Releases

7 ข้อต้องรู้เพื่อความปลอดภัยจากอาชญากรไซเบอร์ในสถานการณ์โควิด-19

27 มีนาคม 2563


การก่อกวนจากแฮกเกอร์และกลลวงต่างๆ จากผู้ไม่หวังดีในโลกออนไลน์ ได้เพิ่มมากขึ้น จากการฉวยโอกาสที่ทุกคนกำลังตื่นกลัวกับการระบาดของโรคโควิด-19  อาทิ อาชญากรไซเบอร์ปลอมเป็นองค์การอนามัยโลก หรือ หน่วยงานที่รับผิดชอบจากภาครัฐเพื่อทำการฉ้อโกง และ Phishing (ฟิชชิ่ง) หรือเผยแพร่ข้อมูลปลอมในรูปแบบภัยอินเทอร์เน็ต

นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ระบุว่า “สิ่งสำคัญคือพวกเราต้องระวังภัยคุกคามจากอาชญากรไซเบอร์เป็นอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งกำลังกลายเป็นภัยทางอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยในต่างประเทศ เช่น สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (FBI) และสำนักงานสหภาพยุโรปเพื่อความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย (Europol) ได้ออกมาเตือนถึงภัยคุกคามของอาชญกรรมไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังตี่นตระหนกกับโรคโควิด-19 สำหรับในประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสกัดโรคโควิด-19 รวมทั้งกำหนดโทษในการเผยแพร่ข่าวปลอมผ่านทางออนไลน์ ซึ่งจะว่าไปแล้วคนที่จะป้องกันได้ดีที่สุดก็คือตัวของพวกเราเอง โดยเราจะต้องสังเกตและรู้จักรูปแบบหลอกลวงต่างๆ ของอาชญกรรมไซเบอร์”

7 ข้อต้องรู้ที่จะทำให้คุณปลอดภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์โดยผู้เชี่ยวชาญของดีแทค


  1. เชื่อถือข้อมูลจากแหล่งที่ตรวจสอบแล้วเท่านั้น – ติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชนที่เชื่อถือได้แทนที่จะเชื่อข่าวลือบนทวิตเตอร์ หรือที่ข้อมูลที่แชร์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ที่ดีแทคของเราได้สร้าง แหล่งข้อมูล สำหรับพนักงานดีแทคเพื่อค้นหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ ดังนั้น ตรวจสอบกับหน่วยงานของเราให้มั่นใจว่าใช้ช่องทางใดในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการ
  2. ตรวจสอบว่าผู้ส่งอีเมลคือบุคคลตามที่อ้างหรือไม่ – เมื่อได้รับอีเมลที่น่าสงสัยให้ตรวจสอบอีเมลแอดเดรสที่ถูกส่งมาว่าใช่อีเมลจากบุคคลหรือองค์กรตามที่ส่งมาหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้ติดต่อกลับหาผู้ที่ส่งมาผ่านทางช่องทางติดต่ออื่น เช่น โทรสอบถามบุคคลที่ส่งอีเมลมาถึงคุณ
  3. ตรวจสอบลิงก์ในอีเมลก่อนที่คุณจะคลิกลิงก์ทุกครั้ง – คุณสามารถทำได้โดยเลื่อนเมาส์ไปวางบนลิงก์เพื่อดูว่าลิงก์นั้นจะไปตามที่ระบุไว้จริงหรือไม่
  4. ระมัดระวังการรับข้อความที่ไม่รู้จักที่หลอกกระตุ้นให้คุณเปิดไฟล์ที่แนบมา – ต้องตรวจสอบทุกครั้งว่าอีเมลที่ถูกส่งมานั้นเป็นของผู้ที่รู้จักได้ส่งมาจริง หากคุณมีข้อสงสัยอย่าเปิดดู ดังที่กล่าวไว้ใน ข้อ 2 คุณสามารถติดต่อสอบถามกลับไปยังผู้ที่ส่งมาหาคุณได้ โดยติดต่อผ่านช่องทางอื่นที่ไม่ใช่อีเมล
  5. ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้ (username) รหัสผ่าน (passwords) ข้อมูลบัตรเครดิต และอื่น ๆ องค์กรที่ตั้งอย่างเป็นทางการจะไม่ขอข้อมูลดังกล่าวผ่านทางอีเมลและเว็บไซต์
  6. อย่าเชื่อข้อเสนอที่ดีเกินกว่าจะเป็นจริงได้ – ถ้าหากเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสินค้า บริการ หรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่วางจำหน่าย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกับบุคคลที่มาเสนอขายสินค้าและบริการเหล่านี้ทางออนไลน์ รวมทั้งห้ามโอนเงินล่วงหน้าให้คนที่คุณไม่รู้จัก
  7. ห้ามให้รายละเอียดบัตรเครดิตธนาคารหรือข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล – คุณต้องตั้งข้อสงสัยเป็นกรณีพิเศษถ้ามีบุคคลโทรมาสอบถามข้อมูลดังกล่าว ถึงแม้จะอ้างว่าติดต่อมาจากองค์กรที่มีชื่อเสียง

 

 

 


Related Content