สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ได้กำหนดให้ทุกวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนเมษายน เป็นวัน Girls in ICT Day เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้เยาวชนหญิงเข้าสู่สนามการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์หรือที่เรียกว่า STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) มากยิ่งขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำดิจิทัลในมิติทางเพศ โดยในปีนี้ Girls in ICT Day ตรงขึ้นกับวันที่ 27 เมษายน 2566 และกำหนดขึ้นภายใต้แนวคิด “ทักษะดิจิทัลเพื่อชีวิต” (Digital Skills for Life)
เราได้พูดคุยกับ 3 สาวเยาวชนคนเก่ง ที่ได้ร่วมสมัครเข้าค่าย Young Safe Internet Leaders Hybrid Camp ปี 5 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ความสนใจ และแรงบันดาลใจในการเข้าสู่วงการเทคโนโลยีของพวกเธอ
ณัชชา เงาประเสริฐวงศ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) วิชาเอก วิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (E-AI) กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เธอหันมาสนใจด้านเทคโนโลยีนั้นมาจากคนใกล้ตัวอย่างคุณแม่ของเธอ ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่ในสายงาน cybersecurity ซึ่งณัชชาเองมีความสนใจในสายงานดังกล่าว เพราะมองว่างานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ และตลาดแรงงานอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้ เธอมองว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นั้นเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดสู่นวัตกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโค้ด การทำแอปพลิเคชัน การควบคุมหุ่นยนต์ ไปจนถึงการยกระดับงานด้าน cybersecurity ด้วย
ด้าน กชพร เนียวกุล นักเรียนชั้น ม.6 สายวิทย์-คณิต จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ เล่าว่า เธอมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้น ม.3 ขณะนั้นเธอหักโหมออกกำลังกาย ลดน้ำหนักมาก จนร่างกายเข้าภาวะอันตราย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนทำให้เธอต้องการเข้าใจการทำงานของร่างกายให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น จึงได้เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต โดยเธอมีความสนใจเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่นเดียวกับ ฐิติรัตน์ จันหอม นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี สายวิทย์-คณิต ผู้ซึ่งมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นทุนเดิม มีความใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ จึงเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต
อุปสรรคของผู้หญิงในอุตสาหกรรมเทคฯ
แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าเชิงเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพมากชึ้น โดยจากรายงานเรื่อง STEM Education for Girls and Women: Breaking Barrier and Exploring Gender Inequality in Asia ทาง UNESCO ระบุว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยด้าน STEM ที่เป็นเพศหญิงสัดส่วนสูงถึง 53% นำหน้าประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นที่ 15% และเกาหลีใต้ที่ 18% แต่เมื่อพิจารณา STEM ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือวิศวกรรมแล้ว กลับพบว่า สัดส่วนการเลือกเรียนของผู้หญิงมีน้อยกว่าเพศชายมากอย่างมีนัยสำคัญ
สายวิศวกรรมและเทคโนโลยี ผู้หญิงมีสิทธิเข้าถึงได้น้อยกว่า จากอุปสรรคต่างๆ ทั้งด้านทัศนคติของสังคมต่อผู้หญิงในสายวิศวกรรม การเข้าสู่ตลาดเเรงงาน ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างเพศ ทำให้การเลือกเรียนสายวิศวกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ในผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาก – ฐิติรัตน์อธิบาย
พร้อมกล่าวว่า ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนในการผลักดันผู้หญิงเข้าสู่สนามแรงงานด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีในผู้หญิง เพื่อให้เทคโนโลยีถูกออกแบบให้สอดรับกับความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม
สอดรับกับความเห็นของณัชชาที่บอกว่า ในห้องเรียน E-AI ของเธอที่ถูกออกแบบมาเพื่อเตรียมความพร้อมศึกษาต่อในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนผู้หญิงราว 1 ใน 3 ขณะที่จากประสบการณ์ของเธอในค่ายสตาร์ทอัพระดับมัธยมศึกษาพบว่า งานด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่ผู้ชายเป็นผู้พัฒนา ผู้หญิงดูแลเรื่องการบริหารจัดการ
“สังคมไทยยังค่อนข้างมีการเหมารวมในการประกอบอาชีพหรือ career stereotypes อยู่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ผู้ชายมีสัดส่วนสูงกว่าผู้หญิงมาก ซึ่งในความเป็นจริง ทุกเพศสามารถประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจของตัวเองได้อย่างอิสระ ทุกคนต่างมีคุณค่าต่อสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป” ณัชชากล่าว
สังคมไทยยังค่อนข้างมีการเหมารวมในการประกอบอาชีพหรือ career stereotypes อยู่ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่ผู้ชายมีสัดส่วนสูงกว่าผู้หญิงมาก ซึ่งในความเป็นจริง ทุกเพศสามารถประกอบอาชีพตามความถนัดและความสนใจของตัวเองได้อย่างอิสระ ทุกคนต่างมีคุณค่าต่อสังคมในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป – ณัชชากล่าว
“การศึกษาด้าน STEM นั้นจำเป็นต้องบูรณาการหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน จากการทำงานของผู้คนหลากหลายมุมมอง เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมและโซลูชันต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์แก่ผู้คนจำนวนมาก” กชพรอธิบาย ก่อนจะเสริมว่า “เรามองว่าสังคมควรผลักดันหรือเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าสู่สนามเทคโนโลยีมากขึ้น ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีมิติทางเพศเป็นอุปสรรคในการเลือกสายการเรียนหรือการเข้าสู่ตลาดเเรงงาน”
ทักษะดิจิทัลเพื่อชีวิต
ในโลกที่ก้าวสู่ดิจิทัลเต็มตัว วิทยาการล้ำสมัยพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เยาวชนทั้ง 3 คนให้ความเห็นพ้องกันว่าทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิต โดยทักษะดิจิทัลที่สำคัญสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ทักษะพื้นฐานและทักษะขั้นสูง
ทักษะพื้นฐาน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมีทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทันต่อภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภัยคุกคามออนไลน์มีมากมายหลากรูปแบบ เช่น การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การหลอกลวง และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เยาวชนทั้ง 3 คนจึงตัดสินใจสมัครร่วมแคมป์ YSLC ในปีนี้ เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนช่องทางออนไลน์ พร้อมทั้งร่วมระดมความคิดออกแบบบริการสาธารณะ (public service design) เพื่อจัดการกับปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนโลกออนไลน์และสื่อลามกเด็กออนไลน์
“เราเป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับ Online Sexual Exploitation ตอนนั้นอายุ 14 ปี เราเป็นคนที่ชื่นชอบความเป็นญี่ปุ่น และได้พูดคุยกับผู้ชายญี่ปุ่น
ทางออนไลน์ ซึ่งเขาชวนไปเจอที่โรงแรม แต่โชคดีที่ไหวตัวทัน จากเหตุการณ์นั้น
จะเห็นได้ว่า ภัยออนไลน์ใกล้ตัวกว่าที่คิด และทุกคนอาจเป็นเหยื่อได้ หากขาดภูมิคุ้ม
และการรู้เท่าทันภัยออนไลน์” – กชพรเล่า
นอกจากทักษะพื้นฐานแล้ว ทักษะขั้นสูง เช่น การเขียนโค้ด การพัฒนา AI หุ่นยนต์ ฯลฯ ยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสและต่อยอดในการทำงานมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุด การเปิดรับและให้โอกาสทุกคน ทุกเพศ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจะช่วยก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม
และนี่เป็นเสียงสะท้อนของเยาวชนหญิงในโครงการ YSLC ปีที่ 5 ในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาวงการเทคโนโลยีของไทยให้ครอบคลุมทุกความต้องการมากขึ้น มาร่วมติดตามศักยภาพและไอเดียของผู้เข้าร่วมโครงการในการออกแบบบริการสาธารณะเพื่อ #ให้สื่อลามกเด็กจบที่รุ่นเรา ทาง True Blog เร็วๆ นี้