Releases

จับเข่าคุย หมออดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ส่องพัฒนาการเด็กยุคดิจิทัลกับภาวะบกพร่องและออทิสติกเทียม

21 กันยายน 2565


ท่ามกลางความเจริญทางเศรษฐกิจ แรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันอันดุเดือดในโลกการทำงาน และการเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้โซเชียลมีเดียและสื่อดิจิทัล ทำให้ครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดสะสม พ่อแม่ใช้เวลาคุณภาพกับลูกๆ น้อยลง ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว ซึ่งสถานการณ์ดูจะ “เลวร้าย” ลงเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทย

dtacblog ไปพูดคุยกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงวิกฤตครอบครัวในประเทศไทย แนวคิด Inclusive Child Care และภาวะออทิสติกเทียมในเด็กอันเป็นผลพวงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในยุคสมัยที่ภัยคุกคามหลักต่อเด็กและเยาวชนนั้นมาจากโลกออนไลน์ มากกว่าอุบัติเหตุอย่างการหกล้มหรือจมน้ำ สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายโครงการ dtac Safe Internet ที่ต้องการสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนในฐานะ “อนาคตของชาติ” ให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์

วิกฤตครอบครัว

จากงานวิจัยเด็กในชุมชนแออัดเกือบ 2,000 คนของสถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ความยากจนมีความสัมพันธ์ทางตรงกับภาวะครอบครัวบกพร่อง และการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม เด็กที่ต้องเติบโตภายในครอบครัวที่มีภาวะบกพร่องต่างๆและได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม จะได้รับความเครียดในระดับสูง ส่งผลให้มีพัฒนาการล่าช้าและเมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่วัยเรียนจะมีแนวโน้มไม่ประสบความสำเร็จด้านการเรียน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น มีแนวโน้มด้านความรุนแรง ก้าวร้าว เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนจะพบกับความล้มเหลวทั้งการประกอบอาชีพและครอบครัว และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป มักจะเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่ม Non-communicable diseases: NCDs เช่น โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก เบาหวาน ความดัน เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนความเครียดสูงตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก

“เด็กที่โตในครอบครัวบกพร่องและได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ ความละเลยทางกายใจและการทำร้ายทางร่างกาย ใจ และเพศ เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นและมีครอบครัวก็จะนำมาสู่ครอบครัวบกพร่องรุ่นใหม่ และเกิดเป็นวงจรอย่างไม่รู้จบสิ้น” รศ.นพ.อดิศักดิ์อธิบาย

เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้ทั้งในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและยากจน แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีฐานะยากจนที่อยู่ในสภาพครอบครัวบกพร่องทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ครอบครัวที่สูญเสีย พลัดพราก แตกแยก, ครอบครัวที่มีความรุนแรง, ครอบครัวที่ติด-จำหน่ายยาเสพติด, ครอบครัวที่ก่อคดีอาชญากรรมและติดคุก หรือครอบครัวที่มีคนที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์อยู่ด้วย

ประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์

ในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ของเด็ก แต่ด้วยสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกน้อยลง ขาดการฝึกทักษะในการเลี้ยงดูเด็ก จำนวนไม่น้อยเผชิญกับปัญหาครอบครัว เช่น การเปลี่ยนคู่ครอง การหย่าร้าง ทำให้เกิดการเลี้ยงดูอย่างละเลย ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อการพัฒนาทางอารมณ์และศักยภาพในการเติบโตของเด็ก” รศ.นพ.อดิศักดิ์อธิบาย

ทั้งนี้ เด็กที่เผชิญกับวิกฤตครอบครัวนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. เด็กกลุ่มสีดำ เป็นเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีปัญหาชัดเจน ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบช่วยเหลือของรัฐ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนเข้าไปดูแล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
  2. เด็กกลุ่มสีเทา เป็นเด็กที่อยู่ในการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เผชิญกับประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ (Adverse Childhood Experiences: ACE) ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการล่าช้า เฉื่อยชา ไม่ไว้วางใจใคร ก้าวร้าว และมีแนวโน้มสูงที่จะเติบโตเป็นประชากรที่เป็นปัญหาต่อสังคมในอนาคต นอกจากนี้ ยังพบฮอร์โมนความเครียดในระดับสูงในเด็กกลุ่มสีเทา อันได้แก่ คอร์ติซอล อะดรีนะลีน และสเตียรอยด์ อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเด็กปกติทั่วไป ทำให้บ่งชี้ความแตกต่างได้ยาก และที่สำคัญ เด็กเหล่านี้กำลังมีจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน

สมานใจปฐมวัยสาธิต

ในปี 2562 รศ.นพ.อดิศักดิ์ จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต” ซึ่งเป็นโครงการทดลองนำร่อง เพื่อเตรียมขยายผลตามศูนย์เด็กเล็กหรืออนุบาลทั่วประเทศ โดยร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โครงการดังกล่าวนำเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ซึ่งอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวของกรุงเทพมหานครหรือนครปฐม มาเรียนร่วมกับเด็กปกติ ภายใต้แนวคิด “Inclusive Child Care” ซึ่งเป็นกระบวนการดูแลเด็กปฐมวัยที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตร่วมกับเด็กปกติ เพื่อให้เด็กมีกระบวนการสร้างทักษะความคิด มีความสามารถในการควบคุมตนเอง สามารถเรียนรู้ และปรับตัวได้ ภายใต้ความรัก ความอบอุ่นของเด็กคนอื่นๆ คุณครู และผู้ดูแล

“เด็กที่มีบาดแผลในใจจะมีพฤติกรรม ‘หนี นิ่ง สู้’ กล่าวคือ ไม่เผชิญหน้ากับสังคม นิ่งเฉย หรือก้าวร้าว แสดงความรุนแรงออกมา ซึ่งเด็กเหล่านี้เมื่อถูกแยกตรวจร่างกาย และเข้าสู่บ้านพักเด็กและครอบครัวแล้ว ควรถูกส่งเข้ามาสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยเร็ว ยิ่งเร็วยิ่งดี” ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว อธิบาย

จากคำบอกเล่าของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ เมื่อเด็กทั้ง 2 กลุ่มอยู่ร่วมกัน พวกเขาจะสามารถจำแนกความแตกต่างของกันและกันได้ และมีความพยายามในการปรับตัวให้เหมือนกันผ่านกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก เช่น เพื่อนวิ่งเล่น เพื่อนวิ่งตาม ถือเป็นกระบวนการธรรมชาติบำบัด สร้างความผูกพันในระดับ ‘Bonding’ ทำให้เกิดการยอมรับและความอบอุ่น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบประสาท และการกระตุ้นพัฒนาการของเด็กให้กลับมามีศักยภาพ

ขณะเดียวกัน ครูจะสามารถพัฒนาตัวเองในการทำความเข้าใจกับเด็กที่มีบาดแผลทางใจ และไวต่อการดูแลเด็กสีเทามากขึ้น (Trauma informed Care) ขณะที่เด็กปกติก็ได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของสังคม และการแสดงออกถึงน้ำใจ

“วิกฤตโควิดยิ่งทำให้เห็นชัดว่าสังคมไม่สามารถทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังได้ สังคมต้องก้าวไปพร้อมกัน เพื่อความเป็น caring society” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าว

ภาวะออทิสติกเทียมในเด็ก

นอกจากผลกระทบทางใจและกายของเด็กอันเป็นผลมาจากความเจริญทางสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีแล้ว ปัจจุบัน กุมารแพทย์ไทยพบว่าปัญหาใหญ่อีกประการที่สังคมไทยกำลังเผชิญคือ “ภาวะออทิสติกเทียม” ในเด็ก

ภาวะออทิสติกเทียมนั้นหมายถึงภาวะที่เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เนื่องจากขาดการกระตุ้นด้านปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารแบบสองทาง (two-way communication) สาเหตุหลักมักเกิดจากการที่เด็กใช้เวลากับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นระยะเวลานาน โดยลักษณะอาการนั้นใกล้เคียงกับโรคออทิสติก แต่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติด้านพันธุกรรมหรือสมอง

“มีเคสหนึ่ง เด็กโตมากับแท็บเล็ต จนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งตอนแรกนึกว่าเป็นข้อดี แต่เมื่อเด็กพูดกลับไม่มีการสบตา ไม่รู้ว่าที่คนที่คุยด้วยกันนั้นคือมนุษย์ ทำให้เด็กไม่มีความรู้สึก ซึ่งอาการเช่นนี้เมื่อโตแล้วจะรักษาได้ยากมาก เนื่องจากสมองสร้างวงจรไปแล้ว” รศ.นพ.อดิศักดิ์เล่า

“การลงทุนในเด็กช่วง 6 ปีแรกมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เด็กเกิดความสมบูรณ์ทั้งกายและใจในระยะยาว พ่อแม่จึงควรมีการวางแผน ส่วนภาครัฐควรส่งเสริมและลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านกลไกต่างๆ เพราะการลงทุนด้านงบประมาณและเวลาไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ย่อมเกิดประสิทธิผลกว่าการปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วมาแก้ไข” เขาทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจ สามารถร่วมสนับสนุนโครงการศูนย์สมานใจปฐมวัยสาธิต มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ มูลนิธิรามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-3-05216-3 ธ.ไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 084 6770594