เส้นทางสู่ดุลยภาพของ “กนกพร คุณชัยเจริญกุล” หัวหน้าทีมกลยุทธ์ด้านกฎระเบียบการกำกับดูแล แห่งทรู คอร์ปอเรชั่น และข้อปฏิบัติที่ตกผลึกจากปริญญาด้านพุทธศาสนาและการทำงานด้านกฎระเบียบกว่า 2 ทศวรรษ

20 กรกฎาคม 2566


บริการโทรคมนาคมถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีกลไกการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น เนื่องด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสลับซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและชีวิตผู้คนจำนวนมาก โดยบริการโทรคมนาคมทำหน้าที่เป็น ‘ตัวกลาง’ ในการเชื่อมต่อผู้คนกับบริการพื้นฐานต่างๆ ในยุคดิจิทัล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปข้างหน้า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจึงต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเข้าใจและจุดมุ่งหมายร่วมกันในการผลักดันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

True Blog จึงชวน ‘พี่นิ่ม’ กนกพร คุณชัยเจริญกุล Head of Regulatory Strategy ของทรู คอร์ปอเรชั่น มาพูดคุยเกี่ยวกับหัวใจของงานด้านกฎระเบียบ (Regulation) ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม โอกาส ความท้าทาย และมุมมองการทำงานที่ตกผลึกจนกลายเป็นหลักปฎิบัติ โดยสะท้อนผ่านเส้นทางการทำงานของเธอในแวดวงโทรคมนาคม

เข้าใจระเบียบโลก

กนกพรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปี 2535 หลังทำงานได้ราวสองปี เธอก็ได้รับทุนจากรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านไฟฟ้าสื่อสารที่สถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Tech) ซึ่งขณะนั้นเป็นยุคที่ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มได้รับความนิยม ก่อนจะกลับมาใช้ทุนที่กรมไปรษณีย์โทรเลข สังกัดกระทรวงคมนาคม

 

“ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เราทำหน้าที่ดูแลงานด้านการบริหารคลื่นความถี่วิทยุของประเทศ ในกิจการต่างๆ ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุ โดยความรับผิดชอบหลักในตอนนั้น ได้ดูแลงานด้านกิจการสื่อสารดาวเทียม เลยเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้งานเกี่ยวกับหลักการและกลไกในการกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ รวมถึงการใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรของโลกที่มีค่าและมีอยู่อย่างจำกัด โดยกฎกติกาเหล่านี้ ถือว่าเป็นระเบียบโลก” เธอกล่าว

 

หนึ่งในงานสำคัญของกนกพร คือการเป็นผู้แทนไทยในคณะทำงานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเทคนิค ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อปรับปรุงแผนกิจการดาวเทียม ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย ITU นั้นทำหน้าที่ในการพัฒนามาตรฐานและกฎระเบียบที่เป็นสากลสำหรับการสื่อสารวิทยุและโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกจะใช้ระเบียบสากลนี้เป็นแนวทางอ้างอิงเมื่อมีการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมในประเทศของตน

 

“ITU นั้นเปรียบเสมือนองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของโลก ที่นั่น เราได้เรียนรู้ว่ากว่าจะได้กฎระเบียบมาสักหน้า เขาใช้เวลาดีเบตกันสามวันยังไม่จบ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่งานง่ายสำหรับเด็กที่ค่อนข้างใหม่อย่างเราที่เดินทางไปคนเดียว แต่มันก็เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้จากเพื่อนในสายงานเดียวกันจากนานาประเทศ”

เส้นทางสู่ดุลยภาพ

ในอดีต กิจการโทรคมนาคมถือเป็นหนึ่งในกิจการที่ภาครัฐเป็นผู้ให้บริการแก่ประชาชน เช่นเดียวกับบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ อาทิ ไฟฟ้า และประปา เพราะเป็นกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยรวมของประเทศ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกอย่างมาก ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) จึงรับเอาแนวคิดใหม่ของการเปิดเสรีโทรคมนาคม ส่งผลให้เกิดการตรากฎหมายต่างๆ เพื่อจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นอิสระ และการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทาน (concession) สู่ระบบใบอนุญาต (license) สนับสนุนให้ตลาดบริการโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันจากผู้ให้บริการเอกชน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้เอง ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ส่งผลให้มีการยุบเลิก และโอนกิจการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. (เทียบเท่า กสทช. ในปัจจุบัน)

หลังจากใช้ทุนที่กรมไปรษณีย์โทรเลข กนกพรก็เบนเข็มสู่งานด้านการบริหารโครงการให้กับบริษัท Siemens ซึ่งในขณะนั้นเป็นยุคเฟื่องฟูของผู้เล่นโทรคมนาคมรายใหญ่หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น Nokia, Motorola, Alcatel, Lucent  รวมถึง Siemens เอง ก่อนจะได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานด้านกฎระเบียบการกำกับดูแลที่บริษัท TA Orange (ทรูมูฟเอชในปัจจุบัน) ถือเป็นการพลิกบทบาทสู่การทำงานในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมเต็มตัว

พอมาสวมหมวกโอเปอเรเตอร์ เราต้องเปลี่ยนมามองกฎกติกาในมุมของผู้ถูกกำกับ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการกำกับดูแลของภาครัฐ ที่ต้องการให้มีการใช้งานคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ จัดสรรโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรโทรคมนาคม และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล

“อันนี้คือภาพอุดมคติ แต่เวลาออกกฎกติกาแต่ละอย่างจริงๆ มันมีความละเอียดซับซ้อน เราในฐานะโอเปอเรเตอร์ก็ต้องทำความเข้าใจถึงเจตนาของกฎระเบียบแต่ละฉบับ วิธีการนำมาปฏิบัติ และผลกระทบต่อธุรกิจ”

ภารกิจหลักของกนกพรในฐานะหัวหน้าทีมกลยุทธ์การกำกับดูแล คือการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบการกำกับดูแล เชื่อมโยงถึงภูมิทัศน์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม และขับเคลื่อนให้เกิดดุลยภาพระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่เกื้อหนุนพัฒนาการของทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่การจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น ภาคเอกชนจำเป็นต้องมีความสามารถในการลงทุนและศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดบริการ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งมีการลงทุนมหาศาล ดังนั้น กฎระเบียบไม่ควรทำหน้าที่ควบคุมอย่างเดียว แต่ต้องทำหน้าที่พัฒนาด้วย

จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของหน่วยงานกำกับดูแล ที่ควรออกกฎในลักษณะที่ส่งเสริมความมีประสิทธิภาพ ความเป็นธรรม และความมีเสถียรภาพ ต้องสร้างความสมดุลของผลประโยชน์ที่หลากหลาย ไม่มองเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว ต้องเชื่อมโยงทั้งระบบ ซึ่งการสร้างให้เกิดดุลยภาพนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย นี่ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ที่ทำงานด้านการกำกับดูแลที่จะต้องช่วยกันทำให้ภาครัฐมองเห็นถึงเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และร่วมผลักดันภาคอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ให้ก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้ทุกภาคส่วน”

The Inward Journey

การได้ทำงานและเดินทางพบปะผู้คนทำให้กนกพรมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกอยู่ตลอด จนมาถึงจุดที่เธอเริ่มตระหนักว่าที่ผ่านมาเธอมีความรู้เกี่ยวกับโลกภายใน คือ กาย ใจของตัวเอง เพียงน้อยนิด ด้วยความเป็นคนชอบอ่านหนังสือและพยายามค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของชีวิตเป็นทุนเดิม กนกพรจึงเริ่มหันมาสนใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยเธอใช้เวลากว่า 8 ปีศึกษาวิชาการทางพระพุทธศาสนาในแขนงพระอภิธรรม ที่อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ จนจบหลักสูตรพระอภิธรรมทั้ง 9 ชั้น

 

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับปรัชญาในการทำงาน กนกพรกล่าวว่าเธออาศัยหลักการเพียงสามข้อ คือ ตั้งใจทำงาน เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ และมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน  ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นหลักการที่เรียบง่าย แต่เป็นข้อฝึกปฏิบัติที่บูรณาการ ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ครบ

“คำว่าตั้งใจทำงาน มาจากหลักการที่ว่า จิตเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน ในภาษาบาลีคือ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา (อ่านว่า มะ-โน-ปุบ-พัง-คะ-มาทำ-มา) งานใดๆ ที่ได้รับมอบหมาย เราต้องเอาใจใส่ ต้องตั้งใจ มีใจให้กับงาน อันนี้คือตัวเราต้องตั้งใจเราเองขึ้นมาให้ได้ก่อน แต่การที่งานจะสำเร็จได้นั้น เราต้องอาศัยความรู้รอบด้าน เราจึงควรจะเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อนร่วมงาน และตำรับตำราที่มีข้อมูลความรู้อยู่มากมาย ขณะที่การมีน้ำใจไมตรีกับเพื่อนร่วมงาน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้น เราควรมีการแสดงออกด้วยการใช้คำพูดและการกระทำต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้ความมีอยู่ของตัวเราปลอดภัยสำหรับผู้คนรอบข้างด้วย ก็จะเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี และช่วยทำให้สถานที่ทำงานน่าอยู่”

 

กนกพรเชื่อว่าการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานหรือ work-life balance ไม่อาจทำได้หากพยายามแยกส่วนชีวิตทั้งสองด้านออกจากกันโดยสิ้นเชิง เพราะการทำงานหรือ “การทำมาหาเลี้ยงชีพ” นั้นกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต และเธอพบว่า วิธีการสร้างสมดุลชีวิตสามารถเริ่มจากการฝึกทำชีวิตให้เป็นระเบียบก่อน

 

“ด้วยการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบเยอะๆ ทำให้ได้ wisdom อย่างนึง ว่าเราเองก็ควรต้องทำชีวิตของเราให้เป็นระเบียบพอสมควรด้วยเช่นกัน ทั้งระเบียบด้านการใช้ชีวิต หรือด้านการเงินก็ดี เพราะถ้าภายในจิตใจวุ่นวาย การที่จะมีกำลังไปคิดอ่านแก้ไขจัดการปัญหาภายนอกย่อมเป็นไปได้ยาก อย่างเรื่องการกินอยู่ เหมือนเรื่องพื้นๆ แต่จริงๆ สำคัญมาก ถ้าเรากินอย่างพอเหมาะ พักผ่อนเต็มอิ่ม พอร่างกายมีกำลัง จิตใจเราก็จะหนักแน่น มีความอดทน ไม่โกรธง่าย แล้วพอชีวิตเราเริ่มเป็นระบบระเบียบขึ้น เราจะรู้สึกได้ว่าจิตใจปลอดโปร่งแจ่มใสขึ้น พลอยทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ทั้งภายในภายนอกได้อย่างชัดเจนขึ้นตามไปด้วย”

ในชีวิตการทำงานที่ผ่านความท้าทายมานับไม่ถ้วน ทั้งการได้มีส่วนขับเคลื่อนโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ การประมูลคลื่นความถี่ย่านต่างๆ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการสนามบินอู่ตะเภา เรื่อยมาจนถึงการควบรวมกิจการทรู-ดีแทคที่ผ่านมา กนกพรเชื่อว่าความสำเร็จใดๆ ล้วนไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากทีมเวิร์ค

“ในการทำงานในฐานะผู้นำทีม เราต้องมายืนหัวแถว มาทำหน้าที่เป็นตัวแทนทีม เป็นตัวกลางบริหารจัดการ ประสานงาน สื่อสารงานต่างๆ เพื่อให้ทีมงานทำงานร่วมกัน ให้เราเดินหน้าไปได้ เราไม่มีทางทำทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว We’re Better Together ชีวิตย่อมดีกว่า เมื่อมีกันและกัน แต่การทำงานร่วมกัน หรือเป็นพาร์ทเนอร์กันนั้น ก็ต้องยอมรับว่าช่วงแรกไม่ง่ายหรอก ต้องมีการพูดคุยสื่อสารกัน มองหาจุดร่วมของกันและกัน ประนีประนอมกัน และเชื่อว่าด้วยความตั้งใจที่ดีของเราทุกคน จากการ compromise คือรู้สึกว่าเราได้บางอย่างเสียบางอย่างในช่วงแรก จะสามารถไปสู่การ harmonize คือ การประสานประโยชน์ที่ลงตัวได้ในที่สุด” เธอทิ้งท้าย