24 พฤศจิกายน 2565 – กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และดีแทค ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อโอกาสในการทำอาชีพและทักษะการรับมือกับความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ สำหรับเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว ให้ได้เรียนรู้และส่งเสริมทัศนคติที่เป็นบวกต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่านทั้งแพลตฟอร์ม e-Learning และภาคปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ดีแทคเน็ตทำกินได้พัฒนาหลักสูตร “ดีแทค เน็ตทำกิน” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ทั้งนี้ เยาวชนที่ได้รับการอบรม จะสามารถใช้เทียบสมรรถนะการเรียนรู้ตามมาตรฐาน เพื่อศึกษาต่อยอดหรือประกอบอาชีพในอนาคต
คุ้มครองดูแลทุกมิติ ก่อนส่งกลับสู่สังคม
จากรายงานสถิติคดีประจำปีงบประมาณ 2565 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่ามี Gen Z ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ และเยาวชน หรือบุคคลที่มีอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ที่กระทำความผิดมีจำนวนมากถึง 12,202 คดีทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั่วประเทศ รวม 3,000 ราย
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า “กรมพินิจฯ จะให้การคุ้มครองดูแลทั้งเรื่องสภาพร่างกายและจิตใจ จัดการศึกษา เพิ่มทักษะต่างๆ โดยทีมนักวิชาชีพของกรมพินิจฯ เพื่อให้สามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับและฝึกฝนไปใช้ได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัว โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษา ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างทักษะความสามารถให้กับเด็กและเยาวชน”
ภายในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ มีรูปแบบการเรียน 3 รูปแบบให้เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน ประกอบด้วย การศึกษาในระบบเดิม, การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และการศึกษาทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสในการจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) รวมถึงจัดให้มีการศึกษาและเสริมทักษะด้านวิชาชีพ ทั้งนี้เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตร เพื่อนำไปใช้ในสังคมได้ตามปกติ
ซึ่งในปีการศึกษา พ.ศ. 2564 มีเยาวชนที่ได้รับการศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกหลักสูตร จำนวนทั้งสิ้น 1,557 คน และการฝึกอาชีพระยะสั้น จำนวนทั้งสิ้น 2,237 คน
หนึ่งในหลักปรัชญาในการทำงานที่กรมพินิจฯ ยึดถือ คือการให้โอกาสเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาดได้ปรับปรุงตนเอง ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ ทั้งนี้ หากไม่มีโอกาส กรมพินิจฯ ก็มีหน้าที่สร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชน การประสานความร่วมมือกับดีแทคในครั้งนี้ ก็เป็นหนึ่งในความพยายามในการสร้างโอกาสโดยให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกดิจิตอลและสื่อออนไลน์จากมืออาชีพ พร้อมทั้งเสริมประสบการณ์ให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันภัยจากสังคมออนไลน์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจนำเด็กและเยาวชนเหล่านี้ไปสู่การกระทำผิดซ้ำอีกในอนาคต
ลดช่องว่างดิจิทัล สร้างโอกาสทำมาหากิน
นายสตีเฟ่น เจมส์ แฮลวิก รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคกล่าวว่า “เยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย Digital natives หรือ Gen Z ซึ่งเกิดระหว่าง พ.ศ. 2540 – 2555คือ ช่วงอายุ 10 – 25ปี และเติบโตมากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว หน้าที่ของดีแทคและกรมพินิจฯ เพียงต้องทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อ และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางเทคโนโลยีดิจิทัลกับพวกเขา ให้พร้อมกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ด้วยความมุ่งหวังว่า พวกเขาจะไม่พลาดที่จะมีโอกาสในการใช้ชีวิตร่วมกับคนในช่วงวัยเดียวกันกับพวกเขา สถิติน่าสนใจระบุว่า คน Gen Z จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในไม่ช้า และจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าห้าเท่าเป็น 33 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสี่ของ GDP ทั่วโลก และสูงกว่ารายได้ของคนรุ่น Millennials ภายในปี 2574 การวัดดัชนีความสามารถทางดิจิทัล คะแนนความสามารถเฉลี่ยของคน Gen Z สูงกว่าคนรุ่น Millennials 2.5% และสูงกว่าคนรุ่น Gen X มากกว่า 8% โดยที่ Gen Z มีความตื่นตัวและมีความทุ่มเทพยายามมากกว่าผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่จะใช้สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยี มาแก้ปัญหาในประเด็นทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม หรือสิทธิมนุษยชน”
ภายใต้ความร่วมมือบันทึกความเข้าใจร่วมฉบับนี้ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และดีแทคจะร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันบนดิจิทัลและพัฒนาศักยภาพการขายสินค้าออนไลน์ สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นระยะเวลา 3 ปี ดังนี้
- สร้างทักษะให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผ่านแพลตฟอร์ม e-Learning ให้เข้าใจและส่งเสริมทัศนคติให้เปิดรับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีศักยภาพในการเปิดร้านค้าออนไลน์ การทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อต่อยอดสู่ผู้ประกอบการในอนาคต
- สร้างทักษะให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีทักษะสามารถแยกแยะและรับมือกับความเสี่ยงจากการใช้งานออนไลน์ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีความรับผิดชอบ รู้เท่าทัน และร่วมส่งเสริมวัฒนธรรมสังคมออนไลน์ที่สร้างสรรค์ได้ (Digital Resilience)
- ลงมือปฏิบัติจริงผ่านกิจกรรม Workshop และร่วมประกวดแข่งขันในแคมเปญที่จัดทำร่วมกันระหว่าง ดีแทค เน็ตทำกิน และศูนย์ฝึกอบรมทั้ง 20 แห่ง เพื่อให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั่วประเทศได้มีโอกาสฝึกฝน ลงมือทำตามสถานการณ์จริง
เยาวชนที่ผ่านหลักสูตรนี้ จะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก ดีแทคและ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตร “เน็ตทำกิน” ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนนำไปใช้เทียบสมรรถนะการเรียนรู้ตามมาตรฐาน เพื่อศึกษาต่อยอดหรือประกอบอาชีพเมื่อกลับสู่สังคมในอนาคต สำหรับในปีนี้ จะมีเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างน้อย 500 คน จะเข้ามาเรียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์