Releases

คุยกับ 2 นักออกแบบการเรียนรู้แห่ง FabCafe ผู้อยู่เบื้องหลังการปลดล็อคศักยภาพเยาวชนในศตวรรษที่ 21

25 กันยายน 2563


สิ่งที่ทำให้ค่าย YSLC 2.0 “แตกต่าง” จากค่ายบ่มเพาะเยาวชนอื่นๆ นอกเหนือไปจากเนื้อหาและวัตถุประสงค์ของค่ายที่เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางออนไลน์ อันเป็นทักษะที่เยาวชนจำเป็นต้องมีในศตวรรษที่ 21 และไม่มีสอนในโรงเรียนแล้ว ไฮไลท์สำคัญก็คือ วิธีการใน “การออกแบบการเรียนรู้” ที่แตกต่าง เพื่อปลดล็อกศักยภาพน้องๆ ค่าย

dtac blog พามาพูดคุยผู้อยู่เบื้องหลัง “การออกแบบ” ค่ายกับ อ.เจน – กัลยา โกวิทวิสิทธิ์ และ อ.เบล – สมรรถพล ตาณพันธุ์ สองผู้ร่วมก่อตั้งแห่ง FabCafe กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งคู่นิยามว่าเป็น “พื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ด้านการออกแบบและเทคโนโลยี”

“เราตั้งใจให้เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าค่าย YSLC 2.0 นั้นได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งทาง FabCafé ได้มีโอกาสออกแบบค่าย โดยร่วมกับดีแทคและพันธมิตร ตั้งแต่กระบวนการรับสมัครและคัดเลือก การจัดประเภทของเด็กค่าย จำนวนการรับ รูปแบบการเรียนรู้ การให้คำปรึกษา (mentorship) เป้าหมายและผลลัพธ์หลังจากจบค่ายไปแล้ว” อ.เจน อธิบาย

ถอดรหัสการเรียนรู้ผ่าน “การออกแบบ”

ในแง่ของรูปแบบการรับสมัคร จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ลักษณะแรกจะเรียกว่าเป็นกลุ่ม A เป็นการคัดเลือกจากการนำเสนอโครงการ ส่วนลักษะที่สอง น้องๆ จะต้องผ่านการเรียนคอร์สออนไลน์ที่ทางค่ายจัดไว้ให้ก่อน จากนั้นค่อยจับกลุ่มแล้วนำเสนอโครงการ ซึ่งเราเรียกว่ากลุ่ม B การออกแบบการรับสมัครและการคัดเลือกในรูปแบบนี้ ช่วยให้เกิด ความหลากหลายของผู้เข้าร่วม กระจายโอกาสให้แก่น้องๆ ในกลุ่มต่างๆ ทั้งในต่างจังหวัดและผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาทางเลือก ส่งผลต่อการกำหนดเป้าหมายของการร่วมกิจกรรม ทำให้น้องๆ หลุดจากกรอบคิดเดิมๆ ที่เคยเรียนรู้มา

ส่วนของโครงสร้างหลักสูตรนั้น แบ่งออกเป็น 3 ด่าน ด่านแรกเป็นเนื้อหาพื้นฐานที่ผู้เข้าค่ายทุกคนต้องเรียน ได้แก่ Online privacy and sexual abuse, Diversity respect to stop cyberbullying และ Anatomy of fake news ด่านที่ 2 จะเป็นการเรียนรู้เนื้อหาและทักษะเฉพาะทางอย่าง AI chatbot, Data visualization, Storytelling และ Board game ส่วนด่านสุดท้ายเป็นเรียนเรื่อง Social impact assessment เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การวัดผลกระทบของโครงการที่น้องๆ จะนำเสนอ

“ตั้งแต่แรกเริ่มของการนำเสนอโครงการ ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจ แต่พอน้องๆ ได้เรียนหลักสูตรออนไลน์ที่ค่ายจัดเตรียมไว้ให้ ทำให้น้องๆ รู้ว่า โลกนี้ยังมีวิธีการแก้ไขปัญหาอีกมาก เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ซึงช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ที่มากกว่าในหลักสูตรปกติ” อ.เจน กล่าว

เดิมที รูปแบบของค่ายจะคล้ายกับในปีแรก กล่าวคือ ระยะเวลาเข้าค่าย 3 วัน โดยวันแรกจะเป็นการทัศนศึกษา วันต่อมาเป็นการเวิร์คช้อป และวันสุดท้ายก็จะเป็นวันนำเสนอโครงการ แต่พอเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น ทำให้ทุกอย่างต้องเปลี่ยนสู่ออนไลน์ทั้งหมด

แม้ค่าย YSLC 2.0 จะเป็นในรูปแบบค่ายออนไลน์ แต่ก็มีน้อง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 20 ทีม โดยหลังจากนำเสนอโครงการแล้ว อ.เจนและ อ.เบล จะทำหน้าที่ในการเป็น “พี่เลี้ยง” แก่น้องๆ ทุกทีม โดยจะเข้ามาตรวจงานและสอบถามความคืบหน้าของโครงการทุกสัปดาห์ โดยวันพฤหัสบดีจะเป็นการคอมเม้นท์และให้ข้อเสนอแนะ ส่วนวันเสาร์จะเป็นการตรวจแบบ สอบถามความคืบหน้า

ปลดล็อกศักยภาพเยาวชนผ่านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

จากข้อมูลการรับสมัคร พบว่า น้องๆ ค่ายราว 60% เป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อีก 40% ที่เหลือเป็นน้องๆ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งลักษณะร่วมที่พบคือ การเป็น “นักล่ารางวัล” พ่อแม่ ผู้ปกครองให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้นอกโรงเรียน

“เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถมากโดยเฉพาะ Hard skills อะไรที่มีขั้นตอนการเรียนรู้ที่ชัดเจน พวกเขาจะสามารถทำได้ดี มี learning curve ที่เร็วมาก ไม่กลัวเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ค่ายนี้เข้ามาเสริมศักยภาพน้องๆ คือเรื่องของ Soft skills การทำงานร่วมกัน การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงตรรกะ ความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งโดยทั่วไปทักษะเหล่านี้ไม่สามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ค่ายนี้ให้ได้ หลายโปรเจ็คสามารถต่อยอดเป็นวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาตรีได้เลย” อ.เบล อธิบาย

นอกจากศักยภาพที่นักออกแบบทั้ง 2 คนเห็นในตัวเยาวชนไทยแล้ว พวกเขายังเห็น “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ของการศึกษาไทย นั่นคือ “ความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองและต่างจังหวัด น้องบางกลุ่มไม่มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการทำโปรเจ็ค แม้ว่ากลุ่มน้องๆ จะมี passion และความสามารถในการเรียนรู้ได้รวดเร็วกว่าน้องที่มาจาก กทม. ด้วยซ้ำไป

“ตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้ายของค่าย พวกเราในฐานะผู้ร่วมออกแบบการเรียนรู้และพี่เลี้ยงน้องๆ กล้าพูดได้ว่าน้องๆ พัฒนาโปรเจ็คเอง 100% หาข้อมูลเอง โค้ดดิ้งเอง จนเป็นโซลูชั่น มันแสดงให้เห็นว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกอินเทอร์เน็ตเป็นอีกเลเยอร์นึงของเด็กที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำอย่างมาก” เมนทอร์ของโครงการ กล่าว

จากนักออกแบบ “สิ่งก่อสร้าง” สู้นักออกแบบ “การเรียนรู้”

FabCafe Bangkok เป็น 1 ใน 11 สาขาของ FabCafe Global ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็น Digital Creative Hub หรือพื้นที่หรือแพลทฟอร์มที่ให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสเรื่องของการออกแบบและเทคโนโลยี โดย FabCafe เปิดที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นแห่งแรก จากนั้นจึงค่อยเปิดไปตามประเทศที่เป็น Creative economy ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไป อย่างที่ญี่ปุ่นจะเป็นในลักษณะการสปอนเซอร์พื้นที่ ที่สิงคโปร์เป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนที่ไทยใช้ลักษณะการดำเนินงานแบบเอกชน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน

นอกเหนือไปจากรูปแบบการดำเนินงานแล้ว FabCafe ของแต่ละประเทศจะมีความถนัด (core competency) ของตัวเองที่แตกต่างกันไป อย่างที่ FabCafe Taipei จะเด่นเรื่องของการพัฒนาเครื่องจักร ขณะที่ไทยจะเน้นเรื่อง “การศึกษา”

ทั้ง อ.เจน และ อ.เบล ต่างมีประสบการณ์การสอนในฐานะอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งที่นั่น ทำให้พวกเขาพบ “ข้อจำกัด” ในมหาวิทยาลัย นั่นคือ “ความหลากหลาย” ของผู้เรียน อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากระบบการคัดสรร แต่ในความเป็นจริงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพต้องมีปัจจัยด้านความหลากหลายร่วมด้วย

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก FabCafe คือ ศักยภาพของเด็กไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ขาดก็แต่วิธีการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่จะสอดรับกับเทรนด์ในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเด็กนั้น ได้มากกว่าอ่านในตำราเรียนเสียอีก ดังนั้น การออกแบบการเรียนรู้ในโครงสร้างการศึกษาของไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 นี้” ผู้ร่วมก่อตั้ง FabCafe Bangkok ประสานเสียงกล่าว


Related Content