28 เมษายน 2565 – การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดการปฏิวัติและพัฒนาสังคม แต่ไม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียม ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU ระบุว่า 48% ของผู้หญิงเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ขณะที่ผู้ชายมีสัดส่วนที่ 55% ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเพศของการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 12.5%
นอกจากนี้ เด็กและผู้หญิงยังเผชิญกับภัยออนไลน์มากมายทั้งการข่มขู่และล่วงละเมิด การขาดซึ่งความปลอดภัยในโลกออนไลน์ยังส่งผลทำให้เกิดช่องว่างในการเรียนรู้ทางดิจิทัลระหว่างเพศอีกด้วย โดยเด็กและเยาวชนหญิงไม่สามารถพัฒนาทักษะทางดิจิทัลได้อย่างเต็มความสามารถ ด้วยเหตุนี้ สัดส่วนผู้หญิงที่เข้าสู่สนามการทำงานด้านไอซีที ทั้งระดับปฏิบัติการ ผู้บริหารและนักวิชาการยังคงน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD ระบุว่า ผู้หญิงมีโอกาสในการทำงานด้านไอซีทีน้อยกว่าผู้ชายถึง 4 เท่า
การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนหญิงเข้าสู่สายงานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ STEM นั้น “พื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัย” นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เทเลนอร์และองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้ร่วมมือพัฒนาโซลูชั่นและแนวคิดต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงและพัฒนาพื้นที่ออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนหญิง
เนื่องในวัน Girls in ICT เทเลนอร์และองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ สำหรับเด็กและเยาวชนหญิงที่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างเพศบนพื้นที่ออนไลน์ที่กว้างขึ้น
1. ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือน (Misinformation and disinformation)
จากรายงานขององค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลเรื่อง “ช่องว่างของความจริง” ในปี 2564 เปิดเผยว่า ข้อมูลเท็จและบิดเบือนเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดเด็กและเยาวชนหญิงให้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ทางการเมืองและสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากความเชื่อถือของพวกเธอต่อแหล่งข่าวลดลง ซึ่งทั้งข้อมูลเท็จและบิดเบือนส่งผลกระทบทางลบต่อเด็กและเยาวหญิงถึง 87% โดย 1 ใน 4 มีความมั่นใจลดลงในการแชร์ข่าว และ 7 ใน 10 บอกว่าพวกเธอไม่เคยเรียนรู้วิธีการแยกแยะข้อมูลเท็จและข้อมูลที่บิดเบือนทั้งในโรงเรียนหรือที่บ้าน
นางบาคยาชรี เดงเกิล ผู้อำนวยการอาวุโส Asia Pacific Region and Gender Transformative Policy & Practice องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทักษะความรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเด็กและเยาวชนหญิงในการเรียนรู้และท่องโลกดิจิทัล ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในแง่ของการเรียนรู้
นางมิน เซีย นักวิจัยอาวุโสแห่งเทเลนอร์รีเสิร์ช กล่าวว่า เราควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความมั่นใจในการท่องโลกออนไลน์มากขึ้นผ่านการให้คำปรึกษา (Mentorship) เพื่อแก้ไขทัศนคติหลังเผชิญกับประสบการณ์ที่ไม่ดีเกี่ยวข้อมูลเท็จและบิดเบือนมาก่อนหน้า สร้างความมั่นใจ กระตุ้นการมีส่วนร่วม ตั้งคำถาม และอภิปรายต่อเหตุการณ์รอบตัว นอกจากนี้ เราควรส่งเสริมให้มีต้นแบบ (Role model) ที่เป็นผู้หญิงในสนามการทำงานด้านไอซีทีมากขึ้นด้วย
2. การล่วงละเมิดออนไลน์ (Online harassment)
จากการสำรวจเด็กและเยาวชนหญิงอายุระหว่าง 15-25 ปี ขององค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นลแนลเรื่อง Free to Be Online ระบุว่า 50% เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ 19% ของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดออนไลน์ลดการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ 22% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าพวกเธอมีความรู้สึกกลัวและกังวลต่อความปลอดภัยทางร่างกายหลังผ่านประสบการณ์ล่วงละเมิดมา
นางบาคยาชรี เดงเกิล กล่าวว่า มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของเราในการการันตีว่า เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตจะต้องเป็นตัวช่วยมากกว่าอุปสรรคสำหรับเด็กและเยาวชนหญิง การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมเพื่อการเรียนรู้และสร้างเสริมทักษะดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพวกเธอ
นางมิน เซีย กล่าวว่า ประสบการณ์ออนไลน์ที่ไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่ามีผลกระทบต่อการเลือกเรียนต่อหรือสายอาชีพแม้ว่าพวกเธออาจมีความสามารถทางด้าน STEM ก็ตาม ดังนั้น การสร้างความมั่นใจและตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง (Self-esteem) จึงมีความสำคัญต่อการลดช่องว่างระหว่างเพศทางดิจิทัลด้วย
3. ความเป็นส่วนตัว
จากผลจากสำรวจของเทเลนอร์รีเสิร์ชหัวข้อ Smart Life 2020 เปิดเผยว่า เยาวชนในปากีสถานและมาเลซียมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในระดับต่ำ แต่ขณะเดียวกัน ระดับความรู้เหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนน้อย (ต่ำกว่า 45%) มีการล้างประวัติการเข้าเว็บไซต์หรือปิดการใช้งานติดตามโลเคชั่น 32% มีการล้างคุ้กกี้ ซึ่งการไม่ล้างคุ้กกี้อาจเพิ่มความเสี่ยงให้แฮกเกอร์แอบเก็บข้อมูลหรือสวมรอยบัญชีส่วนตัวได้ นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนยังยินดีที่จะแบ่งปันข้อมูลบัตรเครดิตของพวกเขาบนออนไลน์อีกด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติม: Personal data: a potential gold mine for the wrong people