเธอย่างเข้าวัย 30 อรอุมาตัดสินใจลงหลักปักฐานมีครอบครัว แต่งงานพร้อมกับมี “ลูก” คนแรก ซึ่งขณะนั้นหน้าที่การงานกำลังไปได้สวยในตำแหน่ง Program Manager โดยเธอยอมรับว่า การ “ตั้งครรภ์” นั้นหนักหนาสาหัสสำหรับเธอมาก ต้องจัดการกับอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อความง่วงระหว่างวันที่ยังคงต้องทำงานเป็นปกติ

แต่กระนั้น อรอุมาไม่เคยนำอุปสรรคจากการตั้งครรภ์มาเป็นข้ออ้างในการทำงาน เธอยังคงแบกเครื่องฉายภาพโปรเจ็คเตอร์ขึ้นลงรถไฟฟ้า ทำงานจนถึงกำหนดนัดผ่าคลอด

 

แต่นั่นเป็นเพียงปฐมบทของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “แม่”

เมื่อการผ่าคลอดเสร็จสิ้นปลอดภัยและส่งตัวกลับบ้านพักฟื้นแล้ว แม้เธอจะวางแผนล่วงหน้า ลงทุนตระเตรียมอุปกรณ์ความสะดวกต่างๆ เพื่อให้เธอทำหน้าที่ “พนักงาน เมีย และแม่” ได้อย่างมั่นใจแล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดทางธรรมชาติ แม่จำต้องให้นมลูกวัยแรกเกิดทั้งวันทั้งคืน เกิดภาวะพักผ่อนไม่เพียงพอ ซ้ำร้าย อรอุมายังเผชิญกับภาวะน้ำนมน้อย ทำให้เธอต้องอยู่กับ “ความทรมาน” จากความเจ็บปวดที่ทารกกัดเต้านมจนเลือดออกไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของแผลผ่าตัด

 

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า ราว 13% ของแม่ลูกอ่อนทั่วโลกมักเผชิญกับ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่รวดเร็ว ซึ่งอรอุมา เป็น 1 ใน 13% ดังกล่าว เรียกได้ว่า ความเป็นแม่ของเธอมาพร้อมกับความเจ็บปวดทั้งกายและใจ

 

“ผู้หญิงต้องคิดให้ดีว่าจะบริหารโจทย์ที่ท้าทายทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างไร รวมถึงระยะก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์” ผู้บริหารหญิงแม่ลูกสองชี้แนะ

อย่างไรก็ตาม อรอุมา ในฐานะผู้ที่ผ่านบทบาทแม่และคนทำงาน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งชีวิตการงานและชีวิตครอบครัว แต่ต้องมีทักษะการจัดการตัวเองที่ดี (Self-Organizing Skill) และจำต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติราว 3-4 เท่า

“ผู้หญิงต้องคิดให้ดีว่าจะบริหารโจทย์ที่ท้าทายทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างไร รวมถึงระยะก่อน ระหว่าง และหลังตั้งครรภ์” ผู้บริหารหญิงแม่ลูกสองชี้แนะ

“แม่ลูกอ่อนส่วนใหญ่มักผลักภาระให้ย่า ยาย หรือพี่เลี้ยง แต่นั่นคือ ‘กับดัก’ ชีวิตแรกของผู้หญิง” อรอุมาจุดประเด็น และกล่าวเสริมว่า เธอทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกเองตลอด คนเป็นแม่ต้องคิดว่าลูกคือส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของ แต่ในทางกลับกัน ลูกก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต พร้อมกันนี้ แม่ควรให้ผู้เป็นพ่อได้มีบทบาทต่อการเลี้ยงดูลูกไปพร้อมๆ กัน อย่าให้กรอบทางสังคมมาบังคับให้ผู้เป็นแม่แบกรับภาระไว้แต่เพียงผู้เดียว

 

เธอแนะนำว่า เมื่อแผลผ่าตัดหายเจ็บแล้ว คุณแม่ควรออกไปใช้ชีวิต ให้รางวัลตัวเอง  ออกกำลังกาย ดูแลตัวเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ สร้างความมั่นใจให้ตัวเอง พาตัวเองเจ้าสู่วงจรการทำงานปกติ ทำตัวเองให้มีระเบียบ

 

“การมีลูก” ต้องไม่ให้แม่ไขว้เขวจากเป้าหมายใหญ่ของชีวิต คนเป็นแม่ต้องอย่าลืม “รักตัวเอง” เพราะในบทบาทเดียวกัน ลูกก็ต้องการอย่างอื่นจากเรา เช่น การเป็นแรงบันดาลใจ การเป็น Role Model เป็นต้น

“การมีลูก” ต้องไม่ให้แม่ไขว้เขวจากเป้าหมายใหญ่ของชีวิต คนเป็นแม่ต้องอย่าลืม “รักตัวเอง” เพราะในบทบาทเดียวกัน ลูกก็ต้องการอย่างอื่นจากเรา เช่น การเป็นแรงบันดาลใจ การเป็น Role Model เป็นต้น

เปลี่ยนจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง ต่อยอดสู่ความเป็นผู้นำ

แม้ธรรมชาติจะกำหนดและสรรค์สร้างให้ชายและหญิงต่างกัน แต่กระนั้น ผู้หญิงต้องไม่ยอมแพ้หรือฝืนธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงควรต่อยอด-เปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เสริมศักยภาพตนเองให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี

 

1. กำหนดเป้าหมายการใช้ชีวิต (Life Ambition Setting) ผู้หญิง “ทุกคน” ควรมีทักษะในการวิเคราะห์ตัวเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็ง คิดการณ์ไกล เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสโลกกว้าง เพื่อลับคมความคิด

 

เป้าหมายชีวิตอาจเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ขอเพียงตั้งธงไว้ก่อน แล้วคิดหาวิถีทางเพื่อฝึกให้เรามองไปข้างหน้า เพราะเธอเชื่อว่าเป้าหมายชีวิตมีความเป็นพลวัต จะเปลี่ยนไปตามบริบท ความสนใจ และประสบการณ์ที่พบเจอ

 

“ผู้หญิงควรเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกเมื่อ เพราะเมื่อถึงคราวที่แสงไฟส่องมาถึงเรา ก็สามารถคว้าไมค์และร้องเพลงได้ทันที” เธอกล่าวถึงคำแนะนำที่อดีตผู้บริหาร IBM พูดกับเธอ และเสริมว่า “ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเราก็ไม่ควรรอโอกาสเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างมันด้วยตัวเอง”

ผู้หญิง “ทุกคน” ควรมีทักษะในการวิเคราะห์ตัวเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็ง คิดการณ์ไกล เปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสโลกกว้าง เพื่อลับคมความคิด

2. พัฒนาสมรรถนะความเป็นผู้นำจากผู้หญิง (Leadership Competency Building) เธอเชื่อว่าผู้หญิงสามารถทำหน้าที่บริหาร ก้าวสู่ความเป็นผู้นำได้ไม่ย่อหย่อนกว่าผู้ชาย โดยเปลี่ยนจุดอ่อน (Weakness) เป็นความโดดเด่น (Uniqueness) ตัวอย่างเช่น

 

  • Empathetic Leader ชนะใจผู้คนผ่านการรับฟัง ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และความอดทนอดกลั้นและขยันหมั่นเพียร (Resilience and Preserverance)
  • Influential Collaboration ด้วยจุดเด่นของผู้หญิงที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย จะช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ความเคลื่อนไหวนั้นกกลายเป็นวาระสำคัญ(Agenda Setting) ในสถานที่ทำงาน และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงประจักษ์ในที่สุด
  • Lead with Impact เธอเชื่อว่า Impact คือหัวใจและแก่นแท้ของการเป็นผู้นำ และนี่คือคติในการทำงานของเธอ

 

จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของผู้หญิงทั้งชีวิตการงานและส่วนตัวไม่ได้มาอย่างง่ายดาย ต้องอาศัยทั้ง Self-Motivation, Self-Improvement และ Self-Rewarding เพื่อเป็นเเรงผลักดันและส่วนเติมเต็มให้ชีวิตผู้หญิง

เชื่อในศักยภาพของผู้หญิง

อรอุมามองว่า แม้สังคมไทยจะมีวิวัฒนาการและความก้าวหน้าทางเพศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทว่า…ผู้หญิงไทยยังคงเผชิญกับปัญหาในรูปแบบปัจเจกและโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดทางกายภาพที่ส่งผลต่ออารมณ์  วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การเหมารวมทางเพศต่อลักษณะอาชีพ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงเองก็ยังอยู่ในกรอบความคิดที่สังคมดั้งเดิมคาดหวัง ตัวอย่างเช่น การทำหน้าที่แม่บ้าน การเสียสละความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อทำหน้าที่แม่ ดังนั้น ผู้หญิงจึงต้องมีความตั้งมั่นและแสดงให้เห็นถึงความสามารถในตัวเอง

 

“Diversity ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือ Culture และนี่คือหน้าที่ของผู้หญิงทุกคน” อรอุมา เน้นย้ำพร้อมอธิบายว่า การส่งต่อพลังและการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้หญิงด้วยกันมีความจำเป็นมาก ผู้หญิงที่อยู่ในตลาดแรงงานทุกคนมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าเชิงนโยบาย รวมถึงการเปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมและค่านิยมแห่งยุคสมัย เพื่อคนรุ่นต่อไป