Releases

จากเมียนมาร์สู่มิชลิน เส้นทางชีวิตฉบับนักสู้ของเชฟหนุ่มชาวเมียนมาร์ในกรุงเทพฯ

28 มกราคม 2563


ในปีนี้ เมียว มิน อู ผู้อพยพชาวเมียนมาร์ได้ก้าวขึ้นมาเป็นซูส์ เชฟ แห่งห้องอาหารสุพรรณิการ์ หนึ่งในร้านอาหารไทยซึ่งติดอันดับในไกด์มิชลิน

แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทย มักลงเอยในฐานะผู้ใช้แรงงานหนักและรายได้น้อย แต่อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็อุ่นใจว่าจะมีรายได้จากการทำงานเพื่อส่งกลับไปเป็นทุนการศึกษาลูกๆ ที่ประเทศบ้านเกิดและดูแลพ่อแม่ที่กำลังแก่ตัวลง กระนั้น การเดินทางมายังประเทศไทยสำหรับเมียว มิน อูกลับฟังดูคล้ายวัยรุ่นหนีออกจากบ้านมากกว่า ด้วยในช่วงปีแรกๆ ที่เขาเดินทางมาทำงานในเมืองไทยนั้น ความหวังที่เขาจะสามารถเป็นเสาหลักจุนเจือครอบครัวได้ฟังดูริบหรี่ เช่นเดียวกับโอกาสที่เขาจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นซูส์ เชฟแห่งสุพรรณิการ์ ร้านอาหารไทยซึ่งติดอันดับในไกด์มิชลิน

ครอบครัวของเมียว มิน อู อยากให้เขาเรียนจนจบชั้นมัธยม แต่ในขณะนั้น เพื่อนๆ รอบตัวเขาได้อพยพเข้ามาทำงานในเมืองไทยกันหมด เขาจึงตัดสินใจย้ายตามเพื่อนคนอื่นๆ มาที่นี่ “พ่อผมเสียใจมาก ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นแล้วก็คิดแค่ว่าอยากอยู่กับเพื่อนๆ เราอยากรู้ด้วยว่าชีวิตที่นี่เป็นอย่างไร แต่ครอบครัวผมไม่อยากให้มา วันที่ผมมา พ่อผมร้องไห้เลย” เขาเล่า

ครอบครัวของเขาเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของพม่า พวกเขาอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนแม่สอดและมีธุรกิจร้านขายของชำเล็กๆ และรับจ้างส่งของไปมาระหว่างแม่สอด ขณะที่แม่ของเขานั้นอาศัยอยู่ในอีกจังหวัดซึ่งห่างออกไปราว 45 นาที และการติดต่อสื่อสารกับแม่ของเขานั้นเป็นเรื่องยากลำบาก

“แม่ผมอยู่ถัดเขาไปลูกนึง เมื่อก่อนที่นั่นสัญญาณโทรศัพท์ไปไม่ถึง ผมต้องเขียนจดหมายหาแม่หรือบางทีแม่ผมต้องไปยังที่ที่เขาจะต่อสายโทรศัพท์ให้ แล้วเราก็จ่ายเงินให้เขา ตอนนั้นผมคิดถึงบ้านมาก” เขาเล่าย้อนไป

งานแรกของเขาในประเทศไทยคืองานส่งของ ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นงานที่หนัก อีกทั้งในช่วงแรกๆ นั้น การสื่อสารภาษาไทยยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเขา และทุกอย่างดูจะยากขึ้นไปอีกเมื่อเขาไม่สามารถโทรศัพท์พูดคุยกับแม่ได้ตามที่ต้องการ และถึงแม้ในช่วงเวลาที่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นพัฒนาขึ้นแล้ว ก็ยังมีเหตุผลอีกประการที่ทำให้เขาหลีกเลี่ยงการติดต่อกับครอบครัว

“ตอนนั้นผมแค่อยากเที่ยวเตร็ดเตร่กับเพื่อน ผมใช้เงินเดือนหมดไปกับการดื่มเหล้าทุกวัน ไม่มีเงินเหลือส่งกลับบ้าน ช่วงนั้นผมไม่อยากคุยกับเขา มีครั้งหนึ่งแม่อยากให้ผมกลับบ้านเพราะคิดถึงผม แต่ผมไม่มีเงินค่ารถ แม่ก็ส่งเงินมาให้กลับบ้าน ผมรู้สึกแย่มากตอนนั้น”

เมียวมินอูยังจำได้ดีถึงช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ขณะนั้นเป็นช่วงสงกรานต์ เขาใช้เงินจนหมดเกลี้ยง จึงต้องต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งชามแบ่งกันรับประทานกับเพื่อน นั่นเป็นช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจลาออกจากงานเดิม และมาสมัครงานที่ร้านสุพรรณิการ์ในฐานะสจ๊วต ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต่ำที่สุดในร้านอาหาร

“พอได้เงินเดือนเดือนแรก ผมก็ส่งกลับบ้านเลย ตอนแรกเขาไม่เชื่อว่าผมได้งานที่ร้านอาหาร เขาคิดว่าผมทำอะไรผิดกฎหมาย หลังจากนั้น ผมก็ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ จากสจ๊วตมาเป็นผู้ช่วย มาเป็นกุ๊ก แล้วก็เป็นซูส์ เชฟในที่สุด” เขาเล่า

ตอนนี้เมียว มิน อู สามารถติดต่อสื่อสารกับครอบครัวของเขาได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะผ่านการอัพเดทสเตตัสบนเฟสบุ๊กหรือวิดีโอคอลล์ ตัวเขาเองนั้นเป็นลูกค้าดีแทคมาเกือบสิบปีแล้ว

“ที่บ้านผมเขาใช้เทเลนอร์ ที่นี่ผมเป็นลูกค้าดีแทค เพื่อนๆ ผมก็ใช้ดีแทคกันหมด ผมว่าดีแทคสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ เวลาผมใช้ที่แม่สอด สัญญาณก็ดีปกติเลย แล้วก็มีพวกโปรโมชันกับแพคเกจที่น่าสนใจ อย่างโทรไม่อั้นหรืออินเทอร์เน็ตฟรี แล้วข้อมูลที่ส่งมาเป็นภาษาพม่าหมด ทำให้สามารถเลือกโปรโมชันที่เหมาะสมได้ง่าย”

เขากลับไปเยี่ยมบ้านปีละ 3 ครั้ง โดยที่แม่ของเขาไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องค่าเดินทางอีกแล้ว นอกจากนี้ เขายังทำอาหารไทยให้ครอบครัวได้รับประทานแทบทุกครั้งอีกด้วย

“ผมทำต้มยำกุ้งน้ำข้น ไข่ยัดไส้ แล้วก็อาหารไทยอื่นๆ ที่เขาไม่เคยลอง เราอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ทุกคนชอบอาหารที่ผมทำ ตอนนี้พ่อกับแม่เชื่อแล้วว่าผมทำงานในร้านอาหาร” เขากล่าวพลางหัวเราะ

แม้จะทำงานหนัก แต่เมียว มิน อู ก็รู้สึกซาบซึ้งที่เจ้านายให้โอกาสเขาได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะคนทำอาหาร ขณะที่ทางครอบครัวก็ไม่รู้สึกผิดหวังกับทางเดินที่เขาเลือกอีกต่อไป

“พอรู้ว่าได้เลื่อนตำแหน่ง ผมก็โทรไปบอกที่บ้าน พ่อกับแม่ที่ดีใจมาก แต่ก็เสียใจที่เราไม่ได้อยู่ด้วยกัน ถ้าผมเก็บเงินได้เยอะๆ เมื่อไร ผมจะกลับไปเปิดร้านอาหารของผมเองที่พม่า ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาไกลขนาดนี้ เราก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นยังไง แต่จะทำให้ดีที่สุด ผมอยากจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ” เขาทิ้งท้าย

 

 


Related Content