Releases

ล่องใต้ชิมน้ำพริกหอยนางรมรสเด็ดเงินล้านเจ้าแรกแห่งเมืองสุราษฎร์ฯ ที่ใช้ออนไลน์ต่อยอดและประคองแบรนด์ในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว

29 ตุลาคม 2564


ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ครัวของโลก’ มาช้านาน ด้วยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สมบูรณ์ อุดมด้วยวัตถุดิบที่หลากหลาย และหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาภาคเกษตรของไทย ก็คือผู้หญิงจำนวนกว่า 6.47 ล้านคนในวัยแรงงาน พวกเธอเป็นกำลังสำคัญทั้งในการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศ และการผลิตเป็นสินค้าส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ

ในปี 2513 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ริเริ่มส่งเสริมการรวมกลุ่มของสตรีในภาคเกษตรภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร’ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับฐานะของสังคมเกษตรให้ดีขึ้น เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีความรู้ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้เพิ่มแก่ครอบครัว โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ ท่ามกลางความท้าทายด้านเกษตรกรรมที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและราคาผลผลิตตกต่ำ โดยปัจจุบัน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนั้นมีจำนวนกว่า 20,000 กลุ่มทั่วประเทศ

dtacblog ได้ไปพูดคุยกับ เบญจนาฏ คงเจริญ แห่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ‘สนธิวัฒน์’ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ซึ่งหยิบจับวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปขายเป็นน้ำพริก และพัฒนาสู่แบรนด์ออนไลน์ จนกลายเป็นสินค้าโอท็อปยอดนิยมซึ่งทำรายได้สูงถึง 7 หลักต่อปี และช่วยสร้างอาชีพให้กับสตรีในชุมชน

หอยนางรมสร้างเอกลักษณ์

ที่ตำบลกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกต้นปาล์ม ยางพารา ผลไม้ประเภทเงาะ มังคุด ทุเรียน และพืชผักสวนครัว รวมทั้งประกอบอาชีพเลี้ยงฟาร์มหอยนางรม ซึ่งเป็นของขึ้นชื่อประจำจังหวัด แต่เนื่องด้วยปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาปาล์มและยางพารา และปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ฤดูร้อนร้อนยาว ฤดูฝนฝนตกหนัก ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อย ทำให้พืชที่ปลูกและหอยนางรมที่เลี้ยงไว้ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ทำให้วิมล คงเจริญ หญิงแกร่งแห่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ในนาม ‘สนธิวัฒน์’ นำทีมคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองถนัด นั่นคือ น้ำพริกเผา ผลิตแล้วส่งขาย โดยใส่ของเด็ดของเมืองร้อยเกาะอย่างหอยนางรมเข้าไปเป็นจุดขาย เกิดเป็น ‘น้ำพริกเผาหอยนางรม’ เจ้าแรก ด้วยน้ำพริกที่มีความหวานแบบธรรมชาติจากหอยนางรม จนขายดิบขายดีขึ้นชื่อเป็นสินค้าโอท็อปประจำตำบล แถมยังเป็นน้ำพริกรายแรกๆ ของสุราษฎร์ธานี ที่ผ่านมาตรฐาน อย. อีกด้วย

ในปี 2547 คุณแม่วิมลแก่ตัวลง เบญจนาฏ คงเจริญ ลูกสาวที่ทำงานในกรุงเทพฯ จึงได้เข้ามาดูแลกิจการต่อ โดยพัฒนาต่อยอดปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ และทำการตลาดน้ำพริกอย่างจริงจัง นับตั้งแต่การเก็บสถิติ การหาข้อมูล เพื่อทำผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

ต่อมาเมื่อเวลาไปออกบูธตามงานต่างๆ ได้รับฟีดแบ็คว่าบางคนไม่รับประทานน้ำพริกเผา จึงได้กลับมาพัฒนาสินค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลา น้ำพริกแกงไตปลา และอื่นๆ อีกหลายรสชาติ จนปัจจุบันมีน้ำพริกอยู่ประมาณ 10 ชนิด โดยทุกชนิดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มีส่วนผสมของหอยนางรม ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้น

“พี่เป็นคนชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนตามกระแสตลอดเวลา อย่างแฟนเพจและ LINE Official พี่ก็ทำตั้งแต่ยุคแรกๆ เลย เวลามีจัดอบรมอะไร พี่ก็จะเข้าร่วม หาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา” เบญจนาฏกล่าวถึงแนวคิดในการทำธุรกิจ

ออนไลน์ประคองยอด

ก่อนหน้านี้ ช่องทางจัดจำหน่ายหลักของน้ำพริกหอยนางรมของกลุ่มแม่บ้านสนธิวัฒน์คือร้านขายของสนามบินหาดใหญ่ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยที่นิยมซื้อน้ำพริกเป็นของฝาก รวมถึงวางจำหน่ายที่สาขาของแบรนด์ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในพื้นที่หาดใหญ่ และสุราษฎร์ธานี ช่วงที่การท่องเที่ยวเฟื่องฟู ทางกลุ่มฯ มียอดรายได้รวมจากการขายน้ำพริกเฉลี่ยราว 1 ล้านบาท ต่อปีเลยทีเดียว

“โควิด-19 กระทบสร้างผลกระทบต่อยอดขายมาก ช่องทางจำหน่ายหลักอย่างที่สนามบินหายไปเลย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีที่ได้มีการทำตลาดออนไลน์มาก่อนหน้านี้ ประกอบกับลูกค้าเก่าที่ติดใจในรสชาติยังคงสั่งซื้อสินค้ามาเรื่อยๆ ทำให้ยังคงประคองยอดขายอยู่ได้” เบญนาฏเล่า

แม้ทางกลุ่มฯ จะเห็นความสำคัญของการตลาดออนไลน์ตั้งแต่ก่อนหน้าอยู่แล้ว แต่เมื่อดีแทคเน็ตทำกินเปิดรับสมัคร ทุกคนก็ไม่รีรอที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งผลปรากฎว่าได้รับการคัดเลือกอบรม ทำให้เล็งเห็นถึงช่องว่างในการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบคอนเทนต์ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น การทำตลาดออนไลน์ ไปจนถึงเทคนิคการถ่ายรูปอาหารให้น่าดึงดูด ทำให้ทางกลุ่มฯ ยังสามารถรักษายอดขายไว้ แม้ในวันที่ไร้เงานักท่องเที่ยว สะท้อนให้เห็นว่าการเชื่อมต่อและเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นสามารถช่วยสร้างโอกาสให้เหล่าแม่บ้านเกษตรกรมากเพียงใด

“โครงการดีแทคเน็ตทำกิน ช่วยเปิดโลกออนไลน์ให้กับเรา น้องๆ โค้ชสอนดี เอาใจใส่ เรียกว่าความรู้จากศูนย์ก็เรียนจนเป็นได้” เธอทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม”