Releases

เสื้อนี้มีเรื่องเล่า! จับเข่าคุย “จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์” ผู้ปฏิวัติอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยสู่ความยั่งยืน

07 สิงหาคม 2563


รู้หรือไม่ว่า เสื้อยืด “ดีแทคทิ้งให้ดี” ที่คุณใส่อยู่นั้นผลิตมาจากขวดพลาสติกและเสื้อผ้าเก่า!

ในแต่ละปี ดีแทคสั่งผลิตเสื้อพรีเมี่ยม เพื่อกิจกรรมทางการตลาดปีละหลายพันตัว ซึ่งจากข้อมูลระบุว่าเสื้อ 1 ตัว ต้องใช้น้ำในการผลิตมากถึง 2,700 ลิตร ซึ่งเท่ากับปริมาณคนดื่มน้ำได้ถึง 2.5 ปี ซ้ำร้ายกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสัดส่วนถึง 10% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก นั่นทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากอุตสาหกรรมพลังงาน

การสร้างความตระหนักและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านความยั่งยืนของดีแทค  การคัดเลือกบริษัทคู่ค้าและผู้จัดหาสินค้าและบริการ (Business Partners and Suppliers) ประเด็นเรื่องนโยบายและศักยภาพในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาที่ดีแทคประเมินควบคู่ไปกับราคาและคุณภาพด้วย

สำหรับ “โครงการทิ้งให้ดี ทิ้งที่ดีแทค” ก็เช่นกัน ดีแทคคัดเลือกผู้จัดหาของพรีเมียมเพื่อตอบแทนลูกค้าและพนักงานดีแทคที่เข้าร่วมโครงการ โดยมองหาสิ่งของที่ให้คุณค่าในเชิงสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพดี และใช้ประโยชน์ได้จริง


หนึ่งในผู้จัดหาที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องนโยบายและแนวคิดการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ดีแทคเลือก คือ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND โรงงานปั่นด้ายรีไซเคิลแห่งแรกของประเทศไทย ผู้ให้บริการผลิตเสื้อยืดพรีเมี่ยมด้วยวัตถุดิบจากการรีไซเคิล 100%

วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการและทายาทรุ่นที่ 3 ของ SC GRAND เล่าให้ dtac blog ฟังว่า “เสื้อที่ดีแทคสั่งผลิตนั้นทำมาจากของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น เสื้อผ้าเก่านำมาคัดแยกสี เศษผ้าจากโรงงานตัดเสื้อผ้า เศษด้ายจากโรงงานทอผ้าและขวดพลาสติกเหลือใช้ เป็นเส้นใยรีไซเคิลโพลิเอสเตอร์ โดยการผลิตเสื้อใหม่ 1 ตัวเทียบเท่ากับการใช้เสื้อผ้าเก่า 4 ตัวและขวดพลาสติก 4 ขวดมารีไซเคิล ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เรานำมาคัดแยกสีและรีไซเคิลใหม่ 100% โดยไม่ผ่านกระบวนการย้อมผ้า ทำให้ลดการใช้ทรัพยากรน้ำราว 2,700 ลิตรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 3.9 กิโลคาร์บอนต่อการผลิตเสื้อ 1 ตัว”

 

ซึ่งที่ SC GRAND เป็นโรงปั่นด้ายแห่งแรกที่มีจุดเด่นในการนำของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอนำกลับมารีไซเคิลเป็นเส้นด้ายใหม่ โดยดำเนินการในลักษณะนี้มากว่า 50 ปี มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำเส้นด้ายรีไซเคิลที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรของเสียหรือของเหลือใช้มารีไซเคิลใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจที่ยั่งยืน สร้างผลกระทบที่ดีต่อโลก

“ทุกการผลิตที่ SC GRAND จะมีการวัดผลว่าในแต่ละเดือน เราได้ช่วยลดการใช้น้ำ ช่วยลดการใช้พลาสติกบริสุทธิ์ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่” คุณวัธ กล่าว

ส่องแนวคิด Circular fashion

ปัจจุบัน วัตถุดิบที่นำมาทำเส้นด้ายมีหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝ้าย ไหม ขนสัตว์ น้ำมัน และขวดพลาสติก แต่หลักๆ ที่ทั่วโลกใช้กันคือ เส้นใยจากฝ้ายและพลาสติก (โพลิเอสเตอร์) ซึ่งเสื้อผ้าที่เราเลือกซื้อในห้างสรรพสินค้า 70-80% ทำมาจากฝ้ายและโพลิเอสเตอร์

แนวคิดดั้งเดิม การผลิตสิ่งทอจัดอยู่ในรูปแบบ Linear economy หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางเดียว เป็นการนำวัตถุดิบใหม่มาทำการผลิต ของเสียที่เกิดระหว่างการผลิตก็จะถูกนำไปทิ้งทำลาย แต่ปัจจุบัน แนวคิด Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้น โดยจะหมุนเวียนวัตถุดิบในระบบ นำของที่ใช้แล้วเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบเพื่อทำผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ และพยายามไม่นำวัตถุดิบใหม่เข้ามาในกระบวนการผลิต ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเรียกว่า “Circular fashion”

“ความท้าทายของ Circular fashion ในประเทศไทยคือ ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่ อีกทั้งความยุ่งยากด้านการแยกสี เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจุกจิก และการปั่นด้ายครั้งหนึ่งเทียบเท่ากับการทำเสื้ออย่างน้อย 10,000 ตัว เพราะฉะนั้น จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและโครงสร้างต้นทุนใหม่พอสมควร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความไม่เข้าใจของผู้เล่นที่อยู่ใน Value chain อุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ซึ่งต้องอาศัยการให้ความรู้แก่ตลาด อย่างไรก็ตาม เรื่อง Sustainable fashion เป็นเมกะเทรนด์ของโลก เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ซึ่งในอนาคตอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยก็จะต้องไปทางนั้น” คุณวัธ อธิบาย

แรงบันดาลใจจาก “การค้นหา”

“ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ แต่พอผมได้มีโอกาสได้ไปเดินงานแฟร์ในต่างประเทศ จะมีโซนหนึ่งที่เรียกว่า Smart Fashion เป็นโซนที่มีผู้เข้าร่วมงานคึกคักที่สุด ซึ่งโซนนี้จะมีการโชว์เคสนวัตกรรมสิ่งทอแห่งโลกอนาคต เช่น เส้นใยจากเปลือกส้ม เส้นใยจากกัญชง หรือเส้นใยต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจากการได้พูดคุยกับเหล่า Futurist ในวงการสิ่งทอของโลก สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนในโลกต่างเทคแอ็คชั่นกันแล้วทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผมได้เข้ามาบริหารงานเต็มตัว ค้นหาข้อมูล ทำให้รู้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหนักมาก และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้ามาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ตลอดจนการทำการตลาด เพื่อสร้างการยอมรับจากลูกค้า” คุณวัธ กล่าว

และสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ “กลไกตลาดโลก” ในอดีตประเทศไทยมีโรงงานปั่นด้ายประมาณร้อยกว่าโรง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 20-30 โรง เนื่องจากการแข่งขันของต้นทุนในตลาดโลกที่อินเดียมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ามาก

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตเสื้อผ้าของบิ๊กแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ต่างมีเป้าหมายในการผลิตเสื้อผ้าจากสิ่งทอที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Fabrics) ภายในปี 2025 ทำให้ “การปรับสู่ Circular fashion” เป็นทางเลือกของ SC GRAND แหล่งซัพพลายวัตถุดิบสำคัญในการตัดเย็บของภูมิภาค

“ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ผมตั้งเป้าให้ SC GRAND เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสิ่งทอที่ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainable textile provider) ของภูมิภาค เป็นฮับในการรีไซเคิล และเป็นผู้ผลิตผ้า made-to-order ต่อไปลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ผ้าจากที่ใดในการรีไซเคิล สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของผ้า พร้อมทั้งแสดงข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” คุณวัธ กล่าวทิ้งท้าย

อยากได้เสื้อต้องทำยังไง ?