กรุงเทพฯ 3 ธันวาคม 2567 – ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินหน้าธุรกิจที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน…นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (ที่ 2 จากขวา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการประชุม Global Compact Network Thailand Forum (GCNT Forum 2024) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Inclusive Business for Equitable Society” พลิกธุรกิจแห่งอนาคต สร้างสังคมที่เท่าเทียมและยั่งยืน ที่สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ (ที่ 2 จากซ้าย) นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดขึ้นร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย โดยนางมิเกลล่า ฟิลแบรย์-สตอเร่ (กลาง) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในโอกาสนี้ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยนายมนัสส์ มานะวุฒิเวช (ขวาสุด) ประธานคณะผู้บริหาร ได้ร่วมเสวนา หัวข้อ “Inclusive Business Landscape” แบ่งปันมุมมองเทคคอมปานีไทย ในการนำศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร มาสร้างความเท่าเทียมในสังคม ดำเนินธุรกิจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมี นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ (ซ้ายสุด) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมฯ ร่วมงาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ESCAP HALL ถ.ราชดำเนินนอก
การเข้าถึงดิจิทัล = กุญแจขับเคลื่อนประเทศสู่ความเท่าเทียมและยั่งยืน
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างประเทศไทยให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในโลกดิจิทัล สิ่งที่ผมบอกเพื่อนพนักงานทรูอยู่เสมอ คือ เราทุกคนต้องภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนขับเคลื่อนประเทศ ช่วยลดความความเหลื่อมล้ำให้ทุกคนในสังคมเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งของทรู ทั้งเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมประชากรไทยมากกว่า 99% ขณะที่เครือข่าย 5G ครอบคลุม 92% ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งด้าน การศึกษา การดูแลสุขภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงตลาด บริการทางการเงิน ตลอดจนการพัฒนาทักษะดิจิทัลและทักษะทางธุรกิจ”
ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำ ครบทุกมิติ ESG
ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะเทคคอมปานีไทย เดินหน้านำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มาร่วมสร้าง Inclusive Business ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในด้านสังคมและการศึกษา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินโครงการทรูปลูกปัญญา ให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล ได้อาหารสมอง ลดช่องว่างทางการศึกษา รวมถึงความร่วมมือภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนมากกว่า 50 แห่ง ขับเคลื่อนการศึกษาผ่านมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองและในชนบทอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทรู ยังได้ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย สร้างสรรค์แอปพลิเคชันออทิสติกเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะให้แก่เด็กออทิสติกไทย ซึ่งมียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 1.9 ล้านครั้ง ขณะที่ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ยังได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย นำระบบ True Smart Early Warning System (TSEWS) มาลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้างป่า ลดความเสียหายต่อพืชผล สะท้อนแนวคิด Tech For Good ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
“ทรู ตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาใช้ในการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถประหยัดพลังงานที่เสาสัญญาณได้สูงถึง 15% นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เกือบ 10,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
“ยิ่งไปกว่านั้น ในมิติด้านธรรมาภิบาล ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี AI บนพื้นฐานของจริยธรรม โดยทรู ได้นำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Maturity Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) มาใช้ดำเนินงานเป็นองค์กรแรกในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมดิจิทัล โดยล่าสุด เปิดตัว “ทรู ไซเบอร์เซฟ – True CyberSafe” ระบบป้องกันภัยไซเบอร์ ดึงเทคโนโลยี AI ระดับสูง ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ให้บริการแก่ลูกค้ามือถือทรู-ดีแทค และทรูออนไลน์ได้ใช้ฟรี ทันที อีกด้วย” นายมนัสส์ กล่าวเสริม
“Inclusive Business” เกิดขึ้นจริงได้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“ความยั่งยืน ESG เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ ทรู ไม่มุ่งเพียงแต่สร้างการเติบโตให้องค์กรเท่านั้น แต่ต้องการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสังคม คนรุ่นใหม่ แต่สิ่งนี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้โดยองค์กรเดียว ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม” นายมนัสส์ กล่าวสรุป