Releases

แวะมารู้จักเสียงหวานใส ที่มาพร้อมกับอารมณ์ดีๆของพนักงานคอลเซ็นเตอร์มือถือ ผู้พิการทางสายตา ที่มีรายได้และโบนัส ที่หลายคนอิจฉา

29 เมษายน 2565


29 เมษายน 2565 – เนื่องในวันแรงงาน 2565 ดีแทคขอร่วมเชิดชูคนทำงานและสิทธิแรงงาน ผ่านเรื่องเล่าเบื้องหลังการให้บริการลูกค้า ที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้มและความหวังของทีมงานคอลเซ็นเตอร์ผู้พิการทางสายตา พร้อมเน้นย้ำวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายและการมีส่วนร่วม และโอกาสที่เท่าเทียม เพื่อดูแลให้คนทำงานทุกคนมีความสุข

 

“หลายๆ คนมักจะมองว่า การมองไม่เห็น ทำให้ไม่มีศักยภาพการทำงาน และมักจะปิดโอกาส หรือกดเงินเดือนเราในตำแหน่งงานเดียวกันกับคนปกติ เพียงมีโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอ และเครื่องมืออื่นๆ ที่ทำให้พวกเราทำงานจากคอมพิวเตอร์ได้ ผู้พิการทางสายตาก็ทำงานได้ไม่ต่างกัน  ลูกค้าจะไม่ทราบเลยว่าเรามองไม่เห็น” สร้อยเพชร จิตเปลื่อง พนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ หนึ่งใน 15 Blind Staff ที่ทำงานกับดีแทค และเป็นหนึ่งในห้าที่ทำงานมาตั้งแต่บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการมองเห็นได้เข้าทำงานตั้งแต่ปี 2558

 

ใครจะได้รู้บ้างว่าเสียงหวานๆ น่าฟังของเจ้าหน้าที่ที่โทรเข้ามาเพื่อแจ้งเตือนการเติมเงิน หรือคำแนะนำอันแคล่วคล่องแนะนำลูกค้าติดตั้งแอปเพื่อใช้งานได้สะดวกขึ้นนั้น ปลายสายเป็น”ผู้พิการทางสายตา”  ในประเทศไทยมีผู้พิการทางการเห็น 187,546 คน หรือคิดเป็น 8.92% ของผู้พิการทั้งหมดสองล้านคน และมีจำนวนไม่มากที่ได้รับการศึกษาและโอกาสได้ทำงานในบริษัท https://dep.go.th/images/uploads/files/Situation_dep64.pdf

 

 

สร้อยเพชร จิตเปลื่อง ได้สอบเข้ามาทำงานดีแทค และเข้าชิงจากผู้เข้าสอบกว่า 50 คนที่มาสมัครงาน จากการชักชวนของรุ่นพี่แนะนำให้มาลองดู หลังจากที่ใช้เวลาหางานมาตลอดหลายเดือนหลังจบรัฐศาสตร์มา

 

เธอเล่าว่า ช่วงแรกทำงานอินบาวน์รับสายเข้า ให้บริการข้อมูลกับลูกค้าที่โทรเข้ามาสอบถาม  จากนั้นได้รับมอบหมายให้ทำงานเอาท์บาวน์คอลล์ โทรออกหาลูกค้าที่อยู่สามจังหวัดชายแดนใต้ให้ลงทะเบียนซิม และงานปัจจุบันได้โทรออกเพื่อแจ้งลูกค้าพรีเพดที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยให้มาเติมเงินเสนอแพ็กเกจโปรโมชั่นเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม

 

การได้ทำงานหลากหลาย เพิ่มทักษะให้เรา  และเป็นความสนุกในการทำงาน จำได้ว่าครั้งแรกที่ทำงานตื่นเต้นมาก และได้มีโอกาสคุยกับลูกค้า  เธอใช้การสังเกต “น้ำเสียง”ของลูกค้าว่าคนใดควรไปต่อ และคนใดควรรีบหยุด  และมีความท้าทายที่ต้องทำยอด แต่ก็คิดว่าทุกงานต้องปรับตัว เป็นประสบการณ์ชีวิต  และเมื่อเปลี่ยนลักษณะงานต้องเร่งเรียนรู้มากกว่า เพื่อให้ทันคนปกติได้เร็วที่สุด ย้ำกับตัวเองเสมอว่า เราโชดดีมีโอกาสที่ดีมีงานทำ ที่ดีแทค เราได้เงินเดือนและสวัสดิการเท่าเทียมกับคนปกติ ได้เงินเดือนขึ้นและโบนัส และมีอินเซนทีฟทุกสามเดือน และในช่วงสองสามปีที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็ได้รับอนุญาตให้นำคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะของบริษัทกลับมาทำงานที่บ้านและ ล่าสุดปลายปี 2564 ก็เปลี่ยนเป็นโน้ตบุ๊คที่ทำให้เราพกพาง่ายไม่ต้องนั่งแท็กซี่

และการมีบรรยากาศการทำงานที่ดี ทีมเวิร์คที่ดี มีหัวหน้าที่สร้างแรงจูงใจที่กระตุ้นบอกว่า เราทำได้ ช่วยเปิดโอกาสและอัพสกิลให้กับการทำงานของเรา และประเมินการทำงานตัวเองตลอดเวลาว่า”ต้องทำให้ดี”

 

 

เธอ มองว่า ปัจจุบัน ผู้พิการการมองเห็น ยังไม่ได้รับโอกาสทำงานเท่าที่ควร และเมื่อเข้าทำงาน บางครั้งก็เป็นไปตามกฎระเบียบของหน่วยงาน เช่นราชการ  ก็จะได้รับมอบหมายงานที่จำกัดเช่นงานถอดเทปการประชุม

 

“แม้เราจะมองไม่เห็นแต่เรามีตัวช่วยที่ทำให้เราทำงานได้ไม่ต่างจากคนปกติ และเครื่องมือตัวช่วยเหล่านั้น มีให้โหลดมาใช้งานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ได้เป็นภาระกับองค์กร ปัจจุบันเรามีการรับงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น งานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์  การเทรนเอไอ ขอให้เราได้มีโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้น ได้แสดงศักยภาพ และเท่าที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ จะมีกลุ่มสื่อสารและธนาคารบางแห่งที่เปิดกว้างเท่านั้น ”

 

อำพล อินทรเปือย อีกหนึ่งในพนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ของดีแทคที่เริ่มงานมาตั้งแต่ปี 2558 เล่าว่า จากการเป็นลูกค้าแฮปปี้ดีพร้อมท์สมัยยังเป็นเด็ก เมื่อจบมาได้เข้ามาทำงานที่ดีแทคเป็นที่แรกและอยากทำงานที่นี่เป็นที่สุดท้าย ผมมีความสุขกับที่นี่มาก ดีแทคให้ความเท่าเทียมเงินเดือน สวัสดิการ โอกาสการทำงานที่ใม่เหลื่อมล้ำ วัฒนธรรมการทำงานที่ดี ให้สลับวันหยุดการทำงานสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ได้ทำงานที่อัพสกิลเพิ่ม เรียนรู้สิ่งใหม่ “ชื่นชมดีแทคที่ให้ลองก่อน ไม่ปิดกั้น แน่นอนว่าเมื่อเราได้ลองก็จะได้ผลงานใหม่ๆ จากผู้พิการ”

 

แม้ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี การขายโปรทำได้ยากขึ้นแต่ เราก็ดูพฤติกรรมการโทร ยอดเงินที่ใช้ และนำเสนอโปรที่คิดว่าเหมาะสมเฉพาะกับคนนั้นจริงๆ   การทำงานของเขาไม่ต่างจากพนักงานคนอื่น ที่อาจต้องรับฟังลูกค้าและต้องอดทนแก้ไขปัญหา เรานำ”ลูกค้าที่ใส่ใจฟังเรา เป็นกำลังใจและที่ตำหนิมาปรับปรุง” ปัจจุบันการทำงานคอลล์เซ็นเตอร์มีหุ่นยนต์เข้ามาเป็นผู้ช่วยมือขวา ช่วยสมัครแพ็กเกจให้ลูกค้าได้รวดเร็วและแม่นยำ อำพลมองว่า ทำให้เราทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นที่จะโทรออกไปรับฟังสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้มากขึ้น”

 

 

“การตาบอดไม่ใช่อุปสรรค อาจจะขอให้เปิดใจให้เราลองทำดูก่อน ไม่ใช่มองว่าตาบอดแล้วตีตราว่าทำไม่ได้ บอกว่าเราไม่มีนโยบายรับตั้งแต่แรก และองค์กรยังได้รับการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลอีกด้วย น่าเสียดายที่ปัจจุบันการเปิดโอกาสให้พวกเราในองค์กรจำนวนมาก ยังช้ามากๆ”

 

ธีรพงษ์ พิสิฐอมรชัย อีกหนึ่งใน Blind staff ที่ทำงานกับดีแทคในปี 2559 ซึ่งเขา”ใฝ่ฝัน” อยากทำงานบริษัท และได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ดีแทค ทดแทนตำแหน่งงานที่ว่างลง

 

ธีรพงษ์ ที่เคยเป็นคนสายตาปกติแต่ได้เหตุพลิกผันช่วงมัธยมปลาย ตามองไม่เห็น ปิดกั้นตัวเองกว่าเจ็ดปี และเปิดตัวเองปรับให้เข้ากับโลกข้างนอกอีกครั้งฝึกอาชีพศึกษาจนจบ มาเปิดร้านนวดแต่ต้องปิดลงจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ เมื่อดีแทคเปิดโอกาสจึงไม่รีรอเลยที่จะลอง  และได้มาทำงานกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ได้เรียนรู้สื่อสารกับลูกค้า เป็นที่ปรึกษาได้แก้ไขปัญหาการใช้งานให้กับลูกค้า

 

“การได้รับโอกาส ทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง มีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้น การทำงานที่ดีแทค ทำให้เรารู้ว่าเราทำอะไรได้เท่าคนอื่น และมีเสียงหัวเราะการทำงานร่วมกันเป็นทีมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

 

 

“เราได้ยินว่าหลายบริษัทหัวหน้างานไม่ปรับเงินเดือนให้คนตามองไม่เห็นแต่ให้คนมองเห็น การกดเงินเดือนที่ต่ำกว่าเกณฑ์  เราอยากเห็นการเปิดกว้างขององค์กรขนาดใหญ่มากขึ้น คนตาบอดมีสมาธิจดจ่อและเรียนรู้ได้เร็ว ขอเพียงเปิดใจ สอนและให้โอกาสได้ลองเฉกเช่นคนอื่นๆ”

 

ปัจจุบันดีแทคมีระบบเอไอเข้ามาเป็นตัวช่วย สำหรับคนตาบอดเรียกว่าโปรแกรมตาทิพย์ ที่อ่านออกเสียงให้เราไปใส่ข้อมูลความต้องการของลูกค้า แล้วช่วยค้นหาแพ็กเกจและความต้องการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกต้อง เราได้เรียนรู้อัพสกิลในการทำงานกับระบบใหม่ๆ ตลอดเวลา