Releases

คุยกับหัวเรือใหญ่แห่งบ้าน HR ของดีแทค ผู้นำด้านความหลากหลายและผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายสวัสดิการเท่าเทียม

07 กรกฎาคม 2564


ในช่วงเดือน Pride Month ที่ผ่านมา ดีแทคได้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะบริษัทใน SET50 ที่ประกาศนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับคู่สมรสเพศเดียวกัน อีกทั้งมอบสิทธิการลาเพื่ออุปการะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับพนักงาน LGBTQ และการลาป่วยเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศอีกด้วย อันสะท้อนหลักการทำงานบนกรอบแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (responsible business) ภายใต้เสาหลัก Human and Employee Rights

ในโอกาสนี้ dtacblog ได้พูดคุยกับนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ หรือ ‘พี่กุ้ง’ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพื่อทำความเข้าใจถึงแรงกระตุ้นที่ทำให้หัวเรือใหญ่บ้าน HR ของดีแทครายนี้ ประกาศใช้นโยบายสวัสดิการเท่าเทียมเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เปิดกว้างให้พนักงานเป็นตัวเอง

“ความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (diversity & inclusion) นั้นคือหัวใจของวัฒนธรรมองค์กรของดีแทค เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้า มีคู่รักเพศเดียวกันถามเราว่าพวกเขาจะขอใช้สิทธิรับเงินค่าช่วยเหลือและวันลาสำหรับการแต่งงานได้หรือไม่ ซึ่งเราตอบตกลง แต่นโยบายของเราในตอนนั้นยังไม่มีการกล่าวเจาะจงถึงคู่สมรสเพศเดียวกัน เราได้ปรับปรุงนโยบายดังกล่าวเพื่อประกาศจุดยืนต่อพนักงาน LGBTQ ของเรา เรามองเห็นคุณ เราให้ความสำคัญกับคุณ และเราอยากให้คุณรู้สึกเหมือนบ้านที่นี่” เธอกล่าว

ในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล หน้าที่หลักของพี่กุ้งคือการดูแลให้บุคลากรจำนวนหลายพันคนนั้นมีความสุขและผลิตภาพในการทำงาน ในภาพรวม ดีแทคนั้นมีสัดส่วนของบุคลากรหญิงอยู่ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ และมีบุคลากรจากทุกช่วงวัย นับตั้งแต่เจน Z ไปจนถึงเจน X และเบบี้บูมเมอร์ด้วย (ประชากรที่เกิดในปี 2489 หรือก่อนหน้า) รวมทั้งพนักงานกลุ่ม LGBTQ

“ดีแทคนั้นเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย เรามีบุคลากรจากหลากช่วงอายุ เชื้อชาติ ความสามารถ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ แต่การยกระดับจากการเป็นองค์กรที่มีความหลากหลาย ไปสู่องค์กรที่ทุกคนสามารถส่วนร่วมได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องใช้อาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่องของเรา ครั้งหนึ่งพนักงานของเราที่เป็นเกย์บอกกับเราว่าเขาสามารถเป็นตัวเองได้ในทีมของเรา นั่นคือสิ่งที่เราอยากได้ยิน การสามารถพูดเรื่องนี้ออกมาได้นั้นสะท้อนกว่าเพียงจุดยืนเรื่องความหลากหลาย แต่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เราอยากให้พนักงานที่ดีแทคนั้นสามารถเป็นตัวเองได้ในที่ทำงาน” เธอกล่าว

พี่กุ้งอธิบายว่า หากองค์กรไม่ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจแล้ว พนักงานจะเลือกปิดบังตัวตนที่แท้จริง และพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับบุคคลอื่นเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อย่างไรก็ดี ในยามที่บรรยากาศทางเศรษฐกิจนั้นมุ่งเน้นในเรื่องความสร้างสรรค์ ทักษะในการเข้าใจลูกค้า และความคล่องตัวมากขึ้นเรื่อยๆ บรรยากาศการทำงานที่ไม่เปิดโอกาสให้พนักงานเป็นตัวเองนั้น อาจเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กรได้ในที่สุด

“ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถทำได้เสมอ ในธุรกิจของเรา พนักงานในบางสายงานอาจยังรู้สึกไม่สบายใจที่จะแสดงออกถึงรสนิยมทางเพศของตนอย่างเปิดเผย สภาพแวดล้อมของเรายังไม่เปิดกว้างนักและคนยังมีอคติโดยไม่รู้ตัวอีกมาก จึงเป็นเหตุผลที่เราเน้นย้ำถึงประเด็นดังกล่าวอยู่ตลอดในดีแทคธรรมาภิบาล นโยบายต่างๆ และการฝึกอบรมของเรา” เธอกล่าว

ความหลากหลายและผลการปฏิบัติงาน

ความเชื่อของพี่กุ้งที่ว่าองค์กรที่มีความหลากหลายนั้น มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จมากกว่า ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายฉบับ อาทิ Boston Consulting Group ซึ่งเผยว่าบริษัทที่มีทีมงานบริหารมีความหลากหลายนั้น มีรายได้สูงกว่ากว่า 19 เปอร์เซ็นต์อันเนื่องมาจากนวัตกรรม และในบทวิเคราะห์ในปี 2562 McKinsey & Company พบว่าองค์กรที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่ม Top Quartile (สัดส่วน 25 เปอร์เซ็นต์แรก) ในด้านความหลากหลายทางเพศของกลุ่มผู้บริหารนั้น มีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่ม Fourth Quartile (กลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สุดท้าย)

Dtac SD Report 2020_106

“ความหลากหลายนั้นช่วยสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับเรา ดีแทคจึงคาดหวังให้ผู้นำของเราสนับสนุนมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย สร้างบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีมุมมองที่หลากหลาย และเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับเรื่อง unconscious bias (การมีอคติโดยไม่รู้ตัว) เราฝึกอบรมพนักงานของเราในเรื่องเหล่านี้ และดูแลให้กระบวนการสรรหาบุคลากรของเรา และการประเมินผลงานนั้น มีความเท่าเทียมสำหรับบุคลากรทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีอายุ เพศ เชื้อชาติ หรือรสนิยมทางเพศเป็นอย่างไร” เธอกล่าว

ความหลากหลายนั้นยังเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถอีกด้วย จากผลการศึกษาของ Deloitte Millennial Survey ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 74 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า องค์กรของพวกเขานั้นมีความคิดริเริ่มและแนวคิดการทำงานที่สร้างสรรค์มากขึ้น ภายใต้วัฒนธรรมการทำงานที่ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม และผลการศึกษา Deloitte ยังเผยด้วยว่าบุคลากรกลุ่มมิลเลนเนียลนั้นสามารถทำงานในองค์กรที่มุ่งเน้นการบ่มเพาะความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม ได้ยาวนานกว่าในองค์กรทั่วไปเกือบสองเท่า

วัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน

“วัฒนธรรมของดีแทคนั้นตั้งอยู่บนหลักดีแทคธรรมาภิบาล และพฤติกรรมสี่ประการ คือ always explore (เรียนรู้อยู่เสมอ), create together (สร้างสรรค์ร่วมกัน), keep promises (รักษาสัญญา) และ be respectful (ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน) เราคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราและปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเป็นธรรม เราให้ความเคารพพนักงาน ลูกค้า พันธมิตร และสังคมที่เราเข้าไปทำธุรกิจ และเราจะไม่อดทนต่อการกลั่นแกล้ง การคุกคามทางเพศ การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ” พี่กุ้งกล่าว

นโยบายใหม่ของดีแทคนั้นจะเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับพลเมือง LGBTQ ในประเทศไทย โดยร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งนำเสนอโดยกระทรวงยุติธรรมนั้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการรอเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา

“เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถจุดประกายความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และอาจทำได้มากยิ่งขึ้นอีกในฐานะองค์กร เราเป็นองค์กรแห่งแรกในประเทศไทยที่ประกาศให้สิทธิลาคลอด 6 เดือนสำหรับพนักงานหญิง นับแต่นั้นมา เราเห็นบริษัทอื่นๆ เริ่มประกาศใช้นโยบายเดียวกันนี้ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเราสามารถจุดประกายมุมมองใหม่ๆ ให้กับสังคมได้ มันอาจไม่ได้ผลในทันที แต่เราไม่ควรมองข้ามผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว”

สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการเท่าเทียมของดีแทคสำหรับพนักงาน LGBTQ ได้ ที่นี่

สามารถศึกษาเกี่ยวกับ dtac’s Code of Conduct ได้ ที่นี่