“เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกไปแขวนคอ” เป็นสำนวนไทยที่ใช้อธิบายสถานการณ์ของบุคคลหนึ่งๆ ที่ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งๆ ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์อันใดเลย หรือต้องมารับเคราะห์ความผิดที่ไม่ได้ก่อ ซึ่งสำนวนไทยดังกล่าวนั้น น่าจะอธิบายชีวิตของอดีตผู้ก้าวพลาดอย่าง สุวิมล สุขอุดมโชคชัย หรือ เดียร์ ได้ดีที่สุด
เหยื่อจากความผิดพลาด
ย้อนไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว สุวิมลทำหน้าที่เป็นครูปฐมวัยที่โรงเรียนประถมเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง เมื่อพนักงานบัญชีลาออก เธอได้รับการร้องขอจากผู้บริหารให้ทำหน้าครูควบคู่กับพนักงานบัญชี โดยต้องรับผิดชอบในการเซ็นรับรองและนำส่งเอกสารสำคัญบางอย่าง แต่ด้วยความไว้ใจและขาดความรู้ ทำให้เธอตกเป็นเหยื่อของการทุจริต
เหตุการณ์ความไม่ชอบมาพากลเริ่มแดงขึ้นปลายปี 2559 สุวิมลถูกตรวจสอบพบว่าเอกสารที่เธอเซ็นไปนั้นเกี่ยวข้องกับการทุจริต เธอถูกกล่าวโทษในข้อหาลักทรัพย์ การต่อสู่ทางคดีดำเนินมาเรื่อยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เธอถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 48 ปี แต่ด้วยสภาวะจำใจสารภาพ กอปรกับเธอไม่เคยต้องโทษมาก่อน ศาลจึงลดโทษจำคุกเหลือ 20 ปี
ในระหว่างที่ถูกนำตัวไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง สุวิมลเพิ่งรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 2 ได้เพียง 2 เดือน
“ตอนนั้นกินข้าวไม่ได้ อาเจียนหนักมาก ไม่ได้คิดว่าตั้งครรภ์อยู่ แต่เมื่อส่งมาสถานพยาบาลด้านนอก เจ้าหน้าที่พยาบาลแจ้งว่า ‘ยินดีด้วยนะคะ’ คุณกำลังตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน” เธอกล่าว ก่อนจะเสริมว่า “มันเป็นความรู้สึกที่ไม่สามารถบรรยายออกมาได้”
ลูก: แรงผลักดันของแม่ลูกอ่อน
“ตอนเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ความรู้สึกแรกคือกลัวมาก เพราะเราไม่เคยทำความผิด ไม่เคยเข้าคุกเข้าตารางมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำก็ให้คำแนะนำและกำลังใจในการใช้ชีวิตและการปรับตัว และที่สำคัญ คือเราเจอเพื่อนดี ยิ่งพอมีลูก เราก็ต้องพยายามปรับตัวให้ได้เร็ว เพื่อไม่ให้ความไม่สบายทางใจส่งกระทบต่อการเจริญเติบโตของลูกในท้อง” สุวิมลเล่า
เวลาผ่านไป สุวิมลก็ให้กำเนิดลูกคนที่สองหลังกำแพง โดยในช่วง 2 เดือนแรกหลังคลอด สุวิมลยังคงให้นมลูกในพื้นที่บริเวณเรือนจำ แต่ด้วยความเป็นห่วงของทางแม่และน้องสาว จึงได้ขอทำเรื่องส่งตัวน้องออกมานอกเรือนจำเพื่อเลี้ยงดูต่อไป
“แน่นอนว่าลูกอยู่ด้วยก็ทำให้เรามีกำลังใจที่จะสู้ต่อ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็เห็นด้วยว่าเด็กแรกคลอดควรเติบโตในสภาวะแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่ในเรือนจำ” เธอกล่าว
แม้จะตระหนักดีถึงความจำเป็นทางการเจริญเติบโตที่ดีกว่าของเด็กเมื่ออยู่ภายนอกเรือนจำ แต่เมื่อสายใยระหว่างแม่ลูกถูกแยกจากกัน สุวิมลก็อดที่จะหลั่งน้ำตาไม่ได้ เธอร้องไห้อยู่หลายสัปดาห์ จึงสามารถทำใจและผ่านพ้นความเจ็บปวดนั้นไปได้
“ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดระบาดหนัก ทำให้เราไม่ได้พบเจอพ่อแม่พี่น้อง รวมถึงลูกด้วย จากปกติที่เรือนจำจะเปิดโอกาสให้นักโทษพบญาติได้เดือนละครั้ง ถามว่ากังวลไหม ยอมร้บว่าเป็นกังวลมาก แต่ก็ใช้วิธีการสื่อสารผ่านจดหมายแทน ใจดีสู้เสือ เพราะสุดท้ายชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป” สุวิมลกล่าว
ด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ประกอบกับความประพฤติดีในระดับนักโทษชั้นเยี่ยม ทำให้สุวิมลได้รับการลดโทษเหลือ 2 ปี 4 เดือนและออกมาสู่อิสรภาพอีกครั้ง
“เรารู้กำหนดออก 6 เดือนก่อนหน้า ตอนที่เจ้าหน้าที่เรียกไปเซ็นเอกสารตื่นเต้นมาก ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ เราทำหน้าที่เป็นครู กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ด้วย ทั้งครูและนักเรียนต่างก็ดีใจไปด้วยกัน” เธอเล่า
ทุนทักษะดิจิทัลพลิกชีวิตสู่อิสรภาพ
ในวันที่สุวิมลใกล้ถึงกำหนดปล่อยตัว แม้ใจหนึ่งมีความสุขที่ได้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง แต่ใจหนึ่งเธอก็กังวล โดยเธอให้เหตุผลว่า “การออกไปมีสังคมเหมือนเดิมคงยาก” สุวิมลจึงเลือกที่จะกลับมาสานต่อกิจการของคุณแม่ นั่นคือ ขนมตาล แม่จำรัส ที่มีสินค้าชูโรงเป็น ‘ขนมตาลสูตรคุณยายเกษร ต้นตำรับแท้จากราชบุรี’
ขณะนั้น เธอคิดว่าการสานต่อกิจการเป็นเรื่องง่าย แต่เมื่อออกมาทำจริง กลับไม่เหมือนที่คิดไว้
“การออกมาจากเรือนจำก็เหมือนการเริ่มชีวิตใหม่ ดังนั้นการมีทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้ก้าวพลาด โชคดีที่เดียร์เองยังมีครอบครัว คนรอบข้างให้การต้อนรับที่ดี และยังมีองค์กรอย่าง TIJ (สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย) เข้ามาช่วยเหลือ ได้รับทุนก้อนแรกพร้อมกับอุปกรณ์ทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างรถเข็น เต็นท์ และร่มมาจัดทำหน้าร้าน” สุวิมลเล่า
แม้สุวิมลจะมีทุนความรู้ด้านการทำขนมไทยจากคุณแม่ แต่ทุนนั้นก็ยังไม่พอ เพราะในยุคดิจิทัล สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ทุนทักษะทางดิจิทัล” โดยเธอบอกว่า หลังออกจากเรือนจำ เธอตั้งใจว่าจะไม่เล่นโซเชียลมีเดียเลย เพราะยังปรับตัวไม่ได้ จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับดีแทคเน็ตทำกิน
“ดีแทค เน็ตทำกินสอนเราตั้งแต่การสร้างเพจเฟซบุ๊ก การใส่รูปโปรไฟล์ ถ่ายรูปสินค้าอย่างไรให้น่าสนใจ การใส่รายละเอียดสินค้า พออบรมเสร็จก็เกิดเพจ ‘ขนมตาล แม่จำรัส’ ขึ้น ระหว่างนั้นเราก็ยังคงติดต่อโค้ชดีแทค เน็ตทำกินอยู่ตลอด ติดขัดตรงไหนทางโค้ชก็ยินดีให้คำปรึกษา” สุวิมลกล่าว
หลังจากที่สุวิมลได้เรียนรู้โลกดิจิทัลและเข้าร่วมโครงการ #ชิมเรียกยิ้ม ที่ดีแทคร่วมมือกับ TIJ และ Robinhood ทำให้เธอมีความมั่นใจมากขึ้นและค่อยๆ เปิดใจกับสังคมอื่นๆ โดยเฉพาะกับสังคมลูกค้าออนไลน์ที่ต่างหยิบยื่นน้ำใจไมตรีให้กันและกัน นอกจากน้ำใจที่ส่งมอบให้กันแล้ว ยังนำมาสู่ “รายได้” ลูกเพจให้การตอบรับอย่างดี ทำให้เธอมีทุนที่จะนำไปต่อยอด ขยายสู่สินค้าอื่นให้หลากหลายมากขึ้น
ทุกท่านสามารถอุดหนุน ขนมตาลแม่จำรัส ขนมตาลแท้ๆ ทำสดใหม่ทุกวัน พร้อมด้วยสินค้าใหม่ ขนมกล้วย เนื้อๆ เน้นๆ พร้อมมะพร้าวอ่อน ได้แล้ววันนี้ สาขา 1 หมู่บ้านอรุณทอง 3 สาขา 2 ตลาดเช้าวัดฉิมพลี หากใครสนใจสั่งออนไลน์ สามารถสั่งผ่านเดลิเวอรี่ได้ที่ Robinhood หรือติดต่อเฟซบุ๊กเพจขนมตาล แม่จำรัส