Connect the Disconnected: จากคนชายขอบสู่เจ้าของโฮมสเตย์ ชีวิตเปลี่ยนผันของ “ชาวเกาะนกเภา” กับวันที่เข้าถึงสัญญาณทรู

17 ธันวาคม 2567


ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลกมาช้านาน โดยเฉพาะความงามของท้องทะเลที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มาสัมผัสด้วยตาตัวเอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยถึง 18%

มากไปกว่าความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ด้วยลักษณะพหุวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย ยังคงรอคอยให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังเช่น “เกาะนกเภา” หนึ่งในบริวารของเมืองร้อยเกาะหรือ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกมากมาย อย่างเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

ชีวิตติดเกาะ

เกาะนกเภา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี  โดยมีเรื่องเล่าว่า “ตานิลและยายแจ่ม” 2 สามีภรรยาชาวไทยเชื้อสายจีน ดั้นด้นพายเรือจากเกาะสมุยมาบุกเบิกที่เกาะไร้นามแห่งนี้ เมื่อช่วงปี พ.ศ.2475 จนได้รับเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินทำกิน ต่อมาจึงชักชวนวงศาคณาญาติมาอยู่มาตั้งรกราก จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 3 ชั่วอายุคน จนมีผู้อยู่อาศัยบนเกาะแตะหลักร้อยคนในปัจจุบัน

จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ห่างจากชายฝั่งท่าเรือดอนสักราว 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีด้วยเรือหางยาว นั่นทำให้การเดินทางขึ้นฝั่งหรือไปมาหาสู่ระหว่างเกาะเป็นเรื่องที่ “จำเป็น” เท่านั้น เพราะการเดินทางแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาทสำหรับค่าน้ำมัน

ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของชาวเกาะจึงค่อนข้างอยู่กันอย่างสันโดษ หรือในบางกรณีก็มีลักษณะ “ไกลปืนเที่ยง” ไปเลย ดังเช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้าที่ยังคงเข้าถึงอย่าง “จำกัด” มีเพียงเครื่องปั่นไฟของรัฐเป็นแหล่งพลังงาน โดยให้บริการเพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน เวลา 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่มของทุกวัน ขณะที่บริการการสื่อสารยังคงต้องพึ่งพิงสัญญาณจากสถานีฐานบริเวณใกล้เคียง ทำให้คุณภาพและโอกาสในการดำเนินชีวิตมีอยู่อย่างจำกัด

ทั้งนี้ ชาวบ้านบนเกาะนกเภายึดการทำประมงพื้นบ้านในการหาเลี้ยงชีพ ควบคู่กับการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งหากพูดถึงรายได้แล้ว จัดอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” สามารถหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกส่งหลานให้เข้าถึงการศึกษาจบปริญญาตรีได้  เช่นเดียวกับ เสธ – สุธร เจนสมุทร ชาวบ้านและเขยหนุ่มของเกาะนกเภาที่ย้ายเข้ามาสร้างครอบครัวตามภรรยาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

“ชาวบ้านแถวนี้ ทั้งฝั่งดอนสักและชาวเกาะ ส่วนมากทำประมงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันทั้งนั้น อย่างผมเองเรียกได้ว่าเติบโตมากับทะเล แต่ช่วงที่ย้ายมาแรกๆ หลังจากตกลงปลงใจสร้างครอบครัวกับภรรยาที่อาศัยที่เกาะนกเภาอยู่แล้ว ตอนนั้นก็ต้องปรับตัวหนักเหมือนกัน เพราะบนเกาะมันเงียบมาก ไม่มีสิ่งที่สร้างความบันเทิงเลย แต่ละวันก็ออกทะเลหากุ้ง หอย ปู ปลา แล้วก็ไปขายให้แม่ค้าที่ฝั่งดอนสัก” เสธ เล่าถึงวิถีชีวิตชาวเกาะ

จากประมงสู่ท่องเที่ยว

เสธใช้ชีวิตแบบหนุ่มชาวเลมาหลายสิบปี ออกทะเลหาปลาทุกวัน จนช่วงปี 2557 ญาติพี่น้องเขาที่อาศัยอยู่บนเกาะใกล้เคียงเหมาเรือมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และนั่น จึงทำให้คนภายนอกได้พบกับ “ความงามอันเป็นเอกลักษณ์” ของเกาะนกเภา ที่เกาะบริเวณใกล้เคียงแห่งอื่นไม่สามารถให้ได้ นั่นคือ ความเงียบสงบ และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิม ซึ่งหากโชคดีพอ จะสังเกตเห็นปลาโลมาสีชมพูและพะยูนว่ายน้ำหากินบริเวณรอบเกาะ

เมื่อเห็นดังนั้น เขาจึงได้เอ่ยกับเสธถึงศักยภาพของการนำจุดแข็งนี้มาต่อยอดสู่การท่องเที่ยวอย่างธุรกิจโฮมสเตย์ ซึ่งสอดคล้องกับความในใจของเสธในขณะนั้น ที่กำลังครุ่นคิดถึง “การกระจายความเสี่ยง” ของแหล่งรายได้ ที่เดิมทีขึ้นกับฟ้าฝนและคลื่นลมของทะเลเพียงอย่างเดียว

“ทั้งชีวิตผมเกิดและโตมากับทะเล เกือบตายก็เพราะทะเล ไม่เคยคิดเลยจะเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว” เสธ กล่าว หลังจากความรู้สึกเบื่อหน่ายก่อตัวขึ้น ปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ กอปรกับบทสนทนาในวันนั้น เสธใช้เวลาไตร่ตรองอยู่ 7 วัน ตัดสินใจนำเงินเก็บทั้งหมด 700,000 บาท เทหมดหน้าตักมาทำเป็นทุนตั้งต้นสำหรับธุรกิจ “โฮมสเตย์”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การประกอบธุรกิจโฮมสเตย์บนเกาะเช่นนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ทั้งการเดินทางที่เป็นอุปสรรค ไม่มีเรือขนส่งสาธารณะ การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องยากและลงทุนสูง ในขณะที่โซเชียลมีเดียยังอยู่ในระยะตั้งไข่ จนเพื่อนฝูงคนรู้จักต่างทักท้วงถึงความเป็นไปได้ที่อยู่ไกลลิบ แต่กระนั้น เสธก็ยังคงเดินหน้าก่อสร้างที่พักด้วยตัวเอง ทุ่มสรรพกำลังทั้งแรงกายและแรงใจจนเสร็จสิ้นเป็น “เกาะนกเภาโฮมสเตย์” ที่พร้อมต้อนรับแขกผู้มาเยือน พร้อมกันนั้น เสธได้ศึกษาเรียนรู้ทักษะการสร้างคอนเทนท์จากพี่สาวของภรรยาที่พอมีความรู้ด้านนี้บ้าง สร้างเพจเฟซบุ๊ก ลงคอนเทนท์แนะนำเกาะนกเภา ซี่งไม่นานนัก ก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ จำนวน 16 คนติดต่อเข้ามา  โดยพวกเขาให้ความสนใจจากความแปลกใหม่ของเกาะ

ค่าเสียโอกาสจากการตัดขาด

เสธรับหน้าที่ไกด์นำเที่ยว คนดูแลความเรียบร้อย กัปตันเรือ เรียกว่าทำเกือบทุกอย่างที่ทำได้ ส่วนภรรยารับบทแม่ครัวใหญ่ ประกอบอาหาร 4 มื้อ ให้แขกเหรื่อได้สัมผัสกับความสดของอาหารทะเลและความจัดจ้านของอาหารใต้ โดยมีไฮไลท์เป็น “หอยม่วง” ย่างเนย ที่หาทานได้ยาก จนสร้างความประทับใจและเปลี่ยนแผนอยู่ต่ออีก 1 คืน ทำให้เสธมีกำลังใจที่เดินหน้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวต่อไป ทั้งยังปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้มาเยือนเก็บเกี่ยวความประทับใจของเกาะนกเภากลับไปในความทรงจำ

“แพเปียก” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมนันทนาการที่เสธคิดค้นขึ้น เพื่อส่งมอบความบันเทิงและความสนุกสนานแก่นักท่องเที่ยว เป็นเครื่องเล่นที่ประดิษฐ์ขึ้นจากแผ่นโฟมแผ่นใหญ่หลากสีนับสิบแผ่น เชื่อมต่อกันและผูกเป็นมือจับด้วยเชือกไนล่อน จนมีลักษณะเป็นแพ เมื่อผู้เล่นประจำที่พร้อมสวมเสื้อชูชีพเป็นที่เรียบร้อย เรือยนต์จะทำการลากแพ พาผู้เล่นชมวิวทิวทัศน์ความงามของตามจุดไฮไลท์ต่างๆ ของเกาะโดยรอบ เช่น หาดล่องหน พื้นผิวหาดล้วนปกคลุมไปด้วยเปลือกหอยสีขาวทั้งสิ้น จุดชมพระอาทิตย์ตกดิน  ถ้ำนกนางแอ่นที่สามารถเทรคขึ้นไปได้ เป็นต้น

แม้กิจการโฮมสเตย์ของเสธจะไปได้ดี ชีวิตความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น ทว่า…ความห่างไกลเจริญ ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงบริการการสื่อสารอย่างสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างจำกัด ทำให้เกิด “ค่าเสียโอกาส” จำนวนมาก

“เมื่อก่อน ชาวเกาะนกเภามีสถานะเหมือนคนชายขอบ เวลาจะติดต่อสื่อสารกับคนข้างนอกที ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่หัวเกาะ เพราะตรงนั้นเป็นจุดเดียวที่สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์จากสถานีฐานที่ตั้่งอยู่บนเกาะอื่นได้ นั่นทำให้เวลาลูกค้าติดต่อมา เราก็ไม่ได้รับการแจ้งเตือน พอโทรกลับ เขาก็ไปจองที่อื่นแล้ว หรือเวลาที่ลูกค้าคิดว่าจะมาเที่ยวที่นี่ดีไหม พอรู้ว่าไม่มีสัญญาณมือถือ พวงเขาก็หนีกันหมด” เสธ กล่าว

ชีวิตดีๆ เพียงมีอินเทอร์เน็ต

วันหนึ่ง ขณะที่เสธทำหน้าที่คนเรือพานักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯ ไปออกทะเลบริเวณเกาะสมุย เขาก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปร่างแปลกตาออกมา ทำท่าทางประหนึ่งกำลังทดสอบสัญญาณ เสธจึงตัดสินใจถามเพื่อคลายความสงสัย ปรากฏเขาคือผู้บริหารระดับสูงของทรู เสธจึงบอกเล่าความยากลำบากจากการเข้าไม่ถึงบริการการสื่อสาร จากนั้น ทั้งสองจึงได้พูดคุยกันในรายละเอียด ซึ่งเสธยังแอบชั่งใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีเสาสัญญาณมือถือบนเกาะนกเภาที่มีประชากรอยู่อาศัยเพียง 100 คน

ผ่านไป 3 เดือน ทีมงานทรูนับสิบได้เดินทางมายังเกาะนกเภา เพื่อสำรวจเตรียมพื้นที่ติดตั้งสถานีฐาน ในเวลานั้น เสธเองก็ยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง จนได้รับการยืนยันจากทีมงานฯ ถึงการตั้งเสาสัญญาณมือถือเพื่อให้บริการแก่ชาวเกาะนกเภา ซึ่งทั้งเสธและชาวบ้านบนเกาะนกเภาต่างแสดงความดีใจกันยกใหญ่

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ทรูได้ให้บริการการสื่อสารแก่ชาวเกาะนกเภา บริการสาธารณูปโภคที่เปรียบเหมือน Lifeline ของคนในยุคดิจิทัล คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงที ขณะที่กิจการเกาะนกเภาโฮมสเตย์ของเสธก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีแฟนเพจนับหมื่นราย จนตารางจองการท่องเที่ยวเต็มจนถึงมีนาคมปีหน้า และจากการเดินทางด้วยเรื่องหางยาวในวันแรก ตอนนี้เสธสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาบริการให้ดีขึ้นด้วยสปีดโบ้ท 50 ที่นั่งได้แล้ว

“สัญญาณอินเทอร์เน็ตและมือถือ คือ หัวใจหลักของการดำเนินชีวิตในยุคนี้ จากเกาะที่ประหนึ่งเกาะร้าง วันนี้เกาะนกเภาได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สถานที่น่าท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ธานี” เสธ กล่าวอย่างภูมิใจ

สำหรับผู้ที่สนใจสัมผัสความเงียบสงบและความงามอันสดใหม่ของเกาะนกเภา รวมถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน อาหารทะเลสดๆ จากชาวเลบนเกาะ อากาศที่บริสุทธิ์ ที่มาพร้อมกับความคุ้มค่าคุ้มราคา 2 ใบเทามีทอนกับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน 2 วัน 1 คืน รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก เกาะนกเภาโฮมสเตย์