Releases

ดีแทค เน็ตอาสา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน ให้ชุมชนในโครงการ

09 สิงหาคม 2562


7 ปีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาสำหรับโครงการดีแทค เน็ตอาสา โครงการดีๆจากใจของดีแทคที่มุ่งหวังพัฒนาสังคม โดยเน้นที่การให้ความรู้ความเข้าใจคนท้องถิ่นในเรื่องอินเทอร์เน็ต เพื่อที่พวกเขาจะนำไปต่อยอดสร้างรายได้ และพัฒนายกระดับชุมชน

ในความตั้งใจแรก ทีมงานดีแทค เน็ตอาสาเริ่มต้นจากการให้ความรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต (digital literacy) เพราะถือว่าเป็นหัวใจหลักของโครงการ ที่เน้นการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล แต่หลังจากที่พวกเขาได้ลงไปสัมผัสการใช้ชีวิตและความต้องการของคนท้องถิ่นจริงๆ ทีมงานดีแทค เน็ตอาสาจึงได้ริเริ่มโครงการอื่นๆอีกมากมายเพื่อพัฒนาชีวิตคนในพื้นที่อย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์

การลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล คือแรงบันดาลใจของดีแทค เน็ตอาสา

ยุคนี้คือยุคแห่งดิจิทัลอย่างแท้จริง ทุกกิจกรรมของมนุษย์ รวมถึงการค้าขายต่างๆก็อยู่บนโลกออนไลน์กันเสียหมด แต่โชคร้ายที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ตามต่างจังหวัด ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และยังไม่เข้าใจวิธีการใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยผลการสำรวจจากกสทช. พบว่าประชากรไทยจำนวน  70 % นั้นสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นั่นหมายความว่ายังมีประชากรไทยอีกกว่า 30 % หรือราว 18.9 ล้านคน เข้าไม่ถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต นี่คือจุดที่ทำให้ดีแทค เน็ตอาสาเกิดแรงบันดาลใจ ในการเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจ โดยเริ่มจากการสอนระดับศูนย์ ให้ทุกคนในชุมชนรู้จักกับโซเชียล มีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายที่สำคัญในยุคปัจจุบัน จนไปถึงการแต่งรูป สร้างเรื่องราว วางแผนวิธีการขายผลิตภัณฑ์ในชุมชน จนเกิดเป็นรายได้

ดีแทค เน็ตอาสา สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนในโครงการกว่า  100 ล้านบาทต่อเดือน

ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของดีแทค เน็ตอาสา บวกกับความร่วมมือของชาวบ้าน จึงทำให้โครงการในหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน ธุรกิจรายย่อย (SMEs) และผู้ประกอบการอิสระ จากฝีมือดีแทค เน็ตอาสา กระจายตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ชุมชนเหล่านี้นอกจากจะพึ่งพาตัวเองได้แล้ว ยังทำให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ไปทั่วประเทศอีกด้วย โดยข้อมูลจากนายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายประสานงานภาครัฐ ระบุว่า วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจรายย่อย (SMEs) และผู้ประกอบการอิสระ โดยการสนับสนุนจากดีแทค เน็ตอาสา จำนวน 7,424 แห่ง สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 15,000 บาท ดังนั้นดีแทค เน็ตอาสาจึงสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนทั่วประเทศเดือนละกว่า 100 ล้านบาท สิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของดีแทค เน็ตอาสาเป็นอย่างมาก

ดีแทค เน็ตอาสา ขยายความร่วมมือกับภาครัฐ มุ่งปั้นอัตลักษณ์ชุมชนไทยให้เป็นเม็ดเงิน

ชุมชนในไทยนั้นมีสินค้า วัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองอยู่แล้ว แต่ในหลายที่ก็ยังไม่สามารถนำขึ้นตลาดออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม นี่จึงเป็นจุดที่ดีแทค เน็ตอาสาเข้ามาให้คำแนะนำจนหลายรายประสบความสำเร็จ ดังเช่นชาวบ้านทอผ้าที่ จ. บุรีรัมย์ ที่เคยทำรายได้ได้เพียงเดือนละ 30,000 บาท พอได้รับความรู้เรื่องการขายในเฟสบุ๊ค ก็สามารถทำรายได้เพิ่มเป็น 300,000 บาท หรือ 10 เท่าจากแต่ก่อน โดยในบางรายที่ธุรกิจเติบโตเป็นการผลิตขนาดกลางถึงใหญ่ ดีแทค เน็ตอาสาก็จะให้ความรู้เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาหีบห่อ และ การพัฒนาตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่ง ณ จุดนี้เองที่ล่าสุด เราก็ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนรัฐบาล คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เข้ามาให้ความรู้ชุมชนเหล่านี้ ในด้านการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน จากนั้นสิ่งที่ดีแทค เน็ตอาสาตอบแทนกลับไป คือการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีไปช่วยโครงการ CIV (Creative industry village) หรือ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ตัวเลขความสำเร็จของชุมชนในโครงการดีแทค เน็ตอาสา

จาก 7 ปีแห่งความพยายามของดีแทค เน็ตอาสา ก็ได้ก่อให้เกิดธุรกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กๆอย่างเช่น คนพิการขายล็อตเตอรี่ที่ระนอง ที่เมื่อได้รับความรู้ด้านการใช้ไลน์และเฟสบุ๊คจากดีแทคเน็ตอาสา ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างงดงาม เกษตรกรที่เคยมีค่าใช้จ่ายจากการซื้อปุ๋ย 200,000 บาทต่อปี พอได้รับความรู้เรื่องการใช้กูเกิลจากดีแทค เน็ตอาสา ก็เรียนรู้วิธีการทำปุ๋ยหมักจากอินเทอร์เน็ต จึงลดค่าใช้จ่ายลงเหลือปีละไม่ถึง 100,000 บาท

แม้จะเป็นเพียงโครงการเล็กๆ โครงการหนึ่ง แต่ปณิธานของพวกเขานั้นไม่เล็กตามเลย เพราะจุดมุ่งหมายสูงสุดของดีแทค เน็ตอาสาคือการช่วยขับเคลื่อนประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทย


Related Content