Releases

ดีแทค เน็ตอาสา เพิ่มมูลค่าที่ดินบ้านปง-ห้วยลาน จ. เชียงใหม่ สู่หลักล้าน

29 สิงหาคม 2562


แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ยังไม่โด่งดังเท่าไหร่นัก แต่ชุมชนบ้านปง-ห้วยลานก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ บวกกับสินค้าจากภูมิปัญญาชุมชนที่มีเสน่ห์ จึงทำให้ดีแทค เน็ตอาสา จ. เชียงใหม่ เห็นช่องทางที่จะให้ความรู้ด้านดิจิทัลกับชาวบ้าน เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์และแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนบ้านปง-ห้วยลาน สามารถเป็นแหล่งรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

การให้ความรู้ด้านดิจิทัล คือก้าวที่สำคัญที่สุด

หลักการอันดับแรกในการพัฒนารายได้ให้กับชุมชนของดีแทค เน็ตอาสา คือการสำรวจเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ เช่นสินค้าและบริการต่างๆ จากนั้นทีมงานจึงเข้าไปสอนความรู้ด้านดิจิทัลให้ชาวบ้าน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาขายบนโลกออนไลน์ได้อย่างเป็นระบบ และเป็นการขยายช่องทางการทำมาหากินให้ชาวบ้าน สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือการเชื่อมั่นว่าแต่ละชุมชนนั้นมี “ของดี” พอที่จะนำมาขายได้ เพราะฉะนั้นดีแทค เน็ตอาสา จ.เชียงใหม่ จึงเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนบ้านปง-ห้วยลาน ชุมชนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่กลับเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว

ทีมงานดีแทค เน็ตอาสาเห็นว่า เอกลักษณ์ของชุมชนบ้านปง-ห้วยลานที่สร้างรายได้ได้ คือ การทำผ้าพื้นเมือง การผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้จากใบตาลและหวาย รวมไปถึงขนมพื้นเมืองที่มีชื่อแปลกหูอย่าง “ขนมขี้แมว”

ผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านปง-ห้วยลานมีคุณภาพเหมาะสมกับราคา แต่ปัญหาอยู่ตรงที่แทบทุกครัวเรือนไม่รู้จักการค้าขายบนโลกออนไลน์ จึงเป็นจุดที่ดีแทค เน็ตอาสาเข้าไปให้ความรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างเพจให้แต่ละผลิตภัณฑ์ และดูแลจนกว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์จะคุ้นเคยกับการค้าขายออนไลน์ ซึ่งผลจากความพยายามของดีแทค เน็ตอาสาก็ผลิดอกงดงาม เพราะในปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยของการค้าขายออนไลน์ของชาวบ้านมีมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน

โฮมสเตย์ เพชรเม็ดงามของชุมชน ดันราคาที่ดินสู่หลักล้าน

นอกจากจะเข้ามาพัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์แล้ว ดีแทค เน็ตอาสายังเห็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์ในชุมชนอีกด้วย จุดเด่นของชุมชนบ้านปง-ห้วยลานคือวิถีชีวิตและกิจกรรมในชุมชนที่อิงธรรมชาติและมีความเรียบง่าย ซึ่งตรงกับรสนิยมของนักท่องเที่ยวสายโฮมสเตย์ที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ และซึมซับกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวบ้าน

ทีมงานดีแทค เน็ตอาสาได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามความสมัครใจของผู้ประกอบการโฮมสเตย์ ก่อนที่จะเข้าไปให้ความรู้ด้านดิจิทัล โดยเริ่มจากการทำเพจเฟสบุ๊คเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ตามด้วยการทำนามบัตรดิจิทัลให้แต่ละโฮมสเตย์ โดยนามบัตรดังกล่าวจะประกอบไปด้วยช่องทางการติดต่อต่างๆ ทั้งไลน์ เฟสบุ๊ค อีเมลหรือ QR code

ช่องทางการติดต่อในโลกออนไลน์ทำให้คนภายนอกรู้จักโฮมสเตย์บ้านปง-ห้วยลานมากขึ้น และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือจนมีผู้เข้าพักมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ ไปถึงกลุ่มธุรกิจโฮมสเตย์จากพื้นที่อื่นที่เข้ามาดูงาน จนธุรกิจโฮมสเตย์ของบ้านปง ห้วยลานสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด และทำให้ราคาที่ดินในชุมชนพุ่งสูงไปแตะถึง 1.2 ล้านบาทต่อไร่ จากเดิมที่มีราคาเพียง 700,000 บาทต่อไร่เท่านั้น โดยราคาที่สูงขึ้นนี้เกิดจากการที่มีผู้สนใจเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อสร้างโฮมสเตย์

ฐานกิจกรรมที่ออกแบบโดยอิงวิถีชีวิตชาวบ้าน

ด้วยความที่กิจกรรมต่างๆในชุมชนบ้านปง ห้วยลานนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเน้นที่ความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ จึงเกิดเป็นไอเดียให้ดีแทค เน็ตอาสาเข้ามารวบรวมทุกกิจกรรมให้เป็นทัวร์ขนาดย่อมๆ สำหรับคณะทัวร์เพื่อให้ได้สัมผัสถึงมนต์เสน่ห์และความเป็นไปของชุมชนบ้านปง-ห้วยลานอย่างแท้จริง รวมถึงยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่สินค้าและบริการของชุมชนอย่างทั่วถึงอีกด้วย

ฐานกิจกรรมที่โดดเด่นนั้นประกอบไปด้วย ฐานกิจกรรมทอผ้า สวนผักเศรษฐกิจพอเพียง ฐานกิจกรรมปักผ้า ฐานกิจกรรมสานใบตาล ฐานกิจกรรมสานไม้ไผ่ และฐานกิจกรรมทำขนมขี้แมว ซึ่งการทำฐานแบบดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านอย่างสูง ไม่เฉพาะระหว่างกับชาวบ้านกับดีแทค เน็ตอาสาเท่านั้น แต่ระหว่างชาวบ้านด้วยกันเองอีกด้วย เพราะจะทำให้การทำทัวร์ออกมาลื่นไหลไม่ติดขัด

การทำฐานกิจกรรมในชุมชนถือเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้มาเยือนได้เห็นทุกภาคส่วนของชุมชนอย่างครบถ้วน ทำให้รายได้ไม่กระจุกอยู่ที่สินค้าเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง และยังทำให้ชาวบ้านในแต่ละครัวเรือนตื่นตัวในการสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าและบริการของตนเองอีกด้วย

ภารกิจที่ยังไม่จบของดีแทค เน็ตอาสา

แม้ชุมชนบ้านปง-ห้วยลานจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการใช้ความรู้ด้านดิจิตอล แต่นี่เป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น เป้าหมายต่อไปของดีแทค เน็ตอาสาคือการเฝ้าติดตามพัฒนาการด้านความรู้ดิจิตอลของชาวบ้าน เพราะความตั้งใจของดีแทค เน็ตอาสาทีมนี้คือการให้ชาวบ้านสานต่อความรู้ด้านดิจิตอลเพื่อนำมาสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป และเพื่อให้ชาวบ้านมีความคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิตอลไปตลอด ไม่ใช่เพียงแค่ระยะเวลาในการทำโครงการเท่านั้น


Related Content
View All