Releases

ชวนรู้จัก 5 สตาร์ตอัพที่จะมาช่วยแก้ปัญหาสังคม จาก dtac accelerate batch 7

02 ตุลาคม 2562


ทราบผลกันไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำหรับ dtac accelerate batch 7 โครงการที่ช่วยพัฒนาสตาร์ตอัพไทย จากสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดในปีนี้ หลายรายมาพร้อมกับความตั้งใจที่อยากทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้นและแก้ปัญหาสังคมได้อย่างตรงจุด

และนี่คือ 5 สตาร์ตอัพที่อยากให้คุณลองจับตามอง เพราะเราเชื่อว่าทุกทีมมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาสังคมไทย และมากไปกว่านั้นอาจมีส่วนช่วยแก้ปัญหาที่คุณกำลังเจออยู่ในแต่ละวันด้วยเช่นกัน

Arincare สตาร์ตอัพที่รับมือกับปัญหายาแพงและความแออัดของผู้ป่วย

สตาร์ตอัพมาแรงที่คว้าทั้งรางวัล Best Performance Startup และ Popular Vote เริ่มต้นขึ้นด้วยความตั้งใจจะที่แก้ปัญหาด้านสาธารณสุขของคนไทยส่วนมากในเรื่องปัญหายาแพงในโรงพยาบาลเอกชน ความแออัดของโรงพยาบาล และเวลาที่ผู้ป่วยต้องหมดไปกับการรอรับยาแต่ละครั้ง

เพราะมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย Arincare จึงออกแบบระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านได้ แทนที่จะต้องเสียเวลารอรับยาในโรงพยาบาล ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้ป่วยบางรายใช้เวลามากถึง 154 นาทีเฉพาะในขั้นตอนนี้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาราคายาในโรงพยาบาลเอกชน ที่กรมการค้าภายในพบว่า ตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 300 – 8,000%

ระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์นี้จะเชื่อมถึงกันกับร้านขายยาใกล้บ้านผู้ป่วยที่อยู่ในเครือข่าย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยซื้อยาได้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ยังป้องกันปัญหาทำใบสั่งยาจากแพทย์หายหรือปัญหาการปลอมแปลงใบสั่งยาอีกด้วย ทางฝั่งแพทย์เองก็สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยได้ไปรับยาตามใบสั่งหรือไม่

ปัจจุบัน Arincare ได้เริ่มดำเนินการนำร่องแล้วในปราจีนบุรีและระยอง ซึ่งทีมงานของสตาร์ตอัพนี้เชื่อว่า ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของพวกเขาจะนำไปสู่การขยายผลไปทั่วประเทศได้ภายในปี 2562

FinGas สตาร์ตอัพสั่งแก๊สที่จะเติมพลังให้สตรีทฟู้ด

FinGas เป็นอีกหนึ่ง Best Performance Startup จาก batch 7 ที่ไอเดียเบื้องต้นเริ่มจากการทำหน้าที่เป็นมาร์เก็ตเพลสให้กับผู้ใช้บริการแก๊สหุงต้ม โดยอำนวยความสะดวกให้การสั่งแก๊สด้วยการสั่งผ่านแอปพลิเคชัน FinGas หรือ Line@ จากนั้นอัลกอริธึมก็จะทำหน้าที่หาร้านขายแก๊สที่ใกล้ที่สุด เพื่อส่งให้ถึงมือผู้สั่งตามจำนวนที่ต้องการและเวลาที่กำหนด

ตลาดแรกของ FinGas เริ่มทดลองกันไปแล้วที่เชียงใหม่ ซึ่งภายในระยะเวลา 1 เดือนที่ทดลองกันนั้น มียอดการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันประมาณ 5,700 ครั้ง และส่งแก๊สไปแล้วกว่า 2,500 ถัง ทำรายได้แตะหลักล้านบาทจาก transaction fee ที่คิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม FinGas ไม่ได้หยุดไอเดียไว้เพียงแค่นี้ แต่ต่อยอดขึ้นไปอีกก้าวด้วยมองเห็นว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งคือกลุ่มพ่อค้าแม่ขายอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักประสบปัญหาในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน จนทำให้ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 120 – 360 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนี้ FinGas จึงมองว่า ข้อมูลของผู้ใช้บริการที่มีการสั่งแก๊สอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำหน้าที่เป็นหลักฐานประกอบการยื่นเรื่องเพื่อขอสินเชื่อในระบบได้

เป้าหมายของ FinGas จึงไม่ใช่แค่เพียงแพลตฟอร์มในการสั่งแก๊ส แต่ FinGas ยังมองไกลไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในไทย โดยช่วยให้ผู้ที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงิน สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อกู้ยืมอย่างถูกกฎหมายได้ และลดปัญหาหนี้นอกระบบลงได้ในปลายทางของความตั้งใจ

System Stone สตาร์ตอัพที่พร้อมเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วของวิศวกรโรงงาน

ถ้าหัวใจของโรงงานอุตสาหกรรมคือเครื่องจักร System Stone ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เกิดขึ้นเพื่อบำรุงรักษาหัวใจของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่เจาะ pain point ของระบบโรงงานอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนสูงในการดูแลรักษาเครื่องจักร

การทำงานของ System Stone นั้นใช้ประโยชน์จาก IoT และ AI ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบนี้สามารถคาดการณ์ความเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและทำให้วิศวกรสามารถวางแผนเพื่อรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินไปกับการหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานานเมื่อเกิดปัญหากับเครื่องจักร

System Stone จึงเป็นเปรียบได้กับผู้ช่วยออนไลน์ของวิศวกรโรงงาน เพราะรวมเอาฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานมารวมไว้ในแอปพลิเคชัน จึงลดทั้งขั้นตอนการทำงาน ลดการใช้กระดาษ จากที่เคยใส่ข้อมูลในตารางแล้วปรินท์ออกมาตรวจสอบ และที่มากไปกว่านั้น คือ ช่วยลดชั่วโมงการทำงานของวิศวกรลง

เพื่อตอกย้ำจุดยืนในการมองไกลถึงเป้าหมายในการทำให้แอปพลิเคชันนี้มีส่วนขับเคลื่อนและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมไปสู่ยุค digital workforces ขณะเดียวกันก็ยังคงไม่ทิ้งจุดประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้ System Stone จึงใช้ระบบเปิดให้โรงงานขนาดเล็กใช้แอปพลิเคชันนี้ฟรีในเฟสแรกของการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานขนาดเล็กมากกว่า 300 แห่งที่ใช้แอปพลิเคชันในการบริหารจัดการ

Skooldio แอปพลิเคชันที่เชื่อมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ถ้าในอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยอีกราว 5 ล้านคนจะตกงาน จากการที่ภาคธุรกิจนำเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทางแก้ของเรื่องนี้คือะไร

Skooldio คือสตาร์ตอัพที่เข้ามาช่วยตอบคำถามนี้ด้วยการเปิดให้คนไทยได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อตลาดงานในปัจจุบันและทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้าน cloud computing ทักษะด้านการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ทักษะด้านการจัดการทีม ทักษะด้านการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ และทักษะด้านการออกแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน

โดย Skooldio เชื่อว่า การเรียนรู้สามารถเกิดได้ตลอดชีวิต ดังนั้น จึงขยายแนวคิดนี้มาใช้ในการสร้างบทเรียนผ่านทั้งห้องเรียนจริงและห้องเรียนออนไลน์ โดยมีผู้สอนที่เรียกได้ว่าเป็นตัวท็อปในด้านต่างๆ ให้มาถ่ายทอดความรู้ที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปัจจุบัน

Viabus สตาร์ตอัพที่ลดเวลารอในการเดินทางได้มากกว่า 5,200 ล้านนาที

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ทุกวันนี้คนกรุงเทพฯ ใช้เวลาในการเดินทางนานขึ้น 35 นาทีต่อเที่ยวการเดินทาง เมื่อคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสด้านเวลาแล้ว พบว่าเป็นมูลค่าสูงถึง 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาทต่อวัน

ตัวเลขนี้จะลดลงได้หากคนในเมืองหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น แต่ปัญหาที่ทำให้คนส่วนหนึ่งยังใช้รถส่วนตัวอยู่ทั้งที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เป็นเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่บ่อยครั้งก็ไม่สามารถกะเวลาเดินทางได้ Viabus จึงเลือกที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงระบบโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริหารเวลาในการเดินทางได้สะดวกขึ้น

Viabus ออกแบบขึ้นให้รองรับการเชื่อมต่อการเดินหลายระบบ ครอบคลุมการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ ทั้งรถเมล์ บีทีเอส เอ็มอาร์ที เรือโดยสาร รถสองแถว รถร่วม บขส. ไปจนถึงรถข้ามอำเภอและรถข้ามจังหวัดในเครือข่ายที่ครอบคลุมกว่า 20 จังหวัด ไม่ใช่แต่คนไทยเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากแอปพลิเคชันนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเองก็ยังสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้เพิ่มความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวได้

ปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Viabus คว้ารางวัล Best Performance Startup ซึ่งช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางในแต่ละวันนี้ มีผู้ใช้งานแล้วกว่า 1 ล้านคน ช่วยลดการเสียเวลาที่หมดไปกับการรอมากกว่า 5,200 ล้านนาที ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจแล้วสูงถึงกว่า 3,300 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

 

 


Related Content