ผ่ากลยุทธ์ Connect the Dots บนเส้นทางพัฒนา Climate Tech ของ ทรู ดิจิทัล เชื่อมโยงเทคโนโลยีและความร่วมมือ เพื่อโลกที่ยั่งยืน

21 สิงหาคม 2567


Climate change หนึ่งในปัญหาสภาพแวดล้อมที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น การละลายของภูเขาน้ำแข็ง และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนสุดขั้ว ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญของโลก ท่ามกลางความท้าทายในการนำเทคโนโลยีมาแก้ไขวิกฤต ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

“Climate Technology เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ ทรู ดิจิทัล มุ่งเน้น เพราะไม่เพียงเป็นเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ให้คนไทยหรือองค์กรเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของประเทศด้วย” เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวบนเวที CLIMATETECH STAGE ระหว่างการพูดคุยในหัวข้อ “Linking Digital to Real-World Uses in Climate Action” ในงาน Techsauce Global Summit 2024 และเสริมว่า “Climate Technology นั้น มีหลายองค์ประกอบของเทคโนโลยีข้างใน ไม่ว่าจะเป็น IoT, Data Platform, Blockchain และ AI เข้ามาอยู่รวมกัน ซึ่งเป็นการเริ่มการเดินทางที่เป็นส่วนสําคัญมากในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและสถานการณ์สภาพอากาศในปัจจุบัน”

Connect the Dots สร้าง Climate Technology

ไม่มีเทคโนโลยีใดที่ตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด การสร้าง Climate Technology จึงเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงและควบรวมทุกองค์ประกอบตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ end-to-end เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์และแหล่งข้อมูลต่างๆ ใช้แพลตฟอร์มในการจัดระเบียบและวิเคราะห์ข้อมูล หา insight นำมาปรับใช้และต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศและระดับโลก รวมถึงเหล่าสตาร์ทอัพ ที่จะช่วยกันเติมเต็มระบบนิเวศ เกื้อหนุน และปลดล็อกศักยภาพของ Climate Tech มุ่งสู่เป้าหมายของประเทศและเพื่อคนรุ่นต่อๆ ไป

จากการทรานสฟอร์มธุรกิจ สู่การปรับใช้ Climate Technology

หากจะเริ่มนับหนึ่งการปรับใช้ Climate Technology องค์กรจำเป็นต้องทรานสฟอร์มธุรกิจ โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ

 

Smart Technologies – เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้ ABC Model ประกอบด้วย

  • A – AI หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
  • B – Blockchain เช่น Smart Contractual ที่มีประโยชน์มากสำหรับองค์กรธุรกิจ
  • C – Cloud ให้ความยืดหยุ่น คล่องตัวสูง
  • D – Data ข้อมูลจากหลายแหล่ง ต้องมีการเก็บรวบรวมและจัดระเบียบ เพื่อพร้อมนำไปใช้งาน
  • E – Edge หรือ End-point devices รวมถึงอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ เพิ่มข้อมูลดิจิทัล

 

Data – ค้นหา insight จากการผสานข้อมูลทั้งจากภายในองค์กร ข้อมูลจากแหล่งภายนอก รวมถึงข้อมูลจากอุปกรณ์ หรือ Edge โดยมี AI เป็นเทคโนโลยีสำคัญในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

 

People – เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี และสร้างวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่

3 วิถีปรับใช้ Climate Tech เพื่อ optimize พลังงานเต็มรูปแบบ

  • Smart Energy Management ช่วยให้การใช้พลังงานในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ถูกต้องเหมาะสม และประหยัดที่สุด
  • Renewable Energy พลังงานใหม่ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในการบริหารจัดการพลังงานทั้งหมด
  • Smart Grid การบริหารจัดการแหล่งพลังงานดั้งเดิม

 

องค์กรที่ปรับใช้และผสานทั้ง 3 รูปแบบการบริหารจัดการด้านพลังงานเข้าด้วยกัน จะก่อให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ต่อยอด วางแผน และใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

ดึงจุดแข็ง Telco-Tech สร้างต้นแบบ Climate Tech ตอบโจทย์ Vertical Industry

ด้วยการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความพร้อมทั้งในด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถหลอมรวม เกิดเป็นข้อมูลมหาศาลที่สามารถนำไปเชื่อมโยงและสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย ภายใต้ความโปร่งใสและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

 

นอกจากนี้ เมื่อผสานข้อมูลมหาศาลเข้ากับความชำนาญของบุคลากรแล้ว Climate Technology ที่พัฒนาโดย ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป สามารถตอบสนองครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม (Vertical Industry) ไม่ว่าจะเป็น ภาคการเกษตร เช่น Precision Farming หรือ การเกษตรแบบแม่นยำ ภาคการค้าปลีกที่ต้องการการบริหารจัดการสินค้า อุปกรณ์ และพื้นที่ ตลอดจนการบริหารอาคาร เช่น ระบบปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นต่างๆ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ทรู ดิจิทัล ยังสามารถยกระดับโมเดลการบริหารจัดการพลังงาน พัฒนาต่อยอดเป็นโซลูชันที่สามารถปรับใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มุ่งสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน

Climate Technology แม้เป็นเพียงหนึ่งในเทคโนโลยีที่มุ่งสู่เป้าหมายหลักคือ Sustainability แต่ถือว่ามีความสำคัญในการช่วยให้องค์กรสามารถ optimize ทั้งในการลด Carbon emission และการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการดิจิทัล ทั้งเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ และความบันเทิงต่างๆ  ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์องค์กรทุกภาคส่วนในแต่ละอุตสาหกรรม ล้วนปูทางสู่เป้าหมายของทรู ดิจิทัล ในการยกระดับคุณภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน สร้างคุณค่าของธุรกิจอย่างยั่งยืน และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจากการมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง