INSKRU แพลทฟอร์มเพื่อคุณครูชาวไทย เปี่ยมด้วยสื่อการสอนที่สร้างสรรค์และเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการพัฒนาวงการศึกษาไทย และปี 2562 คือปีแห่งการเติบโตของพวกเขาอย่างแท้จริง
ชลิพา ดุลยากร สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาการออกแบบอุตสาหกรรม เธอชื่นชอบการสอนมาโดยตลอด แต่ก็รู้สึกว่าเนื้อหาการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นไม่ตอบโจทย์ความสนใจและจินตนาการของเด็กนัก ในปี 2560 เธอจึงก่อตั้ง INSKRU แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางให้ครูได้เข้าถึงสื่อการสอนที่น่าดึงดูดมากขึ้น และในปีนี้เอง INSKRUได้มีส่วนช่วยเปลี่ยนให้การเรียนการสอนในห้องเรียนของเด็กกว่า 1 ล้านคนสนุกยิ่งขึ้น
“เราอยากทำอะไรที่มันเห็นผลจริง ที่เราสามารถทำต่อไปได้หลังเรียนจบ เราอยากให้นักเรียนมีความสุขและแอคทีฟในห้องเรียน แต่มันเป็นงานยากสำหรับครู เราเล็งเห็นความต้องการพื้นที่เพื่อให้ครูสามารถแบ่งปันและต่อยอดไอเดียต่างๆ ร่วมกัน” เธอเล่า
INSKRU ทำหน้าที่เสมือนบล็อกย่อมๆ ให้ครูได้แบ่งปันเทคนิคการสอนและเรื่องราวความสำเร็จกับครูคนอื่นๆ รวมทั้งเป็นชุมชนออนไลน์ที่ช่วยจุดประกายให้ครูสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่สนุกและกระตุ้นการเรียนรู้ โดยไอเดียต่างๆ อาจเป็นได้ตั้งแต่การสอนหลักการใช้ Tense ภาษาอังกฤษผ่านลิปซิงค์แบทเทิล หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาททางสังคมต่างๆ จากมิวสิควิดีโอยอดนิยม แต่ชลิพากล่าวว่าไอเดียที่นำมาใช้ต้องมีความสอดคล้องและสามารถทำตามได้จริง
“ไอเดียดีๆ หลายครั้งมาจากครูในต่างจังหวัด ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย ถ้าเรายกกรณีศึกษาจากฟินแลนด์มา แล้วบอกให้ครูที่นี่ทำตาม แม้หลายคนจะมองว่ามันเป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เขาก็จะเชื่อว่ามันเป็นไปได้ยาก” เธอกล่าว
สมัยอยู่โรงเรียน ชลิพาเป็นเด็กเรียนดี แต่เธอก็เล็งเห็นด้วยว่าสิ่งที่โรงเรียนสอนนั้นขาดความน่าสนใจและไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้มากนัก จนเมื่อเธอได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอจึงค้นพบว่าการทำให้เรียนการสอนสนุกและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันนั้นเป็นไปได้
“สมัยเรียนมหาวิทยาลัย มีอาจารย์อยู่คนหนึ่ง เขาสอนวิชา Management Organization อาจารย์สอนเรื่องการวิเคราะห์การประเมินองค์กร (SWOT Analysis) แล้วให้เรากลับมาวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง หรือให้นำแนวคิดเรื่องการพัฒนากระบวนการผลิตในโรงงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มาประยุกต์ใช้ในการคำนวณเส้นทางเดินไปคณะ ตอนนั้นเองที่เราค้นพบว่าการเรียนหนังสือไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ” เธออธิบาย
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จุดประกายให้เธอลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง คือเมื่อเธอมีโอกาสเดินทางไปสอนที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ในชั้นเรียนดังกล่าว เธอให้นักเรียนออกแบบกระเป๋านักเรียนจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป “มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งทำกระเป๋าที่กางออกมาเป็นโต๊ะจากลังกระดาษ แล้วเขาอยู่แค่ชั้นประถมเท่านั้นเอง เรารู้สึกทึ่งมาก”
นี่เองทำให้ชลิพาตระหนักได้ว่านักเรียนไทยต้องได้รับการปลดปล่อยศักยภาพผ่านการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ และดูเหมือนว่าอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้จะอยู่ในมือของครูแต่ละคน ไม่ใช่ระบบการศึกษา
“ถ้าเราเปลี่ยนครูได้หนึ่งคน สิ่งนี้จะกระจายไปสู่เด็กอีกจำนวนมาก ตอนนี้มีครูห้าแสนคนในระบบ แล้วเราเข้าถึงครูได้แล้วประมาณหนึ่งแสนคน ถ้าครูทุกคนเข้าถึงแพลตฟอร์มอินสครูได้เมื่อไร จะมีนักเรียนอีกเป็นล้านคนที่ได้ประโยชน์จากตรงจุดนี้”
ในปี 2561 INSKRU สามารถเข้าสู่รอบสุดท้ายของโครงการดีแทคพลิกไทย แพลตฟอร์มที่เชิญชวนให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนำเสนอแนวคิดกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน ชลิพานำเงินทุนจำนวน 100,000 บาท ที่ได้รับจากโครงการ ไปจัดเวิร์กช็อปเรื่องการคิดเชิงสร้างสรรค์ให้กับครู
“เราได้ไอเดียใหม่ๆ เยอะมากจากเวิร์กช็อปดังกล่าว แล้วทำให้เราเห็นด้วยว่าเวิร์กช็อปนั้นเป็นที่ต้องการมาก เราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะดีแทคจริงๆ” เธอกล่าว
ในปีนี้ ชลิพาได้ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง เมื่อดีแทคชักชวนให้อินสครูเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในการรณรงค์เรื่อง Safe Internet for Kids เพื่อจัดการกับปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) ในโรงเรียน โดย INSKRU มีส่วนช่วยเผยแพร่สื่อการสอนของโครงการผ่านช่องทางของตน รวมทั้งจัดเวิร์กช็อปเพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปพัฒนาสื่อการสอนของโครงการ
“อินเทอร์เน็ตอาจนำไปสู่ภัยคุกคามก็จริง แต่มันก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจในห้องเรียน บ่อยครั้งครูต้องแชร์อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์ของตัวเอง เพราะสัญญาณไวไฟในโรงเรียนตามต่างจังหวัดหลายๆ ที่นั้นช้ามาก นอกจากนี้ การเรียนการสอนที่ครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันจะช่วยลดช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนได้เยอะมาก” เธอกล่าว
ปี 2562 นับเป็นครั้งแรกที่อินสครูสามารถเข้าถึงนักเรียนได้มากกว่า 1.66 ล้านคน รวมทั้งสามารถแบ่งปันไอเดียไปมากกว่า 782 ไอเดีย และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห้องเรียนจำนวน 6,919 ห้อง ชลิพายังคงตั้งมั่นจะต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน “ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆ แต่เราจะเดินหน้าทำต่อไปไม่หยุด” เธอทิ้งท้าย