สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) จัดเป็นปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุกว่า “ครึ่งหนึ่ง” ของประชากรสูงอายุทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged society) แล้วในปี 2564 โดยมีการประมาณการณ์ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปนั้นคิดเป็นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุกว่า 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทย
เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์สังคมผู้สูงวัย ซึ่งหลายคนเปรียบว่าเป็น “คลื่นสึนามิลูกใหม่” dtacblog จึงชวนธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘YoungHappy (ยังแฮปปี้)’ กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาของผู้สูงวัย และพันธมิตรของดีแทค มาบอกเล่าถึงแรงจูงใจในการก่อตั้งยังแฮปปี้ ความท้าทายของสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย และการผนึกกำลังกับดีแทคและภาคส่วนต่างๆ เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
จุดเริ่มต้นกิจการเพื่อสังคม
ธนากรสำเร็จการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะลูกคนเดียวของครอบครัว เขามีความต้องการแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ให้สุขสบาย แต่หลังจากที่คุณพ่อของเขาเกษียณได้เป็นระยะเวลาเพียง 1 ปี เขาสังเกตเห็นว่าคุณพ่อเริ่มแก่ตัวลงและไม่มีความภูมิใจในตัวเอง เหตุผลนี้เอง บวกกับความสนใจเรื่องประเด็นทางสังคมที่มีอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ธนากรตัดสินใจก่อตั้งยังแฮปปี้ขึ้น
“ผมมีความสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เคยออกค่ายอาสา วันหนึ่งผมได้อ่านหนังสือของมูฮัมหมัด ยูนุส นายธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ชาวบังคลาเทศ และพบว่าเราสามารถแก้ไขปัญหาสังคมผ่านโมเดลที่เรียกว่ากิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ได้” ธนากรเล่า
ธนากรและผู้ร่วมก่อตั้ง (ณฏา ตันสวัสดิ์) ซึ่งต่อมาได้เพิ่มบทบาทคู่ชีวิต เริ่มต้นเส้นทางจากการเป็นจิตอาสาไปสอนผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์มือถือตามสถานที่ต่างๆ เช่น ศูนย์ราชการ และมูลนิธิบ้านอารีย์ เพื่อเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้น ปัจจุบัน ยังแฮปปี้นั้นมีทีมงานกว่า 30 ชีวิตคอยทำหน้าที่เป็น “พื้นที่” ให้ผู้สูงวัย ผ่านแพลตฟอร์มหลักอย่างแอปพลิเคชัน และช่องทางต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย โดยมีการจัดกิจกรรมให้ผู้สูงวัยได้เข้าร่วมอยู่ตลอด
“กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่ไม่มีพื้นที่ส่วนกลางเพียงพอเพื่อรองรับความต้องการของคนทุกวัย ผู้สูงวัยเหล่านี้จึงต้องหาพื้นที่ของตัวเอง เราเลยเห็นผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งไปรวมตัวกันตามศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าต่างๆ แต่จะดีกว่าไหมหากเรามีพื้นที่รองรับให้กับประชากรกลุ่มนี้” เขากล่าว
ทั้งนี้ จากสถิติของกรุงเทพมหานครพบว่า ผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งอาการป่วยใจนี้จะนำไปสู่การป่วยกายในที่สุด สองผู้ร่วมก่อตั้งจึงริเริ่มหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับผู้สูงวัย โดยมีเป้าหมายหลักคือต้องทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่างสนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ นี่เองคือค่านิยมหลักที่กิจการเพื่อสังคมแห่งนี้ยึดถือตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง
สังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนผ่านจากครอบครัวขยายสู่ครอบครัวเดี่ยว ทำให้อัตราการพึ่งพาตัวเองของแต่ละบุคคลเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สภาพเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้เอื้อต่อรูปแบบของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในแต่ละปีส่งผลให้บางครั้ง ลูกหลานรู้สึกว่าผู้สูงอายุในบ้านเป็น “ภาระ” ไปโดยปริยาย
“ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศไทยมีความซับซ้อนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ขณะที่ แนวโน้มผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตแก่ก่อนรวย โดยแรงงานกว่า 17 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้ได้” ธนากรกล่าว
ในมุมมองของธนากร หากผู้สูงอายุดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้แข็งแรง ก็จะสามารถช่วยยืดเวลาการเป็นผู้สูงอายุติดเตียงออกไปได้อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเฉลี่ยคนละ 15,000 บาท ต่อปี ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง รวมทั้งการสนับสนุนในด้านอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยที่แข็งแกร่งและยั่งยืน
“คนส่วนใหญ่มักมองว่าผู้สูงวัยเป็นประชากรที่แก่และทำอะไรไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่ยังแข็งแรง และมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ อีกมาก” เขาอธิบาย ก่อนจะเสริมว่า “ตลอดเส้นทางการทำงานของยังแฮปปี้ เราได้ใช้ดัชนีพฤฒิพลัง (Active Aging Index) ตามกรอบการทำงานขององค์การอนามัยโลกในการวัดและประเมินผล ซึ่งประกอบด้วยสุขภาพ การเข้าร่วมสังคม ความมั่นคงในชีวิต และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเรา มุ่งเน้นไปที่ 2 แกน คือการเข้าร่วมสังคม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
จากการวัดผลพบว่า สมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมกับยังแฮปปี้มากกว่า 6 เดือน มีดัชนีพฤฒิพลังเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 18 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม สมาชิกในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพนักงานเอกชนหรือข้าราชการเกษียณที่มีความมุ่งมั่นในการค้นหาจุดมุ่งหมายการดำเนินชีวิตและชอบเรียนรู้ ปัจจุบัน ธนากรและทีมงานกำลังเร่งทำงานเพื่อขยายภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น
ผนึกกำลังติดปีกทักษะดิจิทัลให้ผู้สูงวัย
ภารกิจของยังแฮปปี้นั้นสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของดีแทค ในการสร้างลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันจัดอบรมให้แก่ผู้สูงวัยบนเพจเฟซบุ๊ก ยังแฮปปี้ YoungHappy โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีผู้เชี่ยวชาญจากดีแทคไปแบ่งปันความรู้เรื่องการใช้งานสมาร์ทโฟน และล่าสุดได้ผนึกกำลังระหว่างหลายภาคส่วนคือ ดีแทค สำนักงานส่งเสริมเศรษกิจดิจิทัล (ดีป้า) มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และยังแฮปปี้ ในการเปิดตัวโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ เพื่อยกระดับทักษะดิจิทัลของผู้ประกอบการสูงวัยจำนวน 250 คน ใน 5 ภูมิภาค ให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้เตรียมตัวเกษียณและผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ลำพัง
“เราเคยทำงานกับผู้เล่นในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เราเข้าไปจับมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ดีแทคเข้าไปสอนผู้สูงวัยในคอมมูนิตี้ของเราในการใช้งานมือถือตั้งแต่การปูพื้นฐาน ซึ่งได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี และผู้สูงวัยหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอติดตามรายการของเราทุกสัปดาห์” ธนากรกล่าว
ภายใต้ภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ ยังแฮปปี้ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนดีแทคในการดูแลผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ นับตั้งแต่เรื่องระบบรับสมัคร การแจ้งผลการคัดเลือก การประสานงานเข้ากลุ่มไลน์เพื่อรับข้อมูลการอบรมและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีการคัดเลือกสถานที่การจัดอบรมให้เหมาะสมกับการเดินทาง และอาหารนั้นมีรสชาติถูกปากผู้สูงวัย ซึ่งเป็นเกร็ดเล็กน้อยที่ยังแฮปปี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
“เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ลดปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจที่เสื่อมถอยตามกาลเวลา ป้องกันโอกาสเสี่ยงในการเป็นผู้สูงวัยติดบ้านและติดเตียง เพื่อขยายช่วงเวลาของการเป็นผู้สูงวัยที่ยังคงแอคทีฟออกไปให้นานที่สุด ซึ่งการร่วมมือกับองค์กรอย่างดีแทคจะทำให้เราสามารถเข้าถึงประชากรสูงวัยในวงกว้างมากขึ้น” ธนากรกล่าว
นอกจากนี้ ยังแฮปปี้ยังร่วมเป็นพิธีกรดำเนินรายการกับทีมดีแทคเน็ตทำกิน เพื่อสร้างเสียงหัวเราะและความสนุกสนานให้ผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงดูแลการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลตลอดระยะเวลาการจัดอบรม และช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลและข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุควบคู่กับทีมดีแทค เน็ตทำกิน โดยมาตรวัดความสำเร็จของความร่วมมือในครั้งนี้ คือการทำให้ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต และการมีดัชนีพฤติพลังที่สูงขึ้น
“ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิต เราควรอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรสูงวัย ทั้งในด้านรายได้ การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ และสุขภาพกายใจ ถ้าคนในสังคมไม่ร่วมมือกัน ผมเชื่อว่าสถานการณ์สังคมผู้สูงวัยในอีก 3 ปีข้างหน้าจะน่าเป็นห่วง” ธนากรทิ้งท้าย