Releases

อีริคสันตอกย้ำความเป็นผู้นำกว่า 1 ศตวรรษในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย พร้อมลุยต่อบทบาทใหม่อีกขั้นขององค์กร

11 กุมภาพันธ์ 2563


คุณนาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด เผยวิสัยทัศน์ว่า การร่วมเป็นพันธมิตรกับดีแทค จะเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศไทย


ในวันที่ 29 ตุลาคม ปี 2562 อีริคสันและดีแทคประกาศความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งอีริคสันจะก้าวมาดำเนินงานดูแลในส่วนปฏิบัติการด้านโครงข่ายของดีแทค  ในวันเดียวกันนั้น คุณนาดีน อัลเลน ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) ได้ให้ความมั่นใจกับทีมงานประสบการณ์ของดีแทคราว 400 คน ที่จะย้ายไปทำงานให้กับอีริคสันตามสัญญา การเปลี่ยนแปลงมักจะมาพร้อมความกดดันเสมอ แต่ในครั้งนี้ทุกคนกลับมั่นใจเมื่อได้ทราบเรื่องราวอีริคสันจากคุณนาดีนเองที่ว่าอีริคสันไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการแต่อย่างใด แต่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยมานานกว่า 100 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าสู่อนาคตนับสิบๆ ปีอีกด้วย


จากปฐมบทขับเคลื่อนด้วยช้าง สู่ยุคขับเคลื่อนดาต้า 5G


ดีแทคนั้นยืนหยัดอย่างมั่นคงมานานกว่า 30 ปี สำหรับอีริคสันนั้นหยั่งรากลึกในประวัติศาสตร์ไทยยาวนานนับไปจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติประเทศไทยหลังเสร็จสิ้นพระราชภารกิจในประเทศสวีเดน พระองค์ทรงมีพระประสงค์ให้อีริคสันวางเครือข่ายโทรศัพท์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ณ เวลานั้น การวางสายโทรศัพท์ยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ม้วนสายโทรศัพท์ยังมีขนาดใหญ่จนต้องพึ่งพาแรงของสัตว์ใหญ่เช่น ช้าง และช่างเทคนิคในสมัยนั้นก็ยังสวมหมวกซาฟารีแทนหมวกนิรภัยในปัจจุบัน ซึ่งย้อนกลับไปดูจะแตกต่างอย่างมากมายกับโลกปัจจุบันที่ก้าวล้ำไปกับเทคโนโลยีการสื่อสารล้ำสมัย



“คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าอีริคสันอยู่คู่ประเทศของพวกเขามานานกว่า 114  ปีแล้ว” คุณนาดีนเล่าถึงประวัติของอีริคสันอย่างภาคภูมิใจนี้ให้เราฟังขณะก้มลงมองถนนวิภาวดีรังสิต จากห้องประชุมบอร์ดของตึกอีริคสัน


“ราชวงศ์สวีเดนและราชวงศ์ไทยยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน อีริคสันเองเป็นผู้นำสายโทรศัพท์สายแรกมาวางรากฐานในประเทศไทย และเป็นผู้นำเทคโนโลยี 1G 2G และ 3G มาให้คนไทยได้รู้จัก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์วงการโทรคมนาคมไทยไปตลอดกาล”

ซึ่งในปัจจุบัน คนไทยได้ก้าวมาเป็นผู้ใช้งานโซเชียล มีเดียอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งการใช้งานเฟซบุ๊กหรือผู้ชม YouTube ที่มีจำนวนชั่วโมงในการรับชมต่อวันมากติดอันดับโลก และเพื่อให้ก้าวทันการใช้งานข้อมูลของคนไทยที่เพิ่มเกือบปีละสองเท่า อีริคสันและดีแทคจึงได้ทำการสร้างสถานีฐาน 4G เป็นหลายพันแห่งในปี 2562


 “ดิฉันภาคภูมิใจเป็นอย่างมากในสิ่งที่พวกเราได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา และที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นคือโครงการในอนาคตของพวกเรา” คุณนาดีนกล่าวต่อว่า “5G อยู่ใกล้เราแค่เอื้อม และมันจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งมี 5G เป็นรากฐาน

อีริคสันคือผู้นำ 5G ในระดับโลกอย่างแท้จริง จากการเปิดตัว 5G ทั้งในสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าแรกที่ทำการสาธิตเทคโนโลยี 5G ในไทยเมื่อปี 2560 อีกด้วย ที่พิเศษไปกว่านั้น เมื่อปลายปี 2562 อีริคสันได้ทำการจัดตั้ง แบบทดสอบ  5G  ที่ Never Stop Café ซึ่งเป็นคาเฟ่ในตึกดีแทคเฮ้าส์ โดยทดลองกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนอุปกรณ์สื่อสาร และได้ทดลองปล่อยสัญญาณไวไฟเชื่อมต่อด้วย 5G


“เพื่อให้เครือข่าย 5G เกิดขึ้นเป็นจริงได้ในประเทศไทย แน่นอนว่าเราต้องการคลื่นความถี่ แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่า จะใช้งานเทคโนโลยีอย่างไร?” คุณนาดีนให้ความเห็นว่า “เราต้องมีแผนที่ชัดเจนเพื่อลูกค้า ลองดูตัวอย่างในเกาหลีใต้ พวกเขาเพิ่มรูปแบบการใช้งานของลูกค้าให้หลากหลาย ด้วยการร่วมมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นเกมส์ VR และ AR นอกจากนี้ก็ยังมี fixed wireless access ซึ่งสิ่งนี้ดีแทคอาจจะนำมาประยุกต์ใช้งานเพื่อเพิ่มทางเลือกหรือทดแทนให้กับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแบบติดตั้งผ่านสายไฟเบอร์ หรือแบบพื้นฐาน รวมถึงการสร้างโซลูชั่นต่างๆ เพื่อองค์กร”


พลังของบุคลากร


ด้วยทีมงานมากประสบการณ์กว่า 24,000 คนในทีมวิจัยและพัฒนา อีริคสันมีความพร้อมที่จะก้าวข้ามความท้าทายของเทคโนโลยี 5G ทั้งในด้านการผลิตวัสดุอุปกรณ์และการฝึกฝนคนในองค์กรให้พร้อมรับมือระบบโครงข่ายที่ซับซ้อนมากขึ้น


“ถ้าเรามองจากมุมเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ 5G จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเราได้นำเข้าวัสดุอุปกรณ์ที่รองรับ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพมาตั้งแต่ปี 2558 แล้ว” คุณนาดีนเล่าให้เราฟัง “การดูแลจัดการคลื่นความถี่จะเป็นเรื่องง่าย หากเราได้สิทธิในคลื่นความถี่นั้นในเวลาและในราคาที่เหมาะสม”

และถ้าจะมองถึงพนักงาน การเป็นพันธมิตรกับดีแทค จะทำให้อีริคสันมีบุคลากรเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่กระนั้นคุณนาดีนก็มั่นใจว่านี่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ไร้รอยต่อเช่นเดียวกัน


“พวกเราตื่นเต้นและมีความสุขเหลือเกิน ที่จะได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานใหม่ทุกคน ตัวดิฉันเองก็มีประสบการณ์ในการบริหารพนักงานในสายงานบริการจัดการกว่า 1,000 คนในประเทศอังกฤษ ดิฉันเชื่อมั่นเสมอว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในองค์กรคือความเชื่อมั่นและความเคารพที่มีต่อกัน อีริคสันอ้าแขนต้อนรับเพื่อนพนักงานใหม่ทุกคน และรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อองค์กรค่ะ”


คุณนาดีนได้ให้ความเชื่อมั่นว่า สายสัมพันธ์ระหว่างอีริคสันและดีแทคจะแน่นแฟ้นที่สุดยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา “5G คือการเดินทางร่วมกันของพวกเราที่ต้องใช้ความเชื่อมั่นและการร่วมมือ ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ไปด้วยกัน ตอนนี้ดีแทคมีแต้มต่อที่ดีมาก เพราะมีความพร้อมในคลื่นความถี่ 2300 MHz และการที่ดีแทคสามารถสร้างสถานีฐาน 2300 MHz ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แสดงถึงความสามารถขององค์กรในการร่วมใจแสดงพลังต่าง ๆ คุณสมบัตินี้จะติดตัวดีแทคตลอดไป และจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับ 5G”


วัสดุอุปกรณ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญสิ่งเดียวในการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ โดยทีมดีแทคที่เข้าร่วมกับอีริคสันจะต้องทำงานแบบ “managed services” หรือการดูแลโครงข่ายของดีแทคในนามของอีริคสัน แต่อยู่ภายใต้แผนการณ์กลยุทธ์ของดีแทค การทำงานแบบ managed service จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และเพิ่มความสามารถของพนักงาน กระนั้นคุณนาดีนก็ยังเห็นว่าการที่พันธมิตรของดีแทคและอีริคสันประสบผลสำเร็จ เราต้องมองถึงปัจจัยที่จับต้องไม่ได้ด้วย



“ที่ผ่านมา การจ้างพนักงานภายนอก หรือ outsourced มองในมุมประสิทธิภาพของบริษัทเท่านั้น เราเองก็คงกังวลหากดีแทค จะมองการจ้างพนักงาน outsourced ในแง่นั้นเพียงมุมเดียว แต่ดีแทคและอีริคสันมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ที่ดี พวกเราต่างต้องการดำเนินธุรกิจโดยให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และใช้มาตรวัดประสิทธิภาพของงานที่สะท้อนประสบการณ์จริงของลูกค้าเท่านั้น”


เมื่อโครงข่ายสัญญานมีความซับซ้อนมากขึ้นทุก ๆ วัน ผู้ให้บริการโครงข่ายจึงจำเป็นต้องร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมระดับโลกที่มีนวัตกรรมพร้อมสรรพทั้ง AI หรือเครื่องจักรอัตโนมัติ การเข้ามาของ 5G จะมาพร้อมสิ่งใหม่ ๆ มากมายทั้ง การจัดสรรทรัพยากรเพื่อ 5G อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ และ use case อีกมากมาย ดีแทคต้องมั่นใจว่าจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยกันรับมือความท้าทายเหล่านั้น และมีเวลาในการพัฒนา 5G เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

 

 

 

 

 


Related Content