สนทนาภาษาเทค-วิถีสตาร์ตอัพกับหัวเรือใหญ่ True Innovation Center ปัจจัยสำคัญสู่การสร้าง “นวัตกรรม”

20 ธันวาคม 2566


บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Company ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์ว่า โลกธุรกิจได้เข้าสู่วัฏจักรใหม่ของธุรกิจ โดยมีปัจจัยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซ้ำร้ายด้วยการขาดแคลนพลังงาน อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจของโลก ทำให้ “ความไม่แน่นอน” ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไม่เติบโตหรือถูกดิสรัปต์จากคู่แข่งและการแข่งขันที่รุนแรง 

 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง (Resilience) ในวัฏจักรธุรกิจใหม่นี้ได้ ต้องอาศัย “นวัตกรรม” สอดคล้องกับเป้าหมายของทรู คอร์ปอเรชั่นที่ต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ Telecom-Tech Company 

 

True blog มีโอกาสได้พูดคุยกับ วีรศักดิ์ พงษ์ธัญญวิชัย หัวเรือใหญ่ของ True Innovation Center หน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลักดันนวัตกรรมของทรู คอร์ปอเรชั่น ถึงที่มา พันธกิจ เป้าหมาย รวมถึงผลงานที่เกิดขึ้นมากมาย

 

และด้วยความเชื่อของเขาในการสร้างทุกคนให้เป็นนวัตกร คือหนึ่งแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ ทรู ได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมในหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งล่าสุดในปี 2566 ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้าน “องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ ที่พิสูจน์ได้ถึงความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตรกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 

นวัตกรรุ่นบุกเบิก

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว วีรศักดิ์เป็นโปรแกรมเมอร์ของ CPF IT รุ่นแรกๆ รวมถึงการจัดทำข้อมูลภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ (เหมือน Google Maps ในปัจจุบัน) ให้กรมแผนที่ทหาร ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะต้องรองรับการใช้งานภาษาไทย ซึ่งนั่นกลายเป็นงานหินสำหรับนักพัฒนาโปรแกรมในยุคนั้นโดยต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ 

 

 

แต่ผลงานนี้เอง ได้เข้าตาบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft จนบริษัทบินจากสหรัฐอเมริกามาสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโปรเจกต์พัฒนาภาษาไทยบนระบบปฏิบัติการ Windows NT 4.0 ต้องใช้ความเชี่ยวชาญภาษาคอมพิวเตอร์ทั้งภาษา Assembly และภาษา C จนพัฒนาเป็นภาษาไทย ซึ่งที่สำนักงานใหญ่ไมโครซอฟท์ ทำให้วีรศักดิ์ได้พบเจอกับทีมพัฒนาจากหลากหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น และอาหรับ รวมถึงมองเห็นวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นเบื้องหลังของ “นวัตกรรม” ของชาติเทคโนโลยีอย่างจีนและญี่ปุ่น โดยมีความจริงจัง ทุกวันคือความท้าทาย แต่ขณะเดียวกันก็ให้ความยืดหยุ่น 

Veerasak True Innovation Center

มรดกหนึ่งที่ทุกคนต้องคุ้นเคยเมื่อใช้ระบบ Windows นั่นคือ การเปลี่ยนภาษา ที่ภาษาอื่นจะใช้ 2 ปุ่มกด แต่ภาษาไทยเป็นเพียงภาษาเดียวที่ใช้เพียงปุ่มเดียวในการเปลี่ยนภาษา นั่นคือ ปุ่มทิวบ์ (Grave Accent: ~) โดยหลักคิดเกิดจากการนำหลัก UX/UI มาใช้ในการออกแบบ

 

วีรศักดิ์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปีที่ยานแม่ของ Microsoft เมื่อภารกิจลุล่วง เขาจึงตัดสินใจกลับมาเมืองไทยและเข้าทำงานกับผู้ให้บริการมือถือ True Move (ในช่วงที่ร่วมกับ Orange) โดยรับหน้าที่ทำระบบสำรองข้อมูล จากนั้นจึงย้ายมาต่อที่ True IDC ดูแลดาต้าเซ็นเตอร์ และที่นี่เอง ทำให้เขาได้ริเริ่มเกี่ยวกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม จนเข้าตาผู้บริหาร จึงได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านนวัตกรรม (Innovation) ของทรู คอร์ปอเรชั่น จนถึงปัจจุบันเข้าปีที่ 8 แล้ว 

ทุกคนมีความเป็นนวัตกรในตัว

จากเป้าหมายการเป็น Telecom Tech Company ของทรู ทำให้ “นวัตกรรม” ถือเป็นคีย์สำคัญของการพิชิตเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งวีรศักดิ์บอกว่า การจะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้นั้น หาใช่การตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยสำคัญคือ “ทุกคน” ในองค์กร 

 

“นวัตกรรม” ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่เท่านั้น แต่การปรับสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมแล้ว 

 

“ผมเชื่อว่า ทุกคนมีความเป็นนวัตกรอยู่ในตัว ผมเพียงแต่มีหน้าที่ไปสะกิดและกระตุกศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของทุกคน” วีรศักดื์ กล่าว 

ผมเชื่อว่า ทุกคนมีความเป็นนวัตกรอยู่ในตัว ผมเพียงแต่มีหน้าที่ไปสะกิดและกระตุกศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของทุกคน

นอกจากนี้ True Innovation Center ยังทำหน้าที่เป็นผู้หยิบยื่นโอกาสผ่านคำแนะนำ เวทีให้พนักงานได้แสดงไอเดียและความสามารถผ่านการประกวด True Innovation Awards ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นต่อไป ขณะเดียวกัน ยังมีโปรแกรมที่ส่งเสริมให้พนักงานได้คิดไอเดียเพื่อการบริการลูกค้า และได้รับการต่อยอดสำหรับไอเดียที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วอย่างโซลูชั่น True Gigatex Fiber Router และ แชทบอทมะลิ

 

ไม่เพียงภายในเท่านั้น บางผลงานยังคว้ารางวัลเวทีประกวดนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตัวอย่างเช่น โซลูชั่น Cloud on Wheels (COW) เสากระจายสัญญาณผ่านโดรน ทำให้สามารถกระจายสัญญาณในเขตพื้นที่ป่าเขาที่รถกระจายสัญญาณเข้าถึงยาก เหมาะกับการใช้ในเหตุภัยพิบัติ ซึ่งที่ผ่านมา ได้ใช้กับเหตุการณ์ 13 หมูป่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารในพื้นที่ 

True Innovation Center Team

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีพบว่า พนักงาน frontline มีไอเดียที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า แต่ไอเดียนั้นขาดกำลังที่จะพัฒนาต่อเป็นโซลูชั่น ทำให้ True LAB ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานในการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพนักศึกษาผ่านกลไกการสนับสนุนทุนวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อเสริมทักษะความเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ผ่านมา มีการพัฒนาเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง และรถส่งของไร้คนขับผ่านโครงข่าย 5G โดยความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

“ความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัยมีความสำคัญอย่างมากต่อการเกิดขี้นของนวัตกรรม สิ่งนี้จะช่วยทำให้เกิด Shortcut ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมอื่นๆ ได้ โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ ซึ่งตั้งเป้าภายในปี 2573 จะต้องจดสิทธิบัตรในครอบครองกว่า 200 ฉบับ” วีรศักดิ์ กล่าว 

True LAB

สตาร์ตอัพสร้างการเติบโต

นอกเหนือจากการสร้างทาเลนท์ภายในและความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญภายนอกแล้ว การบ่มเพาะ “คนรุ่นใหม่” ให้เข้าสู่วงการเทค-สตาร์ตอัพ ยังถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างนวัตกรรม โดย True LAB มีโครงการ True LAB Eco Build ที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษามหาวิทยาลัยจนถึง First Jobber ร่วมกัน “Hack” ไอเดียผ่าน Hackathon และ “บ่มเพาะ” วิถีสตาร์ตอัพ ซึ่งที่ผ่านมา ถือเป็นที่น่าพอใจ สตาร์ตอัพบางรายได้รับเงินทุนสนับสนุนต่อจาก True Incube และยังสามารถนำมา “ซินเนอยี่” (Synergy) กับหน่วยงานข้างในทรูได้อีก ตัวอย่างเช่น ทีมชนะเลิศ Cloudero (หรือ Kollective ในปัจจุบัน) แพลตฟอร์มทำการตลาดผ่าน Influencer ที่มีการร่วมมือกับทีมแบรนดิ้ง และนวัตกรรมเหล่านี้จะกลับมากลายเป็น New S-Curve ของทรู

ล่าสุด True LAB ได้จัด True LAB Hackathon x Mordee เวทีประกวดแผนธุรกิจเพื่อให้คนไทยเข้าถึง Telemedicine ด้วยแอป Mordee และ True LAB Business Case Challenge x TrueID และ True Space โดยได้รับความสนใจจากน้องนักศึกษาอย่างล้นหลามกว่า 728 ทีม 

True LAB MorDee

“ปัจจุบัน มีทีมที่สนใจทำสตาร์ตอัพทั้ง True LAB และ True Digital Park รวมกันแล้วกว่า 5,000 ทีม และในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผมตั้งเป้าว่าจะสร้างให้ได้กว่า 20,000 ทีม ดังนั้น ผมจึงกล้าบอกได้ว่า ทรูคือส่วนหนึ่งที่สร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพของไทย” วีรศักดิ์ เน้นย้ำ 

 

จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับนวัตกรรมมากว่า 30 ปี วีรศักดิ์ มองว่า หัวใจของการสร้างนวัตกรรมมี 2 องค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ “คน และ เงิน” 

 

เขาเชื่อว่านวัตกรรมเป็นเรื่องของทุกคน เพียงแต่ต้องดึงศักยภาพออกมา ส่งเสริมและสนับสนุนให้พวกเขากล้าที่จะลอง ในส่วนของเงินทุน นอกจากจะเป็นแรงผลักดันให้ไอเดียพัฒนาต่อไปได้แล้ว ยังเป็นแรงจูงใจให้คนใหม่ๆ ได้ลงสนาม ลงมือปฎิบัติจริง และเมื่อพนักงานได้มีเวทีหรือโอกาสให้นำเสนอผลงานเหล่านั้น ย่อมเกิดประโยชน์ต่อนวัตกร และองค์กรด้วย

 

“ถ้าวันนี้เพื่อนพนักงานมีไอเดียใหม่ๆ สามารถเข้ามาบอก มาปรึกษา True Innovation Center ได้ตลอด เราจะช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปด้วยกันครับ” วีรศักดิ์ ทิ้งท้าย