ไขรหัส-มองไทม์ไลน์องค์กรแห่งอนาคต ‘Future Ready True’ กับการพิชิตเป้าหมาย Telecom-Tech Company

20 ตุลาคม 2566


นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้มีการจัดงาน Capital Markets Day ณ ทรูดิจิทัลพาร์ค นับเป็นเวลาราว 7 เดือนหลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการสำเร็จ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินไทยและต่างชาติเข้ารับฟังทิศทางธุรกิจ ตัวชี้วัดทางการเงิน เป้าหมาย และกลยุทธ์อย่างคับคั่ง

ในโอกาสนี้ True Blog ได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากคณะผู้บริหาร โดยขอย่อยข้อมูลให้เห็นกันชัดๆ พร้อมกับอธิบายถึงนัยสำคัญของความเคลื่อนไหวจากงาน Capital Markets Day ต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

 

Capital Markets Day (CMDs) ถือเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนได้พบปะกัน อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจเชิงลึก ภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายระยะยาว นอกฤดูรายงานข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ (off-season) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของบริษัทจดทะเบียน สอดรับกับเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG ซึ่งในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับมิติธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่การส่งเสริมความโปร่งใสการรายงานข้อมูลต่อนักลงทุน นำมาซึ่งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน

 

เปิดไทม์ไลน์ ‘Telecom-Tech Company’

มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘ผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมของไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก’ ทำให้การรวมพลังทั้งกำลังเงินและกำลังคน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” โดย ทรู ได้เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 2.5 แสนล้านบาท”

ทรัพยากรการเงินมูลค่าดังกล่าว จะช่วยเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งสามารถเเบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  1. Growth การเติบโตที่มากกว่าบริการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
  2. Value Creation พัฒนาโครงข่ายให้เหนือระดับด้วยการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณด้วย ‘ระบบโครงข่ายเดียว’ (Single Grid) ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการบริการให้เกิดประสบการณ์เหนือระดับ
  3. Organization เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้า จึงได้กำหนดให้ทรูเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมิชชั่น Future Ready True
  4. Sustainability เพราะการประกอบธุรกิจมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและสังคม ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงยึดถือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยกำหนดเป้าหมายดังต่อไปนี้
  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์และพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593
  • ด้านสังคม (Social: S) ตั้งเป้าขยายโครงข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 99% และ 97% ของประชากรไทยในปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยผ่านการเรียนออนไลน์ 34 ล้านคน และสร้าง 2,700 สตาร์ทอัพผ่านอีโคซิสเต็มของทรูดิจิทัลพาร์ค
  • ด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) ได้สร้างการตระหนักรู้และพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาล ขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ได้พัฒนาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำกับคู่ค้าที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทรู โดยคู่ค้าระดับที่ 1 จะต้องผ่านการตรวจสอบด้าน ESG ส่วนคู่ค้าโครงข่ายทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative: SBTI)

 

ไขกลยุทธ์ Beyond Connectivity

ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมโครงการ Single Grid ว่า “โปรเจ็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงข่ายและระบบไอทีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Network and IT Modernization) ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโครงข่ายและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก้าวออกจากบริการโทรคมนาคมสู่ vertical services ต่างๆ เช่น API Enablement ระบบไอทีที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์คอมพิวติ้ง อันมีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปิดฉากทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี”

 

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทรานส์ฟอร์มแล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธุรกิจจะได้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และนี่ถือเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโต (Growth Engine) ในยุค 5G โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รายได้จากกลุ่มธุรกิจจะเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” จากบริการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากโทรคมนาคม เช่น โซลูชันด้านโครงข่าย ไอโอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต่อยอดกับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industries) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น เศรษฐกิจ API แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอี ระบบคลาวด์รุ่นใหม่ และโซลูชันที่พัฒนาจาก Generative AI

ซินเนอร์ยี่มูลค่า 2.5 แสนล้าน

นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า มากกว่า 100 ปัจจัยจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็น 85% ของมูลค่ารวม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักในการควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี 2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

 

มูลค่าเพิ่มจากรวมพลัง 4 ปัจจัยหลัก

 

  1. เทคโนโลยีและไอที รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ Single Grid ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุน CAPEX การรวมเครือข่ายสองระบบร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอที
  2. ผสานองค์กรและการดำเนินงานรวมกัน โดยมุ่งถึงประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงองค์กรและรูปแบบการดำเนินงานผ่านระบบออโตเมชั่น ดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อน เช่นศูนย์บริการที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดระหว่างดีแทค และทรู รวมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ดีที่สุด สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารงานสำหรับการลดความซ้ำซ้อนของสถานที่ทำงาน ลดพื้นที่ และค่าใช้จ่าย รวมถึงยุติการใช้งานแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน
  3. การจัดซื้อจัดจ้างด้วยสเกลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุดของดีแทคและทรู รวมถึงการเจรจากับผู้จำหน่ายหลัก (vendors) โดยได้จากประโยชน์ของขนาดและปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทใหม่เอีกทั้ง ประโยชน์จากข้อตกลงผู้ผลิตตามข้อเสนอที่ดีที่สุดจากพันธมิตรระดับโลก เช่น เทเลนอร์กรุ๊ป
  4. ปัจจัยอื่นๆ จากผสานรวมกัน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มโอกาสการนำเสนอการขายแบบ cross-selling ให้กับลูกค้าดีแทคและทรู สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

นับหนึ่งเส้นทางแห่งการทรานส์ฟอร์ม

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้วาระด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่และการทรานส์ฟอร์ม (Culture and Transformation) ถือเป็นพันธกิจหลักของทรู โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลงาน (Performance Driven Culture) และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างก้าวกระโดด (Leapfrogging people capability)”

โดยปัจจุบัน มีการดำเนินตาม 4 เสากลยุทธ์ ได้แก่

 

  1. ขนาดและโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับการทิศทางและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ
  2. องค์กรแห่งอนาคตผ่านโมเดลการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ Modernization, Simplification และ Automation โดยเน้นกระตุ้นการทำงานแบบ Cross Functional
  3. พัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านโปรแกรมปรับและเพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ
  4. เพิ่มความแข็งแกร่งของ talent ผ่านการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Plan) การรักษาบุคลากร (Retention) ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ด้านแรงงานแห่งอนาคต (Future Workforce)

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นจะเป็นลักษณะของการ ‘ร่วมสร้าง’ (Co-Creation) จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) กล่าวคือ พนักงานทุกคนมีส่วนในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาค โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Organization Health Survey, Mirror Workshop และ Value Workshop นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจของพนักงานจะยึดความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ยินเสียงความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง พร้อมกับการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรมภายใน

 

จะเห็นได้ว่า มูฟของทรูฯ หลังการควบรวมกิจการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพ การมีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน รวมถึงคุณค่าและวัฒนธรรมจากล่างขึ้นบน รับฟังและให้โอกาสในการพูด แนวทางการทำงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากนี้ใม่ง่ายเลยสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น บทใหม่นี้ก้าวสู่ความพร้อมในฐานะองค์กรแห่งอนาคต Future Ready True เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคมเทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาคต่อไป