สำหรับ Lunch at the top ในครั้งนี้ เรานัดกับ พี่ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีของดีแทค ซึ่งการนัดรับประทานข้าวกลางวันในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น Lunch at the Top จริงๆ เพราะเราอยู่กันที่ชั้น 26 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี ศูนย์บัญชาการด้านเน็ตเวิร์คของดีแทค
ที่นี่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารเลิศหรู ไม่ได้เสิร์ฟอาหารแปลกใหม่อันใด ที่นี่เสิร์ฟข้าวกล่องธรรมดา ๆ ซึ่งนำมาวางไว้โดยแม่บ้านของชั้น
ในช่วงเที่ยงของทุกวัน พี่ประเทศ จะใช้เวลาเพียงประมาณ 15 นาทีเท่านั้นในการเติมพลัง เพื่อเดินหน้าปฏิบัติภารกิจ ‘1 เสา 1 ชั่วโมง’ หลังจากเริ่มทำงานตั้งแต่ 8.30 น. และจากนั้นจะทำงานและประชุม อาจมีพักเบรคบ้างเล็กน้อย ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการประชุมทีมเน็ตเวิร์คในเวลา 19.00 น. ของทุกวัน แล้วจึงสะสางงานอีกเล็กน้อยก่อนเดินทางกลับบ้านในเวลา 21.00 น.
กว่า 13 ชั่วโมงของแต่ละวัน พี่ประเทศใช้เวลาที่ชั้น 26 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี โดยเปลี่ยนจากโต๊ะประชุมยาวคุ้นตาเป็นโซฟาให้น้องๆ ในทีมได้นั่งล้อมวงพูดคุยกันสบายๆ ไม่ต้องทำสไลด์การประชุม พูดคุยกันด้วยภาษาที่เป็นกันเอง เพื่อให้ได้เนื้อหาและข้อมูลจริง และที่สำคัญ น้องๆ ก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการทำสไลด์ ท้ายที่สุด ก็เพื่อการพัฒนาโครงข่ายให้ลูกค้าดีแทคสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น มีประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น
“การทดสอบประสิทธิภาพโครงข่ายตลอด 24 ชั่วโมงนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ตอนนี้เรามีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาปรับใช้ เพื่อช่วยให้ทีม Network Analytics ของเราสามารถดูแลความผิดปกติบางอย่าง ที่ระบบเดิม (Threshold Monitoring) ไม่สามารถตรวจสอบได้” พี่ประเทศกล่าว
ระบบ Threshold Monitoring เป็นระบบหลักที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพโครงข่าย โดยระบบจะตรวจจับและแจ้งความผิดปกติของโครงข่ายได้ ก็ต่อเมื่อความผิดปกตินั้นเข้าถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ทำให้บางครั้ง เมื่อประสิทธิภาพของโครงข่ายลดลงเล็กน้อย ระบบจะไม่แจ้งเตือน
ด้วยเหตุนี้ ดีแทคเชื่อว่าการวัดประสิทธิภาพโครงข่ายจึงต้อง “ฉลาด” มากกว่าการตั้งเกณฑ์ ซึ่งได้ทีม Network analytics เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาและพัฒนาโครงข่ายด้วย AI และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งพี่ประเทศกล่าวอย่างภูมิใจว่าเป็น “นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเกิดจากการเพิ่มพูนทักษะหรือการ upskill ของน้องๆ ในทีมเอง”
“ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่าย เราต้องทำงานกับตัวเลขข้อมูลมหาศาล แต่การมีดาต้าในมือนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น สิ่งสำคัญคือการมองและใช้ดาต้าให้เป็น สามารถเอาข้อมูลไปประมวลผลได้ สร้างประโยชน์ได้ อย่างในกรณีของการขยายเสาสัญญาณ เราจะเลือกขยายในพื้นที่ไหนดี เพื่อให้การลงทุนนั้นสมเหตุสมผล และสอดรับกับความต้องการของผู้ใช้งานในพื้นที่มากที่สุด” แม่ทัพใหญ่ด้านเทคโนโลยีของดีแทค อธิบาย
พี่ประเทศ กล่าวอีกว่า นับจากนี้ต่อไป เทคโนโลยีจะมีอายุสั้นลงๆ โลกจะหมุนไวขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีโมบายบรอดแบนด์ที่แต่ละเจนเนอเรชันมีอายุสั้นลง 3G มีอายุยาวกว่า 4G และ 5G จะยิ่งมีอายุสั้นลงไปอีก ดังเช่นรายงานข่าวที่ประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีเริ่มพัฒนาวิจัยเทคโนโลยี 6G กันแล้ว แม้ว่าเทคโนโลยี 5G จะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่เท่านั้นเอง
การที่เราจะอยู่รอดในยุคแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งเต็มไปด้วยความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีนั้น คือ การเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ตัวเอง หรือที่ในยุคนี้เรียกกันว่า ‘Upskilling’
“ผมมองว่าการศึกษาในระบบ (formal education) อาจลดบทบาทลงในอนาคต ยิ่งกับคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยี ยิ่งต้องค้นคว้าและเรียนรู้ ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน ทั้งเรื่องเน็ตเวิร์ค ไอที คลาวด์คอมพิวติ้ง มิดเดิลแวร์ เราจึงควรใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีการสื่อสารในการเรียนรู้ เข้าถึงคอมมูนิตี้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ทั่วโลก” พี่ประเทศกล่าว
แต่การพัฒนาขีดความสามารถและการไม่หยุดเรียนรู้นั้นเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เล่นโทรคมนาคมยังรักษาตำแหน่งในตลาดไว้ได้หรือไม่ ในช่วงระยะเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Apple, Google และ Facebook ค่อยๆ ก้าวเข้ามามีบทบาทเหนือผู้ให้บริการโทรคมนาคม กระนั้น ในมุมมองของพี่ประเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้นเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของระบบนิเวศดิจิทัล (digital ecosystem)
“ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องมองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศดิจิทัลนี้ นิยามบทบาทของตัวเองให้ชัด นั่นจะทำให้เราเห็นโมเดลในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ในอีก 10 ปีต่อจากนี้ เราต้องทำให้บริการของเรามีศักยภาพแข่งขันในตลาด มีราคาเอื้อมถึง และน่าพึงพอใจสำหรับลูกค้า หากเราทำได้ตามนี้ เราจะยังรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้” พี่ประเทศกล่าว
นอกจากบทบาทในฐานะผู้บริหารซึ่งต้องดูแลลูกน้องหลายร้อยคนแล้ว พี่ประเทศยังสวมบทบาทคุณพ่อลูกสองของน้องปัญและน้องปาวี ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนรู้ แม้เขาจะเป็นคนเทคโนโลยีและส่งเสริมให้ลูกๆ ได้เรียนรู้การโคดดิ้ง แต่พี่ประเทศก็สนับสนุนให้ลูกๆ ของเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ในโลกออฟไลน์ด้วย
“น้องปาวี ลูกผมคนที่สองติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์อยู่เหมือนกัน นี่ยิ่งทำให้ผมตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมต่อของโลกที่รวดเร็วในอัตราเร่ง และหนทางเดียวที่เราจะอยู่รอดบนโลกใบนี้ได้ก็คือ การเรียนรู้พัฒนาตัวเอง” พี่ประเทศทิ้งท้าย